xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจพบ ปชช.เบื่อความขัดแย้งทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อสภาวะความเสี่ยงของประเทศไทยในช่วงปี 2552 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 18 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู ขอนแก่น สกลนคร เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ระนอง และพัทลุง จำนวนทั้งสิ้น 2,443 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3 - 10 มกราคม 2552 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.8 ยังคงรู้สึกเบื่อหน่ายต่อความขัดแย้งทางการเมือง ร้อยละ 75.8 เชื่อว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 70.2 เครียดเรื่องการเมือง อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 71.3 ยังคงมีความหวังว่าประเทศชาติจะสงบสุข และร้อยละ 95.8 อยากให้คนไทยรักกัน
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้ประเทศไทยจะประสบวิกฤตการณ์ต่างๆ มากมายในเวลานี้ ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.9 ยังคงเชื่อมั่นต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย แม้ประเทศไทยจะประสบวิกฤตการณ์ต่างๆ มากมาย
ที่น่าเป็นห่วงคือ ค่าคะแนนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศในทุกเรื่องต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยพบว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ 4.47 ค่าความเชื่อมั่นต่อความสามัคคีของกลุ่มการเมืองและพรรคร่วมรัฐบาล ได้ 3.84 ค่าความเชื่อมั่นต่อการปราบปรามปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้ 3.66 ค่าความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหายาเสพติด ได้ 3.57
ยิ่งไปกว่านั้น ค่าคะแนนความเสี่ยงต่อวิกฤตการณ์ปัญหาต่างๆ ของประเทศในมุมมองของประชาชน พบว่า มีค่าคะแนนความเสี่ยงสูงระดับมาก จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ความเสี่ยงต่อวิกฤตการณ์ปัญหาด้านเศรษฐกิจได้ 7.72 ความเสี่ยงต่อปัญหาด้านการเมือง ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายได้ 7.49 และความเสี่ยงต่อวิกฤตด้านสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ได้ 7.15
ดร.นพดล กล่าวว่า จากผลวิจัยครั้งนี้จำเป็นต้องเร่งทำอะไรบางอย่างที่เป็นระบบในการบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชน โดยรัฐบาล หน่วยงานรัฐ และองค์กรเอกชนน่าจะช่วยกันสร้างระบบเฝ้าระวังติดตามอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่รวดเร็วฉับไวทันต่อสถานการณ์และสร้างสรรค์กิจกรรมรณรงค์ จัดวางยุทธศาสตร์ชาติเรื่องของจิตใจและพฤติกรรมของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค โดยนำเอาความดีงามด้านวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นและระดับประเทศเป็นตัวเชื่อมประสานร่วมประกอบกับแนวทางด้านความมั่นคงในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น