xs
xsm
sm
md
lg

เผยการ์ตูน-ละครแฝงความรุนแรงเต็มจอตู้ หวั่นเด็กซึมซับไม่รู้ตัว ยก “แพนเค้ก” ต้นแบบดาราที่ชื่นชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลวิจัยชี้ เด็กชอบดูการ์ตูนมากสุด ห่วงแฝงความรุนแรง 63.81% ส่วนโฆษณาขนมขบเคี้ยวรุนแรง 43.24% หมอเผยเด็กขาดสารอาหาร ซีด ท้องผูก เพราะโฆษณา ร้องขอรายการสารคดีมากขึ้น ขณะที่ละครไทยยังเน้นความรุนแรง ตบตี แย่งผู้ชาย พูดจาหยาบคายแค่หวังเรตติ้งสูง ชี้คนดูซึมลึกไม่รู้ตัว หวั่นปิดเทอมเจอละครรุนแรงซ้ำซาก นักวิชาการชี้ต้องแก้ที่โครงสร้างสื่อ ผลัก พ.ร.บ.จัดสรรคลื่น วอนประชาชนจับตา เหตุพัวพันธุรกิจสื่อแสนล้าน


วันนี้ (12 มี.ค.) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก แถลง “เจาะลึกจอตู้ วันนี้หนูๆ ดูอะไร” โดย ผศ.ลักษมี คงลาภ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต กล่าวว่า การวิเคราะห์ “ความรุนแรงในรายการโทรทัศน์” ในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กช่อง 3, 5, 7, 9, NBT และไทยพีบีเอส ทั้งปริมาณ ลักษณะความรุนแรง จำนวนและลักษณะภาพยนตร์โฆษณาที่นำเสนอความรุนแรง ช่วงเดือน ธ.ค.2551 ที่ผ่านมา พบว่า รายการสำหรับเด็กมีสัดส่วนการออกอากาศเพียง 6.49% เท่านั้น โดยช่องไทยพีบีเอสมีรายการสำหรับเด็กมากที่สุด ส่วนช่องเอ็นบีทีน้อยที่สุด แต่การสำรวจรายการเด็กทั้งหมด 91 รายการในทุกช่อง พบว่า 54.95% มีเนื้อหาที่รุนแรงไม่เหมาะกับเด็ก โดยนำเสนอความรุนแรงแฝงในการ์ตูนมากที่สุดถึง 63.81% ขณะเดียวกัน โฆษณาสินค้าสำหรับเด็กก็มีความรุนแรงแฝงอยู่มากที่สุด 43.24 เป็นสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยว

“การสัมภาษณ์เด็กอายุ 6-12 ปี รายการที่เด็กชอบดูมากที่สุดคือ การ์ตูน ทั้งเด็กผู้ชายและผู้หญิง ส่วนใหญ่ยอมรับว่าเคยเลียนแบบทีวี เช่น เลียนแบบการแปลงร่างแล้วมีการกระโดดถีบ แม้รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดีและไม่ควรเอาอย่าง แต่ยังมองว่า การ์ตูนไม่รุนแรงเพราะไม่เป็นเรื่องจริง ขณะที่รายการละครหลังข่าวรุนแรงสุด เพราะมีการ ต่อย เตะ แทง ดึงผม ตบตี ข่วนหน้า ซึ่งสิ่งที่เด็กๆไม่อยากเห็นในรายการโทรทัศน์ คือ ภาพโป๊ คนตบตีกัน ฆาตกรรม การฆ่าแล้วเห็นชิ้นส่วนร่างกาย ตัดอวัยวะ ทุบตี ลวนลามทางเพศ และหนังรัก ยิ่งปิดเทอมยิ่งน่าห่วง เพราะมีกานำละครหลังข่าวมารีรันฉายซ้ำตอนกลางวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นละครที่มีความรุนแรง”ผศ.ลักษมี กล่าว

ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการเปิดรับและความต้องการของเด็กที่มีต่อรายการโทรทัศน์ ในเด็กชั้น ป.1-ป.6 ทั่วประเทศ 1,600 คน พบเด็กดูทีวีหลายช่วงเวลา แต่ช่วงที่เด็กดูทีวีในวันจันทร์-ศุกร์มากที่สุด คือ 18.00-21.00 น. ซึ่งเป็นช่วงพาร์มไทม์คิดเป็น 66.8% รองลงมา เวลา 15.00-18.00 น.คิดเป็น 42.7%และ เวลา 06.00-9.00 น. คิดเป็น 34.7% ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์เด็กดูมากที่สุด 70% ในช่วงเช้า 06.00-9.00 น.ซึ่งอัดแน่นไปด้วยการ์ตูน

ดร.บุญอยู่ กล่าวอีกว่า แม้ว่าเด็กจะดูทีวีกับพ่อแม่มากที่สุด แต่สิ่งที่ผู้ปกครองแนะนำลูกหลานเวลาดูทีวีไม่ใช่แนะนำเรื่องเนื้อหา แต่กลายเป็นอย่านอนดึก 61.7% อย่าดูโทรทัศน์ใกล้ 57.2% ห้ามดูทีวีหลัง 3 ทุ่ม 27.2% ขณะที่น่าห่วงที่พบว่า เด็กดูทีวีคนเดียวมากถึง 22.4% โดยที่เด็กส่วนใหญ่ 80% บอกว่าไม่รู้จักการจัดเรตติ้ง ส่วนการรับชมรายการโฆษณาสินค้าในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่าเด็ก 55.2% ได้ดูโฆษณาทุกวัน ซึ่งน่าห่วงว่าเด็กอาจซึมซับความรุนแรงจากโฆษณาต่างๆ ได้

“บุคคล ดารานักร้อง หรือตัวละคร ที่เด็กชื่นชอบ อยากเอาเป็นแบบอย่างของตนเองมากที่สุดอันดับหนึ่งได้แก่ แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ 13.3% ป๋อ ณัฐวุฒิ สกิดใจ 5.4% ขวัญ อุษามณี ไวทยานนท์ 3.6% และ นุ่นวรนุช วงษ์สวรรค์ 3.3% เหตุผลเพราะหน้าตาดีสวย/หล่อ 26.7% รองลงมาคือ ประพฤติดี 17.8%และมีความสามารถสูง 8.1% นอกจากนี้รายการทีวีที่เด็กต้องการรายการให้มีเพิ่มขึ้นมากที่สุด 64.3% เป็นรายการสารคดี 63.7% ข่าวของเด็กและเยาวชน และการ์ตูน 61.8%”ดร.บุญอยู่ กล่าว

ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การศึกษาละครไทยเปรียบเทียบกับรายการข่าวและรายการอื่นๆ จำนวน 150 เรื่องในปี พ.ศ.2550 พบว่า ช่อง 7 มีสัดส่วนของละครมากที่สุด เมื่อวิเคราะห์เนื้อหาของละคร รูปแบบการดำเนินเรื่องและเนื้อหา เป็นเรื่องการต่อสู้ชีวิต 34% เนื้อหาเกี่ยวกับรักเชือดเฉือน 23.3% โรแมนติก 14.7% ละครเกี่ยวกับการแก้แค้น 8% ภาพรวมทั้งหมดละครทำเพื่อสะท้อนภาพสังคม 62.7% สะท้อนวัฒนธรรมการครองเรือน 20% ซึ่งจะเป็นเรื่องของชีวิตคู่ ความขัดแย้งในครอบครัว การนอกใจ มีชู้

ผศ.ดร.พรทิพย์ กล่าวอีกว่า ละครมักสร้างบุคลิกของพระเอกในแง่ลบ ให้อารมณ์ร้อน เจ้าคิดเจ้าแค้น ป่าเถื่อน ดูถูกคน ปากร้าย หูเบา เชื่อคนง่าย แต่รักเดียวใจเดียว เป็นวีรบุรษ ส่วนนางเอก มักสร้างให้มองโลกในแง่ดี อ่อนต่อโลก เจ้าน้ำตา คิดมากขี้น้อยใจ ประชดประชัน เชื่อคนง่าย หยิ่งในศักดิ์ศรี ซึ่งบุคลิกความคิดของพระเอก นางเอก เป็นส่วนที่เด็กๆอาจเลียนแบบได้ ส่วนนางร้ายจะ ฉลาด ช่างเอาใจ รู้จักใช้คำพูด เจ้าคิดเจ้าแค้น โหดร้ายทารุณ ขี้อิจฉา ร้ายลึก บ้าผู้ชาย โกหกเสแสร้ง ช่างวางแผน มารยา ยั่วยวน เซ็กซี่ ส่วนตัวร้ายชาย จะถูกสร้างให้เห็นแก่เงิน เห็นแก่ตัว เจ้าเล่ห์ โหดเหี้ยม ชอบใช้กำลัง ฉากต่างๆในละครมักมีความรุนแรง การใช้กำลัง ความขัดแย้งในครอบครัว และมีความรักฉาบฉวย การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจ

รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า ผลวิจัยของมีเดีย มอนิเตอร์ ในปี 2549 พบว่า ละครไทย 88% มีฉากความรุนแรงเฉลี่ยเกือบ 4 ครั้งต่อชม. มีเนื้อหาเหยียดเพศ ดูถูกคนที่ด้อยกว่า 1.33 ครั้งต่อชม. มีการใช้ภาษาไม่เหมาะสม 0.25 ครั้งต่อชม. มีฉากคุกคามทางเพศ การข่มขืน 0.13 ครั้งต่อชม. ซึ่งงานวิจัยล่าสุดและละครที่ออกอากาศอยู่ปัจจุบัน ความรุนแรงก็ไม่ลดลง อาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เมื่อสถานีหนึ่งมีละครที่รุนแรงทั้งภาษา การกระทำ เรื่องเพศ สถานีอื่นก็ยิ่งทำให้รุนแรงมากกว่าเพราะต้องการดึงเรตติ้งคนดู ยิ่งขณะนี้เป็นช่วงปิดเทอม เด็กๆจะอยู่กับทีวีมากขึ้น ผู้ปกครองต้องพูดคุย สอบถามว่าดูรายการใดบ้าง เหมาะสมหรือไม่ ความจริงผู้ผลิตต้องมีความรับผิดชอบ ให้ความสำคัญกับเวลาของเด็ก ในอังกฤษหากเป็นช่วงปิดเทอม ผังรายการจะถูกเปลี่ยนให้เวลากับรายการเด็กมากขึ้น รัฐบาลจึงน่าจะให้ของขวัญเยาวชน ด้วยการขอความร่วมมือกับสถานีให้มีรายการที่เหมาะกับเด็กช่วงปิดเทอม

“สิ่งที่เห็นในหน้าจอวันนี้เต็มไปด้วยละครที่ผู้หญิงตบตีกัน แย่งผู้ชาย ใช้ถ้อยคำรุนแรง หรือไม่ก็ละครผี ทั้งหมดออกอากาศช่วงเวลาที่เด็กๆ ยังนั่งดูทีวีอยู่ ขณะที่ละครตลก หรือโรแมนติก ก็ใช้คำพูดที่รุนแรงบางครั้งถึงขั้นหยาบคาย เพื่อกระตุ้นให้คนติดตาม ให้ตลก แบบนี้น่าห่วงมาก ผู้จัดละครมักบอกว่าคนดูไม่โง่ แยกแยะได้ แต่อะไรก็ตามที่แฝงมากับความบันเทิง มันจะซึมลึกทำให้พฤติกรรมเลียนแบบ โดยเฉพาะเด็กๆที่คิดว่าทำได้ พูดแบบในละคร ทำแบบในละคร คนจะได้สนใจ ที่สุดแล้วจะหล่อหลอมเด็กเยาวชนของเราออกมาเป็นอย่างไร”รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว

รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวอีกว่า ปัญหาทั้งหมดต้องแก้ที่โครงสร้างของสื่อ ขณะนี้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ เข้าสู่ขั้นตอนของสภาฯแล้ว ซึ่งจะทำให้เกิด กสทช. มาจัดแยกประเภทสื่อ ทำให้มีสื่อบริการสาธารณะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีเกณฑ์เรื่องสัดส่วนเนื้อหามากำหนด เช่น ต้องมีรายการสาระไม่ต่ำกว่า 70% สื่อพาณิชย์ที่จะมีมาตรฐานด้านเนื้อหาและความรับผิดชอบต่อสังคมมากำกับมากขึ้น จะทำให้ผู้ชมได้ดูรายการที่มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ. จะอยู่ในขั้นกรรมาธิการอีก 4-5 เดือน แต่กฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล จึงขอให้ประชาชนช่วยกันติดตาม เพื่อให้กฎหมายนี้ออกมาแล้วเกิดประโยชน์สูงสุด

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาเด็ก กล่าวว่า มีหลายกรณีที่ผู้ปกครองพาลูกมาพบแพทย์ที่สถานบันสุขภาพเด็กฯ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการดูโฆษณาขนมขบเคี้ยว อย่างรายหนึ่งวัย 10 ขวบมาหาแพทย์ เนื่องจากมีร่างกายซูบซีด ผอม เนื่องจากขาดสารอาหาร ไม่ทราบเหตุผลว่าเพราะอะไร แต่เมื่อสอบถามเด็กจึงทราบว่ากินแต่ขนมซึ่งปกติจะกินวันละ 100 บาท เป็นประจำนาน 1 ปี หรือเด็กจำนวนมากที่ผู้ปกครองพามาพบแพทย์เพราะมีอาการท้องผูก เกินครึ่งมีสาเหตุมาจากการกินขนมขบเคี้ยวและดื่มน้ำอัดลมมากเกินไป หรือแม้แต่การดูมวยปล้ำมากก็เกิดเป็นพฤติกรรมเลียนแบบเอาเก้าอี้ทุ่มใส่เพื่อน ดังนั้นจึงชัดเจนว่าโฆษณามีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก รวมถึงผลกระทบต่อบุคลิกภาพของเด็ก ซึ่งปัจจุบันพบว่า เด็กมีบุคลิกภาพไม่มีจิตใจเมตตา เคยชินกับความรุนแรง ก้าวร้าว

“อย่างไรก็ตาม รายการทีวีต่างๆ เด็กสามารถดูได้แต่พ่อแม่ต้องคอยแนะนำอธิบาย อาจถอดบทเรียนสร้างความเข้าใจ โดยการใช้คำถามปลายเปิด พูดคุยกัน ซึ่งการห้ามเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล เช่น หากพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกดูทีวีดึก ก็ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างไม่ดูทีวีดึกด้วยเช่นกันและจากผลสำรวจจะพบว่า เด็กดูทีวีช่วงพาร์มไทม์มากกว่าช่วงอื่นๆ ดังนั้น แทนที่จะมีการจัดเรทติ้งรายการต่างๆ เพียงอย่างเดียวควรจะมีการจัดรายการให้เหมาะสมกับช่วงเวลาด้วยหรือไม่" นพ.สุริยเดวกล่าว

ด้าน นางกมลชนก เขมะโยธิน นักแสดงและในฐานะแม่ที่มีลูก 2 คน กล่าวว่า ในการทำหน้าที่แม่ถือว่าได้แนะนำดูแลลูกอย่างเต็มที่ในการเลือกดูรายการทีวีซึ่งจะเน้นให้ดูรายการสารคดีชีวิตสัตว์ ธรรมชาติ โดยไม่อยากให้ดูละคร หรือรายการเพลงที่มีท่าทางการเต้นและการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมเพราะไม่อยากให้ลูกเลียนแบบ แต่เมื่อใส่หมวกเป็นนักแสดง ก็ต้องแสดงให้ดีที่สุดตามแม้จะมีบทตบตี และพยายามที่จะเลือกละครที่มีคุณภาพ แต่ละครที่มีคุณภาพมีน้อย และมักไม่ได้รับความนิยม อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าบทบาทที่ได้รับในละครส่งผลกระทบกับลูกวัย 3 ขวบ ซึ่งลูกได้ดูละครที่ตนได้เล่นก็ร้องไห้และฝังใจคิดว่า แม่เป็นอย่างนั้นจริงๆ เนื่องจากการแสดงมีผลกระทบกับลูกเมื่อมีบทละครเรื่องใหม่ซึ่งเป็นบทบาทของผู้หญิงที่เป็นโรคอิสทีเรียแม้ว่าจะเป็นบทบาทที่มีความท้าทายความสามารถสำหรับนักแสดงแต่ก็ไม่รับและตอบปฏิเสธไปแล้วเพราะหากลูกถามเป็นเรื่องยากที่จะตอบคำถามลูกได้
กำลังโหลดความคิดเห็น