“ชินภัทร” เตรียมดัน 3 หน่วยงานในสำนักงานปลัด ศธ.ขึ้นเป็นกรม “ก.ค.ศ.-สช.-กศน.” ระบุเพื่อให้บุคลากรเลื่อนไหลได้ดีขึ้น หลังจากปรับโครงสร้างตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการฯ ปี 2546 แล้วบุคลากรไม่สามารถเติบโตได้ อ้างเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับข้าราชการ
นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัด ศธ.เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อดูแลเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้าง 3 หน่วยงาน ในสำนักงานปลัด ศธ.ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยมี นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการ กศน.เป็นประธาน เพื่อยกฐานะ 3 หน่วยงานนี้จากสำนักเป็นกรมภายในสำนักงานปลัด ศธ.เพราะตั้งแต่มีการปรับโครงสร้าง ศธ.ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ทำให้มีผลกระทบต่อบุคคลในระดับผู้บริหาร ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน โดยเฉพาะสำนักงาน ก.ค.ศ. ซึ่งเดิมเป็นสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) มีฐานะเป็นกรม แบ่งเป็น 7 กอง โดยมีผู้บริหารตำแหน่งเลขาธิการ 1 คน รองเลขาธิการ 3 คน ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน และผู้อำนวยการกอง 7 คน ซึ่งบุคลากรจะสามารถเลื่อนไหลไปได้ โดยจะเติบโตตั้งแต่อยู่ในกองจนกระทั่งขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการกอง และเติบโตขึ้นมาตามลำดับได้ ซึ่งเป็นโครงสร้างหน่วยราชการที่ควรจะเป็น
“เมื่อลดฐานะกรมเป็นสำนักแล้ว ผู้บริหารจะเหลือเพียงเลขาธิการ 1 คน รองเลขาธิการ 2 คน และผู้เชี่ยวชาญ 4 คน นอกจากนั้น จะเป็นผู้ปฏิบัติงานที่เป็นข้าราชการทั่วไป ไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่ทางด้านบริหาร ตรงนี้จึงเกิดเป็นช่องว่างของการเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ ซึ่ง ก.ค.ศ.ในขณะนี้เปรียบเหมือนที่ดินตาบอดที่ไม่มีทางเข้าทางออก จะไปไหนก็ไม่ได้ จึงทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยลำบาก ไม่มีความเจริญก้าวหน้า และมองได้ว่ามีแต่หัว แต่ไม่มีตรงกลาง และมีผู้ปฏิบัติอยู่ด้านล่าง ฉะนั้นผู้ที่เติบโตมาเป็นผู้ปฏิบัติงานจะไม่มีโอกาสเติบโตเป็นผู้อำนวยการกอง และโดยเงื่อนไขแล้วผู้อำนวยการกองจะเป็นตำแหน่งที่เติบโตไปเป็นรองเลขาธิการ และเลขาธิการ แต่เมื่อไม่มีตำแหน่งระดับกองจึงเหมือนกับบันไดขาดไป เมื่อบันไดขาดผู้ที่ปฏิบัติงานก็เหมือนกับไม่เห็นอนาคตของตัวเอง ซึ่งการจะเติบโตเป็นรองเลขาธิการได้จะต้องขวนขวายไปรับหน้าที่บริหารจากหน่วยงานอื่นก่อน และจึงกลับมาเป็นผู้บริหาร ก.ค.ศ.ตรงนี้จึงเป็นจุดที่จะต้องแก้ไข เพราะหากปล่อยให้จุดนี้ยืดเยื้อต่อไป จะทำให้ข้าราชการขาดขวัญและกำลังใจ” นายชินภัทร กล่าว
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานหลังจากนี้คงจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และวิเคราะห์ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ว่าจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายใดอีกหรือไม่ เพื่อยกฐานะของทั้ง 3 หน่วยงานขึ้นเป็นกรมภายในสำนักงานปลัด ศธ. แต่จะไม่ใช่การแยกเป็นแท่ง อย่างไรก็ตามตนได้มอบให้คณะทำงานรีบดำเนินการ เพื่อชี้แจงกับคณะกรรมพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่ตั้งข้อสังเกตว่าจะขัดกับหลักของการกระจายอำนาจหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องอธิบายให้ ก.พ.ร.เข้าใจว่า เรื่องการกระจายอำนาจ กับเรื่องของการที่ทำให้หน่วยงานที่จะสนับสนุนการกระจายอำนาจให้มีประสิทธิภาพน่าจะไปด้วยกันได้ เพราะกคศ.ไม่ได้เน้นรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง แต่เป็นหน่วยงานที่จะต้องเชื่อมโยงประสานกับคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา และทำหน้าที่กำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติต่างๆ ในการบริหารงานบุคคล
นายชินภัทร กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อสังเกตเรื่องงบประมาณนั้น ความจริงแล้วไม่ได้ใช้งบเพิ่มมากขึ้นเท่าใดนัก เพราะขณะนี้ปริมาณงานและทรัพยากรต่างๆ ที่ ก.ค.ศ.ได้รับก็เหมือนกับตอนที่เป็นสำนักงาน ก.ค.แต่ส่วนที่จะให้มีตำแหน่งอำนวยการเพิ่มขึ้นอีก 6-7 ตำแหน่งนั้น ก็จะใช้งบฯไม่มากถ้าเทียบกับขวัญกำลังใจของบุคลากร 200 คน แต่หากไม่แก้ไขและปล่อยปัญหานี้ต่อไป ก็จะเกิดผลกระทบต่อบุคลากรครูและผู้บริหารทางการศึกษาที่จะไม่ได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ เพราะ ก.ค.ศ.คือ หัวใจของการบริหารงานบุคคล ที่เราจะต้องช่วยกันสร้างขวัญและกำลังใจที่เหมือนกัน