เปิดรายชื่อผู้รับรางวัลด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย และคุ้มครองสิทธิสตรีดีเด่น ในวันสตรีสากล ปี’ 52 “สายสุรี” รับบุคคลเกียรติยศ “นายกฯ อบจ.เชียงราย” รับนักการเมืองท้องถิ่นสตรีดีเด่น “สำนักงาน ก.พ. – กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน - กรมศิลปากร” รับหน่วยงานส่งเสริมความเสมอภาคดีเด่น “หฤทัย ไชยวงศ์” รับยุวสตรีดีเด่น ด้านสื่อส่งเสริมศักพภาพสตรีและความเสมอภาค ประเภทรายการได้แก่ “ผู้หญิงถึงผู้หญิง” “โบตั๋นกลีบสุดท้าย” รับสาขาละคร “พล.ต.ท.ชัชวาลย์” รับบุคคลดีเด่นส่งเสริมความเสมอภาคคุ้มครองสิทธิสตรี พร้อมเข้ารับประกาศเกียรติคุณ 5 มี.ค.นี้
วันนี้(27 ก.พ.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ได้จัดการแถลงข่าวการประชุมสมัชชาสตรีแห่งชาติและงานวันสตรีสากล ประจำปี 2552 โดยนายศุภฤกษ์ หงษ์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวว่า ผู้หญิงในทุกวันนี้เป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น เห็นได้จากการที่ผู้หญิงสามารถเข้ามามีบทบาทในหน้าที่การทำงานที่หลากหลายมากขึ้น เช่น นักบินหญิง และที่สำคัญปีนี้โรงเรียนนายร้อยตำรวจก็ได้เปิดรับนักเรียนนายร้อยหญิง 70 คน โดยที่ 60 คนมาจากการคัดเลือกในระบบ และอีก 10 คนมาจากส่วนของราชการ ตรงนี้ก็เป็นทิศทางที่ดีสำหรับการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย
สำหรับบทบาทอำนาจหน้าที่ในทางการเมืองก็จะเห็นได้ชัดว่าในรัฐบาลชุดนี้มีผู้หญิงเข้าไปทำหน้าที่หลายตำแหน่ง เห็นได้จากตำแหน่งรัฐมนตรีซึ่งก็ถือว่าไม่น้อยสำหรับหน้าที่การทำงานส่วนนี้ ทั้งนี้ สค. จะพยายามรณรงค์ ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีสิทธิ ในการทำงานด้านการเมืองมากขึ้น โดยการสนับสนุนให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไปจนถึงการให้กลุ่ม หรือผู้ที่สนใจลงสมัครรับเลือกตั้งให้มากขึ้นโดยอาจเริ่มจากการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งก็ต้องอยู่ที่ความสามารถ และการยอมรับของบุคคลแต่ละพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้หากมองอีกมิติหนึ่งก็จะพบว่าผู้หญิง เด็ก จะถูกกระทำความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่โชคดีที่มีพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและผู้หญิงจากการถูกกระทำ ปี 2550 เข้าไปดูแลอยู่ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเน้นดูแลผู้ถูกกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการกระทำที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว และความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่หลายคนมองว่าเกิดจากสิ่งแวดล้อม สังคม แต่หากมองในสายตาของนักจิตวิทยาก็จะพบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวกระตุ้นเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่จิตใจของตัวเราเอง ที่สามารถบังเกิดความรุนแรงให้เกิดขึ้น ซึ่งสภาพจิตใจตรงนี้ภาครัฐต้องมีส่วนช่วยในการให้การบำบัด และได้รับการดูแลไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยง
นายศุภฤกษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการทำงานของ สค.ในปีนี้นั้นจะเน้นไปที่การพัฒนาสถาบันครอบครัวภายในชุมชนเป็นหลัก โดยมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวและชุมชนขึ้น โดยพุ่งเป้าไปที่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่ในประเทศไทยมีกว่า 8,000 แห่ง ซึ่งตอนนี้ได้ทำการจัดตั้งไปแล้ว 4,700 แห่ง ที่จะช่วยกำกับ ดูแลในเรื่องครอบคัว ในการสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง อบอุ่น ซึ่งทาง สค.ก็ได้ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2555 จะจัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวชุมชนได้ครบทั่วทั้ง อปท.ทั่วประเทศ
สำหรับการประชุมสมัชชาสตรีแห่งชาติและงานวันสตรีสากล ประจำปี 2552 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4-5 มี.ค.นี้นั้น จะมีการนำตัวแทนสตรีในแต่ละภาคทั้ง 4 ภาค มาหารือเพื่อเสนอปัญหา อุปสรรค ความต้องการ จากนั้นจะมีการรวบรวมข้อคิดเห้น ข้อเสนอต่างๆ จากตัวแทนสตรี 4 ภาคเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้จะมีการพิจารณาในเรื่องของเศรษฐกิจ การเมือง สุขภาพ กลไกในการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง และสถานภาพของสตรี
ด้านกัปตันกัญชลา คัมโพส-ตอร์โตชา(ศรียานงค์) นักบินพานิชย์หญิงคนแรกของเมืองไทย สายการบินบางกอกแอร์เวย์ กล่าวว่า หากมองถึงบทบาท สิทธิความเท่าเทียมและการยอมรับในหน้าที่ของสตรีในปัจจุบันนี้จะเห็นว่า ทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่างก็เปิดโอกาศให้ผู้หญิงมีสิทธิในการทำงานมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องแล้วแต่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะไขว่คว้าโอกาสไว้หรือไม่ เพราะตอนนี้สังคมก็ได้เปิดโอกาสให้อย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งบางคนอาจกลัวที่จะทำ เช่นในส่วนของนักบินก็กลัวความสูง กลัวกลไกเครื่องยนต์ คิดว่าตัวเองทำไม่ได้ แต่ถ้าหากไม่ลองทำก็คงไม่รู้ ดังนั้นเมื่อโอกาสเปิดผู้หญิงก็ต้องรีบฉกฉวยเอาไว้ให้ได้ และหากมองไปในบ้านเมืองทุกวันนี้ผู้หญิงก็มีโอกาสในหน้าที่การงานที่ดีขึ้น เห็นได้จากคณะรัฐมนตรีที่มีผู้หญิงเข้าไปเป็นใหญ่เป็นโตมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง
“เมื่อเราเรียกร้องโอกาสในการทำงาน เมื่อมีความเป็นไปได้ก็ต้องรีบคว้าไว้ทันที แต่ทั้งนี้เราก็ต้องดูด้วยว่าเราอยู่ในสถานะใด เช่นหากมีครอบครัว มีลูก แน่นอนว่าอยู่ในสถานะของความเป็นแม่ เป็นผู้นำครอบครัว ดังนั้นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ไม่ควรทิ้งก็คือสถาบันครอบครัว อีกทั้งยังฝากถึงการกระทำความรุนแรงที่เกิดขึ้นแก่เด็กและผู้หญิงที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้อยากให้รัฐบาลออกกฎหมายที่รัดกุม ให้ความคุ้มครองอย่างจริงจังในการดูแล และเพิ่มโทษสำหรับผู้กระทำผิดให้หนักเพื่อจะได้มีความเกรงกลัว” กัปตันกัญชลากล่าว
อนึ่งงานการประชุมสมัชชาสตรีแห่งชาติและงานวันสตรีสากล ประจำปี 2552 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4-5 มี.ค.นี้ ณ ห้องรอยัลจูบิลี อาคารชาร์เลนเจอร์ เมืองทองธานี นั้นในวันที่ 5 มี.ค.จะได้มีการมอบประกาศเกียรติคุณสำหรับ สตรี บุคคล หน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนดีเด่น ด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายและการคุ้มครองสิทธิสตรี ดังนี้
1.บุคคลเกียรติยศดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายและการคุ้มครองสิทธิสตรี ได้แก่ นางสายสุรี จุติกุล สมาชิกคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบของสหประชาชาติ
2.สตรีดีเด่นในเวที/เครือข่ายระดับสากล ได้แก่ นางสุรภีร์ โรจนวงศ์ ผู้ก่อตั้งสมาคมส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมอาเซียน
3.นักการเมืองท้องถิ่นสตรดีเด่น ประเภทองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้แก่ นางรัตนา จงสุทธนามณี นายก อบจ. จังหวัดเชียงราย
4.นักการเมืองท้องถิ่นสตรดีเด่น ประเภทเทศบาล ได้แก่ นางสาวเพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเกาะคา จ.ลำปาง
5.หน่วยงานภาครัฐดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคชายหญิง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักนายกรัฐมนตรี , กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน , กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
6.พนักงานสอบสวนหญิงดีเด่น ได้แก่ พันตำรวจโทหญิงจรีย์วรรณ พุทธานุรักษ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรหางดง จ.เชียงใหม่
7. บุคคลภาคเอกชนดีเด่นด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของสตรี ได้แก่ นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
8. หน่วยงานภาคเอกชนดีเด่นด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของสตรี ได้แก่ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง
9.นักธุรกิจสตรีดีเด่น ได้แก่ นางศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต
10.สตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมสัติภาพในสามจัง
หวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นางบงกช ณ สงขลา นักวิชาการ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี , นางยูไนดา มะดือเร๊ะ ประธานศูนย์ฝึกอาชีพพญาดา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส , นางวาสือเมาะ เงาะ กำนันตำบลสะกำ อ.มายอ จ.ปัตตานี
11.สตรีนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่น ได้แก่ นางฉลวย กะเหว่านาค นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสตรี
12.สตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง ได้แก่ นางสาวปรียาภรณ์ มนัส นักศึกษาผู้ปกป้องตนเองจากการคุกคามทางเพศในสถานศึกษา
13.ยุวสตรีดีเด่น ได้แก่ นางสาวหฤทัย ไชยวงศ์ จากโรงเรียนจักรคำคณาทร จ.ลำพูน
14.สื่อมวลชนสตรีดีเด่น ประเภทสื่อโทรทัศน์ ได้แก่ นางสาวมณัชยา รักพานิชแสง ผู้ควบคุมและผลิตรายการวงเวียนชีวิต
15.สื่อมวลชนดีเด่นด้านการส่งเสริมศักยภาพสตรีและความเสมอภาคหญิงชาย ประเภทรายการโทรทัศน์ ได้แก่ รายการผู้หญิง ถึง ผู้หญิง
16. สื่อสารมวลชนสตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย สาขารายการโทรทัศน์ ได้แก่ ละครเรื่อง โบตั๋นกลีบสุดท้าย
17.สื่อสารมวลชนดีเด่นด้านการส่งเสริมศักยภาพสตรีและความเสมอภาคหญิงชาย ประเภทสื่อโฆษณา ได้แก่ โฆษณาชุด หนึ่งเสียงหยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง โดย สสส.
18.บุคคลดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและการคุ้มครองสิทธิสตรีภาคราชการ ได้แก่ พล.ต.ท ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.)
19.บุคคลดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและการคุ้มครองสิทธิสตรีภาคเอกชน ได้แก่ นางสาวอุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง
20. สตรีดีเด่นด้านธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้แก่ นางสุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ จากร้านเลมอนฟาร์ม
21. ชุมชนดีเด่นด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ชุมชนสวนอ้อย เขตคลองเตย
22. ชุมชนดีเด่นด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี ภาคเหนือ ได้แก่ชุมชนฟ้าใหม่ ตำบลช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่
23. ชุมชนดีเด่นด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี ภาคกลาง ได้แก่ ชุมชนไทยเกรียงพัฒนา ตำบลบางจาก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
24. ชุมชนดีเด่นด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ชุมชนหมู่บ้านคำกลาง ตำบลโนนหนามแท่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ
25. ชุมชนดีเด่นด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี ภาคใต้ ได้แก่ ชุมชนท่ายาง ตำบลท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร
26. ชุมชนดีเด่นด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ชุมชนตำบลบาโงย ตำบลบาโงย อ.ยะหา จ.ยะลา