xs
xsm
sm
md
lg

เลขา วช. บรรยายสดผ่านดาวเทียม “นโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยชาติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาสตราจารย์อานนท์  บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
วช. - สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดถ่ายทอดสดเสียงเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บรรยาย เรื่อง “นโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ” ผ่านสัญญาณดาวเทียมและระบบอินเตอร์เน็ตของศูนยถ่ายทอดองค์ความรู้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ครอคลุม 76 จังหวัด เมื่อวันจันทร์ที่ 3 พ.ย. 2551 เวลา 13.30 น.

ศาสตราจารย์อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การวิจัยก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ วช. เป็นองค์กรหลักตามพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ วช. มีบทบาทสำคัญด้านการวางนโยบายและแผนวิจัยส่วนรวม

รวมทั้งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมแผนงานและงบประมาณวิจัยเชิงบูรณาการของหน่วยงานการวิจัยต่างๆ ของประเทศ เพื่อนำเสนอรัฐบาลพิจารณาจัดสรรงบประมาณโดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

ปัจจุบันนี้ วช. จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยชาติ (2551 – 2553) ฉบับที่ 7 ขึ้น ซึ่งมุ่งเน้นและตอบสนองความต้องการของพื้นที่โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยมีส่วนร่วม ทั้งนี้นโยบายยุทธศาสตร์การวิจัยฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยไว้ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนาทางสังคม การสร้างศักยภาพและความสามารถ เพื่อการพัฒนาทางวิทยาการและทรัพยากรบุคคล การเสริมสร้างและพัฒนาทุนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการความรู้ ผลงานวิจัย ทรัพยากรและภูมิปัญญาของประเทศสู่การใช้ประโยชน์ด้วยยุทธศาสตร์วิธีที่เหมาะสมกัน

ซึ่งนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ (2551 – 2553) สามารถเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (2550 – 2554) ตลอดจนเชื่อมโยงสู่การจัดทำนโยบายและแนวทางการวิจัยของชาติระยะยาว (2551 – 2560)

อย่างไรก็ดีในส่วนนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยชาติ 2551 – 2553 วช. ได้ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายฯ สู่การปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมขึ้นในภาคกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นไปแล้วกับผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนราชการ เอกชนใน 12 จังหวัด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และขณะนี้ วช. กำลังจัดทำต้นแบบนำร่องและลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ 76 จังหวัด เพื่อขยายผลของการนำนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมในภูมิภาคต่อไป

สำหรับการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติระยะยาว 10 ปี (2551 – 2560) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการกำหนดโครงสร้างและเป้าหมายการวิจัยของชาติระยะยาวขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการวิจัยของประเทศอย่างเป็นระบบ เป็นเครื่องมือที่คาดหวังว่าสามารถชี้นำการวิจัย ไปสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและบรรลุผลตามความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีมติให้ วช. จัดวางโครงการ โครงสร้างนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยระยะยาว โดย วช. และทีมนักวิจัยได้จัดทำประเด็นการศึกษาวิจัยไว้ 6 ประเด็น ดังนี้

พลังงานฐานชีวภาพ การจัดการทรัพยากรน้ำ เทคโนโลยีชีวภาพ การเรียนรู้ด้วยตนเอง การจัดงานและอาชีพ และการบริหารรัฐกิจ ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวอยู่ในระหว่างการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์เชิงนโยบายและวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ตลอดจนเพื่อระดมความคิดเห็นจากสาธารณชนด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือที่จะกำหนดวาระนโยบายการวิจัยระยะยาวได้ชัดเจนขึ้น อันจะทำให้สังคมไทยมีอนาคตที่ชัดเจนและยั่งยืนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น