xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้ว่าฯ ธปท.” ท้า “ลูกกรอก” ปลด ยันไม่ใช่คนแรกและคนสุดท้ายที่ถูกกดดัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธาริษา” ลั่นปกป้องศักดิ์ศรี “แบงก์ชาติ” ประกาศท้า “ลูกกรอก” ถ้าทำผิดร้ายแรงก็ปลดได้ทันที พร้อมโต้ “ดร.โกร่ง” ยันการขึ้นดอกเบี้ยกระทบแค่บางกลุ่ม ไม่ฉุดภาวะเศรษฐกิจ โวยถูกแทงข้างหลัง “ไอ้โม่ง” ปล่อยข่าวลือ “อุ๋ย” นั่งหน้าห้อง ทำร้ายตนเองได้ แต่อย่าทำร้ายองค์กร

วันนี้ (23 ก.ค.) นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกระแสข่าวเช้านี้ เกี่ยวกับกรณีที่ ธปท.มีความเห็นขัดแย้งกับ นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ย โดยยืนยันว่า การมีความเห็นที่แตกต่างถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในสังคม แต่สิ่งที่สำคัญ ก็คือ จะต้องเป็นความเห็นที่มีข้อมูลที่ทันสมัย จึงจะทำให้เข้าใจได้ที่มองต่างกันนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร อย่างกรณีที่บอกว่าภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ย่ำแย่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจนั้น ข้อเท็จจริง คือ เป็นการพูดด้วยความรู้สึก เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไม่แย่ มีเพียงความต้องการในประเทศ หรือด้านอุปสงค์เท่านั้น ที่แผ่วลงไป ไม่ว่าจะเป็นภาวะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน พร้อมประเมินว่า ภาวะการส่งออกยังดีอยู่ โดยพบว่ารายได้ของภาคเกษตร พุ่งสูงขึ้นมาก

นางธาริษา กล่าวว่า ปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนสินค้าขยับขึ้นตาม ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ หากแบงก์ชาตินั่งงอมือโดยไม่ทำอะไรเลย อาจทำให้ปัญหาหนักขึ้น ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยก็เพื่อชะลอเศรษฐกิจ เพื่อลดแรงกดดันด้านราคาลงมา โดยหวังว่า ระยะยาวจะทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น

“เศรษฐกิจยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อัตราการว่างงานก็ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 1.5% แต่หากอัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นต่อเนื่องโดยไม่ทำอะไรเลย มันจะทำให้เกิดปัญหาอั้นไม่อยู่ ซึ่งจะมีผลต่อค่าแรง จุดนี้ ธปท.กลัวว่า หากไม่ดูแลเงินเฟ้อ จะทำให้คนคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของ ธปท.ที่สอบถามจากผู้ประกอบการ พบว่าการคาดการณ์เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการคาดการณ์กันว่า อีก 1-3 เดือนข้างหน้าจะปรับขึ้นราคาสินค้าอีก หากเราไม่ทำอะไรเลย จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อไปกันใหญ่จนอาจต้องใช้ยาแรงในการแก้ปัญหา”

ผู้ว่าการ ธปท.ยังเชื่อว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จะมีผลต่อผู้กู้รายย่อย โดยเฉพาะลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยน้อยมาก มีเพียงการยืดเวลาผ่อนชำระออกไป ซึ่งผลสรุปจากที่ ธปท.สำรวจพบว่า ลูกหนี้สามารถรับภาระดอกเบี้ยไปถึงระดับ 8% และจะมีเพียงผลกระทบต่อลูกค้ารายใหม่ที่อาจต้องประเมินความเป็นไปได้ในการขอสินเชื่อใหม่ ดังนั้น ผลกระทบคงมีบ้าง แต่ไม่มาก เพราะพิจารณาแล้ว ไทยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ หากหักลบเงินเฟ้อถือว่าติดลบเสียด้วยซ้ำ โดยด้านเงินฝากติดลบแล้ว 6.6% เงินกู้ติดลบ 1.6%

นางธาริษา ยืนยันอีกว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.นั้นถูกต้องแล้ว และจำเป็นที่จะต้องสร้างเสถียรภาพและลดการคาดการณ์เรื่องเงินเฟ้อ เนื่องจาก ธปท.สำรวจความเห็นเอกชน พบว่า มีการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้าไปถึง 7-9% ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าแพงล่วงหน้า ธปท.จึงต้องขึ้นดอกเบี้ยรักษาเสถียรภาพด้านราคาไว้ก่อน

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเป็นเช่นนี้คนเดือดร้อน ก็คือ ประชาชน ถ้า ธปท.ไม่พยายามสร้างความมั่นใจว่าเราจะเบรก เงินเฟ้อไม่ให้สูงอย่างรวดเร็ว เวลาเงินเฟ้อพุ่งจนเอาไม่อยู่แล้ว เราคงไม่สามรถกู้ให้สถานการณ์กลับคืนมายาก

“หากพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ต้องเน้นเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางก็ต้องดูแลเรื่องเสถียรภาพ ดังนั้น เป็นปกติที่มุมมองในการบริหารเศรษฐกิจต่างกัน วิธีการทำก็ต่างกัน ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ครั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.ปรับลดลง และมีโอกาสที่เงินเฟ้อปีนี้จะเกินเป้าหมายที่วางไว้ เพราะนโยบายการเงินจะค่อยๆ ออกผล ไม่ใช่จะเห็นผลในทันที แต่ยืนยันว่า ธปท.ต้องทำ ไม่ใช่ปล่อยไว้จนปัญหาหนักแล้ว ต้องใช้ยาแรงในการเข้าไปแก้ไข”

“พี่ไม่ใช่ผู้ว่าการ ธปท.คนแรก และจะไม่ใช่คนสุดท้ายที่ถูกกดดัน สิ่งที่ไม่ชอบเลย คือ การโจมตีองค์กร เรื่องนี้ไม่ควรทำ ถ้าผู้ว่าการ ธปท.ทำไม่ดีอย่างมหันต์จะปรับเปลี่ยนก็ทำเลยดีกว่า เพราะความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่ชอบผู้ว่าการจะโจมตีส่วนตัวไม่เป็นไร แต่อย่าทำร้ายองค์กร”

ทั้งนี้ ยอมรับว่า กลุ่มคนที่มีหนี้จะลำบากขึ้นเมื่อดอกเบี้ยขึ้น เช่น คนที่ผ่อนบ้าน แต่การใช้สินเชื่อเคหะนั้น ปัจจุบันใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี และกลุ่มที่ดอกเบี้ยลอยตัว แต่ทั้งสองกลุ่มนี้จะต้องผ่อนบ้านเป็นค่างวดที่ตายตัว ซึ่งคนที่กู้เงินซื้อบ้านก็กู้ระยะยาวได้จนถึง 30 ปี ฉะนั้นดูแล้วคนที่ผ่อนบ้าน ก็ไม่ได้มีภาระเพิ่มมากจนเป็นปัญหา

ส่วนกรณีที่ นายวีรพงษ์ เคยระบุว่า ผู้ว่าการ ธปท.มีอิสระมากเกินไป ว่า เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะตามกฎหมายใหม่ กำหนดให้ ธปท.มีคณะกรรมการกำกับดูแลนโยบาย 3 ชุด ซึ่งแต่ละชุดจะมีกรรมการจากคนนอกอยู่ด้วย ซึ่งเป็นกระบวนการคานอำนาจและตรวจสอบ การทำงานของผู้ว่าการ ธปท.อยู่แล้ว ดังนั้น การที่ระบุว่า ธปท.แตะต้องไม่ได้นั้น ก็ไม่เป็นความจริง

“โจมตีผู้ว่าการ ส่วนตัวไม่เป็นไร แต่อย่าตีองค์กร เพราะธนาคารกลางต้องได้รับความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นเสาหลักของประเทศ ดังนั้น ธปท.ความน่าเชื่อถือต้องมี แต่การออกมาวิจารณ์ ว่า หลังประกาศใช้กฎหมายใหม่แล้ว ธปท.แตะต้องไม่ได้ ถือว่าเป็นมุมมองที่ไม่ถูกต้อง และสร้างความเสียหายให้ ธปท.อย่างมาก...ยิ่งหากการวิจารณ์จากความรู้สึก โดยไม่พิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจ หรือการพูดที่มาจากพื้นฐานข้อมูลไม่ครบ อาจผิดพลาดได้สูง” นางธาริษา กล่าวและเพิ่มเติมอีกว่า

“ช่วงนี้ มีคนพยายามลือว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท.มาทำงานอยู่หน้าห้องผู้ว่าการ ธปท.ถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติกัน เพราะ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นถึงอดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง การพูดว่ามานั่งทำงานหน้าห้อง ถือว่าเป็นการดูถูกท่าน” นางธาริษา กล่าวสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น