xs
xsm
sm
md
lg

คณะวิทย์จวกแอดมิชชันทำ นศ.คุณภาพแย่ เผยเรียนไม่ไหว-ลาออกเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจารย์ฟิสิกส์ จวก “แอดมิชชัน” คัดเด็กไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ได้เด็กเก่งน้อยลง เอเน็ตไม่ถูกนำมาพิจารณาเท่าที่ควร หนำซ้ำยังคัดเลือกเด็กได้ไม่ตรงตามที่แต่ละคณะต้องการ ระบุนักเรียนให้ความสนใจเข้าเรียนวิทยาศาสตร์ต่ำลงมาก


จากการประชุมเรื่อง “ผลของการสอบ Admisssion ต่อการเรียนฟิสิกส์ของนิสิตนักศึกษา”เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง นายกสมาคมฟิสิกส์ไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากขณะนี้นิสิตนักศึกษาไทยที่เรียนวิทยาศาสตร์มีองค์ความรู้น้อยมาก หากเทียบกับนิสิตนักศึกษาในต่างประเทศ เนื้อหาหลายเรื่องที่นิสิตนักศึกษาในต่างประเทศเรียนในชั้นปีที่ 1 แต่นิสิตนักศึกษาไทยจะเรียนในชั้นปี 3 หรือองค์ความรู้ของนิสิตปริญญาเอกของไทย เท่ากับองค์ความรู้ของนิสิตนักศึกษาต่างประเทศที่เรียนปริญญาตรีเท่านั้น และถ้าเป็นเช่นนี้ไทยจะไปแข่งขันหรือทำงานกับประเทศได้อย่างไร
ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากการวิจัยผลกระทบของระบบแอดมิชชันกับคุณภาพและความสามารถในการศึกษาของนิสิตชั้นปีที่1 ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โดยใช้ผลการสอบจากการคัดเลือกด้วยระบบเอนทรานซ์ปี 2548 กับระบบแอดมิชชัน ปี 2549 โดยเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยในสาระคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ พบว่า ลดลงในสัดส่วนร้อยละ 20 และ 30 นอกจากนี้ ความสามารถของนักเรียนที่เข้าเรียนครึ่งหนึ่งไม่ถึงเกณฑ์ ส่งผลให้ความสามารถในการศึกษาต่อลดลงด้วย ซึ่งปัจจัยของปัญหา เพราะระบบแอดมิชชั่นที่ข้อสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-NET) ไม่ได้รับการพิจารณาเท่าที่ควร และส่วนหนึ่งเด็กนิยมเรียนฟิสิกส์น้อยลง

ดังนั้น การแก้ปัญหา ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้เด็กรู้ความจำเป็นวิชาฟิสิกส์ และกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำในทักษะที่มีความจำเป็นต่อการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เช่น ข้อสอบ A-NET และแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET ) อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ในแต่ละปีก็ลาออกกลางคันจำนวนมากขึ้น เพราะเรียนไม่ได้ด้วย

รศ.สุวรรณ คูสำราญ อาจารย์ประจำภาคฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่า ตนสอนวิชาฟิสิกส์ และในปีการศึกษา 2550 มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่เรียนวิชาฟิสิกส์กับตน ประมาณ 2,000 คน ในจำนวนนี้ ติด F วิชานี้ถึงประมาณ 700 คน ทั้งที่ข้อสอบที่ออกไม่ได้ยากเลย แสดงว่าเด็กกลุ่มนี้มีความรู้วิชาฟิสิกส์น้อยมาก หรือไม่มีเลย แต่ก็ยังเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยได้ บ่งบอกว่าการคัดเลือกด้วยระบบแอดมิชชันไม่เหมาะสม

รศ.ดร.บุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า จากที่ตนเป็นกรรมการบริหารสำนักงานรับรอบมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ทำให้ทราบว่าขณะนี้เด็กมาเรียนคณะวิทยาศาสตร์น้อยลง โดยเฉพาะสาขาฟิสิกส์มีเด็กมาเรียนน้อยมาก และบางมหาวิทยาลับแทบไม่มีคนมาเรียนเลย ขณะที่คนมาเรียนก็มีคุณภาพต่ำ โดยดูได้จากผลการสอบในมหาวิทยาลัย แสดงว่า ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากระบบแอดมิชชัน ที่ยังไม่สามารถคัดเลือกเด็กให้ตรงกับที่มหาวิทยาลัยต้องการหรือตามความถนัดของเด็กอย่างแท้จริง ดังนั้น เราต้องมาช่วยกันดูว่าจะมีวิธีคัดเลือกเด็กหรือแยกเด็กได้อย่างไร ถึงจะเหมาะสม โดยเฉพาะเด็กที่จะมาเรียนสายวิทยาศาสตร์จะต้องคัดเด็กเก่ง มีความกระตือรือร้น และกระหายความรู้ เพราะจากประสบการณ์เด็กเหล่านี้จะประสบความสำเร็จในการศึกษา

ด้าน ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ระบบแอดมิชชันส่งผลกระทบโดยตรงกับคณะวิทยาศาสตร์ ที่ระบบดังกล่าวไม่สามารถคัดเด็กได้ตามที่ต้องการ และส่งผลให้เด็กบางคนที่ไม่เก่งหรือมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอยังเข้ามาเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ได้ แต่พอมาเรียนก็เรียนไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ที่ประชุมสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยเป็นห่วง และหาทางออกเรื่องนี้อยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น