วธ.รับตั้งวัฒนธรรมอำเภอเถื่อน เหตุไร้กฎหมายรองรับ ข้าราชการร้องเร่งแก้ปัญหา ยื่นคำขาดให้รางวัลผู้ปฎิบัติหน้าที่เดิมรับตำแหน่ง ห้ามสอบแข่งขันเด็ดขาด “ธีระ” โปรยยาหอมสั่งให้เสนอขออัตราปี 52 จาก ก.พ.ร.200 อัตรา
วันนี้ (18 ก.พ.) นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนา เรื่อง การขยายเครือข่ายสภาวัฒนธรรมตำบล และโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยว่า ตนได้รับหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมระดับอำเภอ เนื่องจากที่ผ่านมา วธ.สั่งการให้นักวิชาการวัฒนธรรมจังหวัดไปปฏิบัติหน้าที่ประจำอำเภอทั่วประเทศ แต่มีปัญหา คือ 1.การกำหนดตำแหน่งวัฒนธรรมอำเภอ โดยให้นักวิชาการวัฒนธรรมจังหวัดไปปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการของ วธ.ในส่วนภูมิภาคระดับอำเภอ มีฐานะเทียบเท่าฝ่ายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับที่ถูกต้อง 2.การพิจารณาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งวัฒนธรรมอำเภอ ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นวัฒนธรรมอำเภอที่ถูกต้อง ได้ปฎิบัติหน้าที่ราชการตั้งแต่เริ่มมี วธ.จนถึงปัจจุบัน ทำให้ข้าราชการขาดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้ กลุ่มนักวิชาการวัฒนธรรมอำเภอได้เสนอแนวทางแก้ไขดังนี้ 1.ขอให้ วธ.ผลักดันให้มีตำแหน่งวัฒนธรรมอำเภอที่ถูกต้องและมีกฎหมายรองรับ เพราะไม่อยากถูกกล่าวว่าเป็น วัฒนธรรมอำเภอเถื่อน 2.การเข้าสู่ตำแหน่งวัฒนธรรมอำเภอ ควรมาจากการประเมินบุคคลที่ปฎิบัติหน้าที่ประจำอำเภออยู่แล้ว ให้แต่งตั้งตำแหน่งเป็นวัฒนธรรมอำเภอ โดยวิธีสอบสัมภาษณ์ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ เช่นเดียวกับการแต่งตั้งหัวหน้าฝ่ายศาสนา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นผู้อำนวยการวัฒนธรรมจังหวัด หรือโดยวิธีเสนอผลงาน ยกเว้นการสอบแข่งขัน
รมว.วธ.กล่าวว่า ตนติดตามปัญหานี้มาตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีเงา จึงยอมรับว่า เป็นปัญหาในการทำงานจริง เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับบทบาทหน้าที่อย่างเป็นทางการ ขณะที่มีภารกิจหน้าที่ต้องดูแลเฝ้าระวังเรื่องศิลปวัฒนธรรมทั้งอำเภอ ซึ่งตนไม่ได้นิ่งนอนใจ ในปี 2552 นี้ ได้สั่งการให้ นายสมชาย เสียงหลาย รองปลัด วธ.เร่งผลักดันขออัตราจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) อย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ หรือ 200 อัตรา โดยมีงบประมาณรองรับ 100 ล้านบาท จากนั้น วธ.จะเร่งออกประกาศแต่งตั้งเป็นข้าราชการวัฒนธรรมอำเภอรองรับทันที เพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นขวัญกำลังใจข้าราชการทุกคน
นายธีระ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการขับเคลื่อนโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนนั้น ได้เริ่มที่พื้นที่ภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา เพื่อนำมิติทางวัฒนธรรมแก้ปัญหาความไม่สงบจำนวน 326 ตำบล โดยจัดสรรงบประมาณสนับสนุนตำบลละ 60,000 บาท เป็นเงินประมาณ 19 ล้านบาท ส่วนอีก 70 จังหวัด 833 ตำบล จะจัดสรรงบประมาณให้ตำบลละ 35,000 บาท เป็นเงินประมาณ 29 ล้านบาท โดยในวันที่ 19 ก.พ.นี้จะเริ่มทยอยจัดส่งงบประมาณในส่วนของ 5 จังหวัดภาคใต้ก่อน หลังจากนั้น จะทยอยจัดสรรให้อีก 70 จังหวัดต่อไป