xs
xsm
sm
md
lg

โพลเผย สารเสพติดเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เด็กใช้ความรุนแรงถึง 20 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบ “สารเสพติด” เป็นปัจจัยให้เด็ก-เยาวชน ใช้ความรุนแรงมากสุดถึง 20 เท่า ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ติดเกมออนไลน์ เห็นภาพการใช้อาวุธทำร้ายกันในทีวีเสี่ยง 9.34, 3.43 และ 2.23 เท่า ตามลำดับ แนะหน่วยงานรัฐ-ผู้ใหญ่ในสังคม-พ่อแก่เร่งเยียวยา

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ “สถานการณ์การใช้ความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชน กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนที่มีอายุ 12-24 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร” จำนวน 2,511 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10-17 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า รายการโทรทัศน์ที่ติดตาม อันดับแรก หรือร้อยละ 64.3 ชมละครโทรทัศน์ รองลงมา คือ ร้อยละ 57.9 ระบุรายการเพลง ร้อยละ 55.6 ระบุ รายการข่าว หรือวิเคราะห์ข่าว ร้อยละ 44.5 ระบุรายการเกมโชว์ ร้อยละ 40.3 ระบุ รายการวาไรตี้ หรือ ทอล์กโชว์ และร้อยละ 34.2 ระบุรายการการ์ตูน ตามลำดับ ที่น่าสนใจ คือ เด็กและเยาวชน ร้อยละ 52.2 พบเห็นภาพความรักความอบอุ่นของครอบครัวผ่านรายการโทรทัศน์ รองลงมา คือ ร้อยละ 40.3 พบเห็นภาพการทำบุญทำทาน กิจกรรมทางศาสนา และเพียงร้อยละ 39.4 ที่พบเห็นภาพการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม

ที่น่าเป็นห่วง คือ เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 60.8 พบเห็นภาพการใช้อาวุธ เช่น อาวุธปืน มีด ทำร้ายกันบ่อยๆ รองลงมา คือ ร้อยละ 57.5 พบเห็นภาพการต่อสู้ทำร้ายร่างกายกัน ร้อยละ 51.4 พบเห็นภาพของสงครามและการฆาตกรรม ร้อยละ 49.3 พบเห็นภาพการคุกคามทางเพศ ร้อยละ 46.5 พบเห็นพฤติกรรมการพูดจาหยาบคาย ด่าทอ โต้เถียงกัน เป็นต้น

เมื่อถามถึงกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่เด็กและเยาวชนผู้ถูกศึกษาทำเป็นประจำในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 67.9 ระบุเรียนพิเศษ แต่ที่น่าพิจารณา คือ เด็กและเยาวชนในช่วงเศรษฐกิจถดถอยนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.4 ทำงานหารายได้ ทำงานพิเศษ ร้อยละ 53 ทำกิจกรรมเพื่อสังคม แต่เพียงร้อยละ 44.5 อ่านหนังสือ ร้อยละ 42.9 เล่นกีฬา เล่นดนตรี ส่วนกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55 เล่นเกมคอมพิวเตอร์/เกมออนไลน์ประเภท เกมต่อสู้ ร้อยละ 34.1 ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ ร้อยละ 25.9 เที่ยวกลางคืน และที่น่าเป็นห่วง คือ เกือบ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 23.7 หนีเรียน ร้อยละ 21.4 เล่นการพนัน ร้อยละ 16.7 เข้าร่วมกับกลุ่มเพื่อนบุกยกพวกตีกัน ร้อยละ 16.7 ทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นโดยใช้กำลัง ร้อยละ 13.5 ใช้สิ่งเสพติดประเภทต่างๆ และร้อยละ 14.1 ทะเลาะกับผู้อื่นโดยใช้อาวุธ

นายนพดล กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ค่าสถิติวิจัยด้วยค่า Odds Ratio ทำให้เห็นพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน ดังนี้ เด็กและเยาวชนที่ใช้สารเสพติดประเภทต่างๆ มีความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรงสูงถึงประมาณ 20 เท่า หรือ 19.75 เท่ามากกว่าเด็กและเยาวชนที่ไม่ใช้สารเสพติด เด็กและเยาวชนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรงสูงถึง 9.34 เท่า เด็กและเยาวชนที่ติดเกมออนไลน์ เกมคอมพิวเตอร์ประเภทเกมต่อสู้มีความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรงสูงถึง 3.43 เท่า เด็กและเยาวชนที่พบเห็นภาพการใช้อาวุธทำร้ายกันผ่านรายการโทรทัศน์บ่อยๆ มีความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรงสูงถึง 2.26 เท่า

นายนพดล กล่าวว่า หน่วยงานรัฐและผู้ใหญ่ในสังคมที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรีบเยียวยาปัญหาเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นจะมี “เหยื่อบริสุทธิ์” ของพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงจากกลุ่มเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน กลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการเป็นผู้มีความมั่นคงในอารมณ์ ไม่ใช้ความรุนแรงเสียเอง ส่วนกลุ่มวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน ควรลดการนำเสนอภาพการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา และชุมชน ควรมุ่งเน้นการนำเสนอสาระของเหตุการณ์ และข้อคิด เพื่อเตือนให้สังคมเกิดความตระหนักในปัญหาการใช้ความรุนแรงในกลุ่มเด็กเยาวชน

ด้านกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ออกกฎหมาย ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายที่เด็ดขาดในการลดปัญหาเด็กและเยาวชนที่เข้าถึงการใช้อาวุธ ยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย และถึงเวลาหรือยังต้องมีบทลงโทษพ่อแม่ผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลยให้เด็กและเยาวชนอยู่บ้าน หน้าจอโทรทัศน์และเกมออนไลน์เพียงลำพัง และรัฐบาลต้องเข้ามาร่วมสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ใช่เข้ามาแสดงบทบาทตามกระแสเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาติเพื่อเฝ้าระวังดูแลรักษาคุณภาพเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการทุกหน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วนของสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น