xs
xsm
sm
md
lg

หารืออุดโหว่แอดมิชชัน 53 สอบ GAT, PAT ไม่เกิน 3 หน ค้าน ม.สอบตรง ชี้ พ่อแม่เสียค่าใช้จ่ายสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
ปธ.แอดมิชชัน ปี 53 เตรียมถกกระบวนการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัย แย้มเห็นจุดโหว่ สทศ.ให้เด็กสอบ GAT, PAT หวั่นเด็กแห่สอบเกิน 3 ครั้ง เตรียมอุดช่องโหว่ ให้สอบไม่เกิน 3 ครั้ง ด้าน “วรากรณ์” ค้านมหา’ลัย รับตรงจัดสอบเอง สร้างรายได้ให้คณะ มหาวิทยาลัย แต่เด็กต้องวิ่งรอกสอบ ผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายสูง

รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแอดมิชชัน ปี 2553 กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งเรียกร้องขอรับตรง โดยให้เหตุผลว่าเด็กผ่านการสอบแอดมิชชัน เด็กไม่สามารถเรียนได้ เกรดตก ต้องดร็อป ติด F ซึ่งปัญหาเรื่องนี้จะนำไปหารือร่วมกันในที่ประชุมอธิการบดี 13 มีนาคมนี้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อาจมีผลกระทบต่อเด็กจำนวนมาก ต้องคิดกันอย่างรอบครอบ สมมติว่า ให้มหาวิทยาลัยรับตรงมากขึ้น คงไม่ใช่ให้มหาวิทยาลัยออกข้อสอบกันเอง

อีกเรื่องในปี 2553 จะใช้คะแนน GAT, PAT ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ออกข้อสอบ ซึ่งจะให้นักเรียน ม.5 และ ม.6 สามารถสมัครสอบ ปีละ 3 ครั้ง แล้วเลือกคะแนนครั้งที่ดีที่สุด ตอนนี้กำลังจะพบปัญหาใหม่ เนื่องจาก สทศ.ให้เด็ก ม.ปลาย สมัครสอบ GAT, PAT เกรงว่า เด็กจะสอบเกิน 3 ครั้งน่าจะถึง 6 ครั้ง คงต้องมาหารือกันว่าจะให้สอบได้แค่ 3 ครั้ง หาสอบได้ทุกครั้งแล้วเลือกครั้งที่ดีที่สุด

ผมเชื่อว่า นักเรียนจะสอบทุกครั้งที่ สทศ.เปิดสอบ จะทำให้เด็กเรียนอยู่ ม.5 สมัครสอบ จะเกินกว่าที่กำหนด ตรงจุดนี้อาจมีการได้เปรียบเสียเปรียบ ยิ่งสอบหลายครั้งผลการสอบน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะรู้แนวข้อสอบ อีกเรื่องเป็นโจทย์ที่ สทศ.ต้องทำการบ้านอย่างหนัก ก็คือ ข้อสอบแต่ละครั้งได้มาตรฐานใกล้เคียงกันหรือไม่ ถึงแม้ว่าคะแนน GAT, PAT เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นำมาใช้เป็นองค์ประกอบในการเข้ามหาวิทยาลัย แต่ก็มีผลกับอนาคตของเด็ก”

นายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงความเห็นว่า ส่วนตัวไม่อยากให้มหาวิทยาลัยเปิดรับตรง ในมีลักษณะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต่างออกข้อสอบของตนเอง เพราะจะทำให้เด็กวิ่งรอกสอบหลายมหาวิทยาลัย การสอบหลายครั้งจะสร้างความเครียดให้กับเด็ก เพราะต้องอ่านหนังสือจำนวนมาก หลายวิชา พร้อมกันนี้ การสมัครสอบแต่ละครั้งผู้ปกครองต้องมีค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบ ค่าเดินทาง หากเด็กอยู่เชียงใหม่ แต่อยากเข้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มหิดล เป็นต้น เด็กต้องเดินทางจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ อีกทั้งการที่มหาวิทยาลัยรับตรง ยังสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างมหาวิทยาลัยอีกด้วย

เด็กทุกคนใฝ่ฝันอยากเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง อย่าง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล เกษตรฯ ฯลฯ กันทั้งนั้น จนที่นั่งไม่พอ ขณะที่มหาวิทยาลัยต่างจังหวัดหลายแห่งมีเก้าอี้เหลือ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากจะเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยรับตรง เพื่อให้เด็กเก่ง เด็กหัวกะทิ มีที่นั่งเรียนมากๆ น่าจะใช้ข้อสอบกลาที่ได้มาตรฐาน เสมือนการันตีว่าคัดเด็กตรงตามความต้องการ และแก้ปัญหาเด็กติด F

“รู้มั้ยมหาวิทยาลัยอย่างรับตรง ออกข้อสอบกันเอง คณะ มหาวิทยาลัยจะมีรายได้จากการจัดสอบเข้ามาเป็นกอบเป็นกำ แถมยังได้เด็กที่ต้องการเรียนจริงๆ แน่นอนเมื่อได้เด็กที่ตั้งใจและมีความประสงค์อยากเรียน เด็กจะตั้งใจเรียน ปัญหาติด F คงหมดไป หรือมีน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ถ้ามหาวิทยาลัยต้องการรับตรงควรมีการรวมกลุ่มกันหลายมหาวิทยาลัย เหมือนคณะแพทย์ ทันตกรรม ซึ่งใช้ข้อสอบเดียวกัน วิธีนี้น่าจะลดความเครียดของเด็กและลดค่าใช้จ่าย”

ขณะที่ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ข้อเท็จจริงแล้ว คุณภาพนิสิตนักศึกษามีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระบบการศึกษาไปจนถึงระบบแอดมิสชั่นส์ ซึ่งไม่เป็นธรรม หากจะโทษระบบแอดมิสชั่นส์อย่างเดียว ส่วนที่ ทวท.ระบุสาเหตุหนึ่งว่า มาจากการสอบวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ รวม 3 วิชานั้น ต้องมองย้อนไปถึงระบบการเรียนการสอนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ปัจจุบันสอนฟิสิกส์ เคมี และชีวะ รวมอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ไม่ได้แยกรายวิชาเหมือนอดีต ดังนั้น การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสูง หรือ"เอเน็ต" จึงไม่สามารถแยกสอบวิทยาศาสตร์ออกเป็น 3 วิชาได้

"ที่ถามว่า ในปีการศึกษา 2553 ปัญหาจะยังคงมีอยู่หรือไม่ เพราะการวัดความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ หรือ PAT วิทยาศาสตร์ ยังคงสอบวิทยาศาสตร์ 3 วิชารวมกันนั้น ปัญหาอาจมีอยู่ อีกทั้ง การวัดความถนัดทั่วไป หรือ GAT และ PAT เพิ่งจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2553 จึงยังไม่มีข้อมูล และระบบที่เป็นรูปธรรม ที่ผ่านมา ที่พูดกันว่าไม่เชื่อมั่น GAT และ PAT ว่าจะแม่นยำพอจะทำนายความถนัดแต่ละวิชาชีพนั้น เป็นการพูดด้วยความรู้สึก แต่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ หรืองานวิจัยรองรับ ดังนั้น ทปอ.จะศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการใช้ GAT และ PAT โดยจะพูดคุยเรื่องนี้อีกครั้งในที่ประชุม ทปอ.เดือนมิถุนายน ตลอดจนหารือในประเด็นที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ห่วงใยว่า ระบบแอดมิสชั่นส์ไม่สามารถคัดเด็กที่มีคุณภาพได้" นพ.ภิรมย์กล่าว

นพ.ภิรมย์กล่าวว่า หากศึกษาวิจัยแล้วพบว่า PAT ไม่แม่นยำพอที่จะทำนายความถนัดทางวิชาชีพได้ ก็เป็นไปได้ว่าจะเปลี่ยนแปลง โดยอาจสอบวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องพูดคุยกันต่อไป แต่การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะไม่ทำในปีการศึกษา 2553 แน่นอน อาจเริ่มในปีการศึกษา 2554-2555 ซึ่งส่วนตัวไม่มีอัตตา หากพบปัญหาก็พร้อมจะแก้ไข แต่ต้องอยู่บนหลักฐาน หรืองานวิจัย ส่วนจะต้องแจ้งเด็กล่วงหน้า 3 ปีเพื่อเตรียมตัวนั้น คิดว่า ถ้ามีเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนแปลงก่อนหน้านั้น และมีหลักฐานเชิงประจักษ์มาชี้แจงได้ คิดว่านักเรียน และผู้ปกครองคงเข้าใจ และยอมรับได้ สำหรับจุฬาฯ มีแนวคิดว่าหลังจากรับนิสิตโดยใช้ข้อสอบ GAT และ PAT เข้ามาแล้ว คณะวิทยาศาสตร์จะให้เด็กทดสอบฟิสิกส์ เคมี และชีวะ ที่เรียกว่า CU-Science เพื่อดูความสัมพันธ์กับผลการเรียนหลังจบภาคเรียนที่ 1/2553 และภาคเรียนที่ 2/2553 ซึ่งจะตรวจสอบได้ว่าข้อสอบ GAT และ PAT มีความแม่นยำในการทำนายแค่ไหน

“ที่หลายๆ คณะในมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่มั่นใจว่า GAT และ PAT จะเป็นเครื่องมือที่คัดแยกเด็กได้ตรง ตามความถนัดในวิชาชีพต่างๆ นั้น ไม่เป็นไร แต่ในปีการศึกษา 2553 ผมได้มอบหลักการให้กับคณบดีของจุฬาฯ แล้วว่า จะทำอย่างไรก็ได้ ต้องสร้างภาระให้กับเด็ก และผู้ปกครองน้อยที่สุด คือต้องไม่สอบเอง ยกเว้นจำเป็นจริงๆ และขอให้ใช้ข้อสอบกลาง และองค์ประกอบที่ ทปอ.กำหนด คือ GAT, PAT, การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต และคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย หรือจีแพ็กซ์ เพียงแต่มากำหนดค่าน้ำหนักใหม่ ซึ่งแต่ละคณะ จะหาข้อสรุปให้ได้ก่อนวันที่ 31 มกราคม 2553 ตามที่ ทปอ.กำหนด"นพ.ภิรมย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น