xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” กล่าวปาฐกถาพิเศษ 54 ปี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ย้ำระบบราชการยังมีปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน เนื่องในโอกาส54 ปี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่สถาบันนิด้า พร้อมระบุราชการยังมีปัญหา ต้องปรับเปลี่ยนระบบ ประสิทธิภาพรัฐ ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและสังคม

วันนี้ (17 ก.ค. ) เมื่อเวลา 08.30 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ นวัตกรรมทางรัฐประศาสนศาสตร์:ภาวะท้าทายและการเปลี่ยนแปลงในหัวข้อ “การปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน” เนื่องในโอกาส 54 ปี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า การปฏิรูประบบราชการนั้น มีการบรรยายนับครั้งไม่ถ้วน ในการปฏิรูปตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน ส่งผลมากน้อยเพียงใดกับการปรับปรุงระบบราชการในการปฏิบัติภารกิจ คือ เป็นกลไกรัฐในการสนองนโยบายและบริการประชาชนให้สัมฤทธิ์ผล หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 นั้น ก็มีการพูดว่าต้องปฏิรูประบบราชการ โดยมีการเปลี่ยนมาใช้ระบบซี และเปลี่ยนมาเป็นระบบแท่ง รวมทั้งการยุบกระทรวง ทบวง กรม จนยากที่จะพูดว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานนี้ในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้ปฏิรูประบบราชการไว้ บางเรื่องได้สานต่อมา แต่ภาพรวมที่ดำเนินการหลังปี 2544 นั้น มองว่ายังไม่ตรงกับสิ่งที่ตั้งใจไว้เท่าใดนัก โดยได้ประเมินและถอยมาตั้งหลักในด้านภาพรวม ไม่ปฏิเสธว่าความพยายามเปลี่ยนแปลงระบบราชการมีมาทุกยุคสมัย และรัฐบาลเกือบทุกชุดจะแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูประบบราชการ

ทั้งนี้ การปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ครั้งใหญ่มีการตั้ง ก.พ.ร.ที่ทำหน้าที่พัฒนาและปฏิรูประบบราชการอย่างถาวร ซึ่งได้สนับสนุน ก.พ.ร.บางส่วน แต่ส่วนหนึ่งก็คิดมาตลอด ว่า หากมีองค์กรปฏิรูปอย่างถาวรมันไม่ใช่การปฏิรูป แต่มันคือการพัฒนา และมีข้อดี-ข้อเสีย โดยต้องแยกว่าปฏิรูปหรือพัฒนานั้น อะไรดีกว่ากัน แต่สิ่งที่ตนมองว่าเป็นแนวโน้มที่ดีในช่วงเปลี่ยนแปลงหลายปีมา และบางอย่างเป็นปัญหานั้นคืออะไร สำหรับข้อดีที่เกิดจากการปฏิรูประบบราชการ คือ ราชการยอมรับการบริหารจัดการและการบริหารภาครัฐที่มีความหลากหลายขึ้น โดยมีการดำเนินการหลายด้านในการบริหารงานสาธารณะและภาครัฐกระจายไปในรูปเเบบอื่น เช่น การกระจายอำนาจ งานหลายอย่างถ่ายโอนไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจ ที่เป็นผลดีกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย งานหลายอย่างมีการจ้างเอกชนมาดำเนินการและสอดคล้อง เพราะภารกิจบางอย่างไม่จำเป็นต้องบริหารในระบบราชการ เพราะทำให้ไม่ต้องเสียงบประมาณและบุคลากรที่ต้องดูแลสิ่งที่ไม่ใช่ภารกิจหลัก อาทิ การตั้งองค์การมหาชน28เเห่ง บางองค์การก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่บางองค์การประสบความสำเร็จ แนวโน้มเหล่านี้เป็นแนวโน้มที่ดีที่ทำให้เกิดแนวคิด และพยายามนำระบบบริหารจัดการของเอกชน เช่น การประเมิน การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน และนำเทคโนโลยีมาใช้ มันมีความสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจคงความสามารถทางการแข่งขัน

ส่วนด้านปัญหาของระบบราชการนั้นยังมีอีกมาก ทั้งในเรื่องของงบประมาณที่เกี่ยวกับบุคลากร เพราะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินร้อยละ 27 ทั้งๆ ที่มีความพยายามไม่ให้เกินร้อยละ 25 แสดงว่าปัญหานี้ของระบบบุคลากรยังมีมาก และอีกปัญหาหนึ่ง คือ ความพยายามปรับเปลี่ยนระบบการบริหารางานนี้แม้กระทำไปแล้ว แต่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแต่ยังสร้างปัญหาซับซ้อนขึ้นมา เพราะมีทั้งข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายวัน รายเดือน และรายชั่วโมง ทำให้พบว่ามีบุคลากรเพิ่มขึ้น และไม่สามารถสร้างระบบใหม่ที่ลงตัวได้ เพราะยังมีข้อเรียกร้องให้เป็นบรรจุลูกจ้างเป็นพนักงานราชการ แ ละพนักงานราชการบรรจุเป็นข้าราชการ งบประมาณจึงเพิ่มขึ้นจนทำให้งบที่เกี่ยวกับการลงทุนและพัฒนาไม่มากเท่าที่ควร

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า แม้จะมีการนำเทคนิคการจัดการสมัยใหม่และการเปลี่ยนแปลงแนวทางบริหารของราชการ จริงๆ แล้วมันเป็นเพียงรูปแบบที่ไม่สามารถนำเรื่องข้างต้นมาทำได้จริง เช่น ระบบประเมินโบนัส หากมีโอกาสไปคุ้นเคยกับระบบนี้จะพบว่าห่างไกลจากเป้าหมาย เนื่องจากเป็นแค่เพียงรูปเเบบเท่านั้น ยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดการรับผิดชอบ และธรรมาภิบาล รวมถึงวัฒนธรรมที่ติดมากับระบบราชการในช่วงหลายสิบปีนี้ยังเป็นอุปสรรคที่จะทำให้ระบบราชการไม่ตอบสนองเป้าหมายของรัฐบาลเท่าที่ควร ทำให้รัฐบาลต้องตั้งหน่วยงานone start one stop ขึ้นในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งบทบาทของรัฐบาลหลังจากนี้ต้องดูแลการทำงานของเอกชน ไม่ใช่ไปทำงานด้วยตัวเอง โดยรัฐบาลจะปรับเปลี่ยนกฎหมายร่วมทุนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกให้เอกชน

ทั้งนี้ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ระบบคุณธรรมโดนบั่นทอนมาก ไม่มีใครมีสิทธิบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว ต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้านการศึกษาเพราะระบบราชการในปัจจุบัน โดนแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองที่ยืดเยื้อมาอยู่จนถึงปัจจุบัน ข้าราชการระดับสูงเสียความมั่นใจที่จะยืนยันความเห็นทางวิชาชีพ เพราะต้องฟังฝ่ายการเมืองก่อนไม่ใช่ฟังรัฐบาล ในด้านการจัดการและดำเนินการตามนโยบาย เพราะฝ่ายการเมืองแทรกแซงระบบราชการจนเกิดความกลัว และหลังการแทรกแซงนั้น มันรวมการทุจริตด้วย หลังเกิดการรัฐประหาร ภาพต่างๆ เริ่มชัดขึ้น เมื่อมีการชำระตรวจสอบเกิดขึ้น มันทำให้ข้าราชการกลัวที่จะกระทำสิ่งใดๆทั้งสิ้น มีการลงโทษที่รุนแรง เพราะไม่ปฏิบัติตามระเบียบ แม้ข้าราชการจะเป็นส่วนหนึ่งในการประชุมก็โดนดำเนินคดี ตรงนี้มันเป็นปัญหาใหญ่ที่ตกค้างมาในการสร้างขวัญและกำลังใจให้ข้าราชการปฏิบัติราชการตามมาตรฐาน

ด้านภาพรวมของระบบราชการนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จำเป็นต้องปรับปรุงในการปฏิรูปหรือพัฒนา แต่ข้อจำกัดในด้านกฎหมายข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2550 นั้น เพราะต้องออกกฎหมายลูกหลานอีกมากมายที่ต้องใช้เวลามาก เนื่องจากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดภาระและความสับสน ถือเป็นข้อจำกัดในการปฏิรูประยะต่อไป สำคัญที่สุดคือ หากมองไปในอนาคตระบบราชการต้องการประสิทธิภาพเพื่อสนองเป้าหมายคือบริการประชาชนและนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่ความสัมฤทธิผล โจทย์ใหญ่ที่ไม่พูดกัน คือ การมองภาพรวมของบทบาทภาครัฐที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามสังคมและเศรษฐกิจระดับโลก ตรงนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริง

สำหรับประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า โครงการทางเศรษฐกิจนั้น หากรัฐไปประกอบการเองจะมีปัญหาเพราะไม่มีกลไกการแข่งขัน มันนำไปสู่การไม่มีประสิทธิภาพ ชัดเจนว่า วันข้างหน้าเอกชนต้องมีบทบาทมากขึ้น แม้แต่บริการสาธารณะที่จากนี้ต้องมีการแข่งขันระหว่างรัฐกับเอกชน บทบาทรัฐทางเศรษฐกิจ คือ อำนวยความสะดวกในการบริหารและกำกับดูแล โดยไม่ใช่ควบคุมดูแลตัวเอง แต่ต้องชำระสะสางองค์กรเหล่านี้ก่อน เช่นองค์กรสื่อและโทรคมนาคมที่ประสบความลำบากในการทำงาน เช่น กทช., กสช.รวมทั้ง กสทช.องค์กรที่เกี่ยวกับพลังงาน ขนส่ง น้ำ ยังไม่มีรูปแบบที่ลงตัวและทำหน้าที่นี้ได้อย่างไม่มีข้อสงสัย มันคือจุดสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลง ส่วนระบบหุ้นส่วนของรัฐกับเอกชนที่ต้องปรับปรุงกติกานั้น รัฐบาลกำลังดำเนินการสิ่งเหล่านี้ทิศทางที่ต้องเดินไป แต่ในทางกลับกัน ภาระด้านสังคมและสวัสดิการนั้นต้องสร้างความเติบโตในภาครัฐเพราะพิสูจน์แล้วว่ารวมกับเอกชนไม่ได้

สุดท้ายนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สังคมที่เปลี่ยนแปลงมีอยู่สองด้านคือ อายุเฉลี่ยของประชากรที่มากขึ้น รวมทั้งการตื่นตัวทางด้านสิทธิของประชาชน ซึ่งเป็นงานที่ต้องเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ต้องดูระบบริหารจัดการว่าจะทำแบบใดจึงจะเกิดประสิทธิภาพ รัฐบาลนี้เริ่มต้นแล้วจากเบี้ยยังชีพที่ต้องเข้าสู่ระบบประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการลงทะเบียนและจ่ายเงิน รวมทั้งต้องโปร่งใสด้านการใช้จ่ายงบประมาณด้วย มันเป็นก้าวต่อไปในการปรับปรุงระบบราชการ เมื่อตั้งโจทย์นี้แล้วจะไปยุบกระทรวงและงบประมาณนั้น มันเป็นรายละเอียดที่ต้องรับใช้เป้าหมายใหญ่นี้ โดยหวังว่า การเร่งดำเนินการกับสิ่งตกค้างนั้นจะกระทำไปโดยเร็ว เพราะมันสำคัญสุดในการพัฒนาระบบราชการ










กำลังโหลดความคิดเห็น