xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ประเดิมดอกเบี้ย 0.25 %-คลังผวาหนี้ค้างชำระเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตามคาด กนง.เด็ดเดี่ยวลงมติปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25 % ส่งผลดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.50 % เป็นการปรับขึ้นในรอบ 2 ปี แย้มมีโอกาสเห็นปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง มั่นใจภาคธุรกิจปรับตัวได้ ใช้เหตุผลหนักแน่นเงินเฟ้อยังสูง ชี้หากไม่ปรับขึ้นครั้งนี้ เงินเฟ้อพื้นฐานที่ใช้เป็นกรอบนโยบายการเงินหลุด 3.5 % แถมเศรษฐกิจแท้จริงหดตัว ด้านหมอเลี้ยบเกาะติด เผยเฝ้าระวังการชำระหนี้ของเอกชน-ประชาชนมีปัญหาหรือไม่

นางสาวดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 5 ของปี 2551 มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 1 วัน (ดอกเบี้ยนโยบาย) อีก 0.25% เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 3.50%ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนี้ได้ส่งผ่านมายังต้นทุนด้านราคาหลายด้าน ทำให้กระทบหลายส่วนในระบบเศรษฐกิจและกัดกร่อนต่อผู้บริโภคและผู้ลงทุนต่อไปในอนาคตได้

“เงินเฟ้อที่สูงขึ้นเริ่มส่งผ่านมายังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ถ้าหาก กนง.ไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้มีโอกาสหลุดจากกรอบเงินเฟ้อพื้นฐาน 0-3.5% ซึ่งใช้เป็นกรอบในการกำหนดนโยบายการเงิน ขณะเดียวกันก็อาจมีผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Growth) ต่ำลงได้ และเหตุผลที่ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบแรงๆ ถึง 0.5% เพราะมองว่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางอยู่”

ทั้งนี้ การขึ้นดอกเบี้ยเป็นการลดการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะเร่งตัวสูงอีก ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงมาเป็นเรื่องยาก และยิ่งกดดันให้การลงทุนและเศรษฐกิจขยายตัวไม่ดีเท่าที่ควร จากปัจจุบันที่การฟื้นตัวด้านอุปสงค์ในประเทศก็ช้ากว่าที่ กนง.คาดการณ์ไว้อยู่ ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวได้อยู่ แต่หากเงินเฟ้อยังสูงจะมีความเสี่ยงด้านราคาให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ในต่างประเทศก็มีความไม่แน่นอนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้สภาพคล่องในระบบยังมีจำนวนมาก ส่วนธนาคารพาณิชย์เองก็มีการปล่อยกู้อยู่ ทำให้ผู้ประกอบการยังสามารถหาแหล่งเงินกู้ได้ และจากการสำรวจภาคธุรกิจ พบว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มีผลให้เกิดต้นทุนจากดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 3% และหากเป็นรายย่อยส่งผลให้เพิ่มขึ้นเป็น 5-7% ส่วนภาระการผ่อนบ้านหรือต้นทุนดอกเบี้ยกู้ยืมที่ผู้ประกอบการจะมีภาระเพิ่มขึ้นนั้นจะไม่เกิดขึ้นในทันที เป็นเรื่องของอนาคต จึงสามารถยืดระยะเวลาในการจ่ายคืนเงินกู้ได้ ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงอยู่ที่ระดับ 6.6% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริง 1.65 %

“ทิศทางการดำเนินโยบายการเงินในช่วงต่อจากนี้ไปในการพิจารณาดอกเบี้ยขึ้นกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง หากเงินเฟ้อเร่งตัวสูงเราก็พร้อมจะใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดหรือปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นได้อีก”

นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ยังได้มีการปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดูไบใหม่ โดยกรณีทั่วไปอยู่ที่ระดับ 135 เหรียญต่อบาร์เรล จากรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อครั้งก่อนที่ 109 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่กรณีเลวร้ายอยู่ที่ 176 เหรียญต่อบาร์เรล ครั้งก่อน 125 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน จะมีการประเมินอีกครั้งในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ วันที่ 28 ก.ค.นี้

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ภาครัฐออกมาตรการ 6 ข้อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและช่วยเหลือประชาชนในช่วงค่าครองชีพสูงนั้น มองว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ระดับหนึ่ง ส่วนเม็ดเงินจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทก็เชื่อว่าจะไม่ทำให้เสียวินัยทางการคลัง เพราะช่วยในการขยายตัวของเศรษฐกิจ แม้จะช่วยด้านราคาให้แก่ประชากรบ้างกลุ่มธุรกิจก็ตาม แต่เป็นมาตรการเร่งด่วนของภาครัฐลดผลกระทบของประชาชนในช่วงค่าครองชีพสูงขึ้น

สำหรับกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการ ธปท.ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอาจจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น น.ส.ดวงมณี กล่าวว่า คงเป็นเรื่องยากที่ ธปท.จะเข้าไปบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะการทำธุรกิจเป็นเรื่องของการบริหารธุรกิจต่างๆ ขณะที่ธปท.มีหน้าที่ดูแลให้สถาบันการเงินใช้เงินของประชาชนในทางที่ถูกต้องและดูแลไม่ให้การดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ล้ม

"เลี้ยบ"จับตาชำระหนี้มีปัญหาหรือไม่

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.อีก 0.25% เป็นไปตามที่ตลาดการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ซึ่งรัฐบาลจะเฝ้าจับตามองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของประชาชนและผู้ประกอบการทุกภาคส่วนเพียงใด ซึ่งนโยบายการเงินที่นำมาใช้ในการชะลอความร้อนแรงของเงินเฟ้อนั้น จะต้องใช้เวลาติดตามผลอีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถตอบได้ว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด

“การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ครั้งนี้รัฐบาลจะดูผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นว่าจะส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบว่าจะปรับขึ้นตามและมีผลกระทบต่อผู้กู้อย่างไรบ้าง จะเฝ้าระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนมากนัก ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อคงไม่สามารถใช้นโยบายการเงินแก้ไขได้เพียงอย่างเดียวจะต้องใช้นโยบายการคลังควบคู่ตามไปด้วย ขณะนี้ต้องรอประเมินผลที่จะเกิดขึ้นอย่างรีบด่วนสรุป” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

"ชัยวัฒน์" สอน ธปท.เลิกเป้าเงินเฟ้อ

นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ควรยกเลิกนโยยายสกัดเงินเฟ้อด้วยวิธีการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่มีการกำหนดกรอบไว้ที่ 0-3.5% ควรจะปรับเปลี่ยนวิธีการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะขณะนี้สภาพคล่องในตลาดเงินลดลง ขณะที่ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ ซึ่งส่วนใหญ่ระดมทุนมาใช้เป็นทุนหมุนเวียน จึงไม่ควรปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะนี้เพราะจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์

"Inflation Targetting ใช้ไม่ได้ในสภาพการณ์อย่างนี้ ขึ้นดอกเบี้ยเท่าไรก็ช่วยไม่ได้ โดยหากต้องการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่อาศัยดอกเบี้ยในการดำรงชีพ และเพื่อให้เกิด capital flow ก็ยังพอรับได้ ไม่ใช่ขึ้นเพื่อไปสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่มีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น" นายชัยวัฒน์กล่าวในงานดินเนอร์ทอล์คหัวข้อ "จะอยู่อย่างไรใน พ.ศ. นี้" เมื่อคืนวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น