xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเลิกระบบผู้ว่าฯซีอีโอ ลดอำนาจเป็นผู้ประสานงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมนโยบายบูรณาการจังหวัดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) เป็นไปตามกรอบของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ.2551 ที่มีผล และประกาศใช้เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่การจัดตั้งคณะกรรมการ ก.น.จ. ซึ่งเป็นไปตามองค์ประกอบของกฎหมาย ดังนั้นผู้ราชการแบบบูรณาการ หรือผู้ว่าฯซีอีโอ ตามกรอบนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้ว จึงไม่ได้อยู่ในกรอบของคณะกรรมการก.น.จ. ซึ่งระบุไว้ในกฎหมาย
"จะเรียกว่า ยกเลิกผู้ว่าฯซีอีโอ หรือไม่ แต่เป็นการดำเนินการตามกรอบกฎหมายที่ประกาศใช้ ผู้ว่าฯซีอีโอ เป็นเพียงแนวคิดเดิมของรัฐบาลที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการไปตามทิศทางของการเมือง แต่งบประมาณที่จัดสรรให้จังหวัดจะมีการกลั่นกรองมากขึ้น"รองนายกฯกล่าว
ด้านนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในฐานะเลขานุการ ก.น.จ. กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ก.น.จ.ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านแผน และด้านงบประมาณขึ้น เพื่อช่วยเหลือ ก.น.จ.ในการพิจารณากลั่นกรองแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด และการจัดทำคำของบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดขึ้น
โดยเจตนรมย์ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 และพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ การบริหารการพัฒนาในลักษณะยึดพื้นที่เป็นหลักในการพัฒนาเพื่อกระจายการพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำของความเจริญเติบโตระหว่างพื้นที่ต่างๆในประเทศ แบ่งเป็น 18 กลุ่มจังหวัด และ 75 จังหวัด (กลุ่มจังหวัดเน้นยุทธศาสตร์เรื่องการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และจังหวัดเน้นยุทธศาสตร์เรื่องพัฒนาสังคม รวมถึงการสร้างโอกาสและอาชีพ) โดยต้องการให้พื้นที่มีตำแหน่งในการพัฒนาที่ชัดเจน และผ่านความเห็นชอบร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และร่วมมือร่วมใจ
ขณะที่การปกครองจะเน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆที่มีการจัดการการความสัมพันธ์แนวดิ่ง ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น โดยแบ่งหน้าที่กันทำตามแต่ยุทธศาสตร์ (เจรจาและทำข้อตกลงร่วมกัน) ลดความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือระดมทรัพยากรเข้ามาใช้ร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ พร้อมกับการจัดการความสัมพันธ์แนวนอนระหว่างภาครัฐและภาคส่วนอื่นในสังคม (ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม)
"โดยการประสานการลงทุนภาคเอกชน และเชื่อมโยงกับแผนชุมชน โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ประสานเชื่อมโยง ฝ่ายต่างๆเข้าด้วยกัน" เลขาธิการ ก.พ.ร.กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ.2551 โดยร่างขึ้นในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กำกับนโยบาย และคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล ทั้งนี้ มีหน้าที่ในการกำหนดกรอบนโยบาย และวางระบบการบริหารงาน การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผน การจัดทำและบริหารงบประมาณ รวมทั้งการพิจารณา กลั่นกรองและให้ความเห็นชอบกับแผนและคำของบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรกมารชุดนี้ จะไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นกรรมการ โดยภาคการเมือง มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่กำกับและติดตามราชการในภูมิภาค รมว.มหาดไทย รมว.คลัง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายภาคราชการ ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกัจและสังคมแห่งชาติ
ฝ่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายกสมาคมสันติบาตรเทศบาลแห่งประเทศไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ฝ่ายภาคธุรกิจเอกชน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ จาก บอร์ด ก.พ.ร. ไม่เกิน 3 คน ภาคประชาสังคมที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกิน 2 คน เป็นกรรมการ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะสอดคล้องและดำเนินการ หลังจากที่ได้ ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2546 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงบประมาณจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2549 ไปก่อนหน้านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น