xs
xsm
sm
md
lg

สรุปแอดมิชชัน 53 ใช้สูตรเดิม สทศ.จัดสอบ GAT-PAT แห่งเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทปอ.สรุปยืนยันองค์ประกอบสอบแอดมิชชันกลางปี 2553 โดยให้การสอบ GAT และ PAT จัดสอบโดย สทศ.แห่งเดียว ป้องกันนักเรียนวิ่งรอกสับสน ชี้ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เน้นรับตรง เตรียมออกคู่มือข้อมูลการรับตรงของทุกมหาวิทยาลัยว่าสาขาใดต้องสอบวิชาใดบ้าง พร้อมจะเสนอเพิ่มสอบ GAT และ PAT ให้นักเรียน ม.5 ปีนี้ ที่เตรียมตัวไม่ทัน

เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2551 ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นางอุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และนางศศิธร อหิงสโก ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรง และระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ ปีการศึกษา 2553 โดยมีรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายมณฑล กล่าวว่า องค์ประกอบและค่าน้ำหนักที่จะใช้ในแอดมิชชัน ปีการศึกษา 2553 ในแต่ละกลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ กลุ่มที่ 1.กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ แบ่งเป็น เภสัชศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ สหเวชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ วิทยาศาสตร์การกีฬา พลศึกษา และสุขศึกษา ประกอบด้วย ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรม.ปลาย (GPAX) ร้อยละ 20 ผลการสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ร้อยละ 30 ผลการสอบความถนัดทั่วไป (GAT) ร้อยละ 20 และผลการสอบความถนัดเฉพาะวิชาชีพ และวิชาการ (PAT) 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ ร้อยละ 30 ส่วนทันตแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ประกอบด้วย GPAX ร้อยละ 20 O-NET ร้อยละ 30 GAT ร้อยละ 30 และ PAT (2) ร้อยละ 20

กลุ่มที่ 2.กลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วย GPAX ร้อยละ 20 O-NET ร้อยละ 30 GAT ร้อยละ 10 PAT(1) ความถนัดทางคณิตศาสตร์ ร้อยละ 10 และPAT(2) ร้อยละ 30 กลุ่มที่ 3.กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย GPAX ร้อยละ 20 O-NET ร้อยละ 30 GAT ร้อยละ15 PAT(2) ร้อยละ15 และ PAT(3) ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ ร้อยละ 20 กลุ่มที่ 4.กลุ่มสถาปัตยกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย GPAX ร้อยละ 20 O-NET ร้อยละ 30 GAT ร้อยละ 10 และ PAT(4) ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร้อยละ 40 กลุ่มที่ 5.กลุ่มเกษตรศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร วนศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร ประกอบด้วย GPAX ร้อยละ 20 O-NET ร้อยละ 30 GAT ร้อยละ 20 PAT(1) ร้อยละ 10 และ PAT(2) ร้อยละ 20 กลุ่มที่ 6. กลุ่มบริหาร แบ่งเป็น บริหารธุรกิจ พาณิชยศาสตร์ การบัญชี และเศรษฐศาสตร์ ประกอบด้วย GPAX ร้อยละ 20 O-NET ร้อยละ 30 GAT ร้อยละ 30 และ PAT(1) ร้อยละ 20 ส่วนการท่องเที่ยวและโรงแรม ประกอบด้วย GPAX ร้อยละ 20 O-NET ร้อยละ 30 และ GAT ร้อยละ 50

กลุ่มที่ 7.กลุ่มครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์ ประกอบด้วย GPAX ร้อยละ 20 O-NET ร้อยละ 30 GAT ร้อยละ20 และ PAT(5) ความถนัดทางครู ร้อยละ 30 กลุ่มที่ 8.กลุ่มศิลปกรรม ดุริยางศิลป์ และนาฏศิลป์ ประกอบด้วย GPAX ร้อยละ 20 O-NET ร้อยละ 30 GAT ร้อยละ 10 และ PAT(6) ความถนัดทางศิลปะ ร้อยละ 40 และกลุ่มที่ 9 กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมวิทยา สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ แบ่งเป็น พื้นฐานวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย GPAX ร้อยละ 20 O-NET ร้อยละ 30 GAT ร้อยละ 40 และ PAT(1) ร้อยละ 10 ส่วนพื้นฐานศิลปะศาสตร์ รูปแบบที่ 1 ประกอบด้วย GPAX ร้อยละ 20 O-NET ร้อยละ 30 และGAT ร้อยละ 50 และรูปแบบที่ 2 ประกอบด้วย GPAX ร้อยละ 20 O-NET ร้อยละ 30 GAT ร้อยละ 40 และ PAT(7) ความถนัดในการเรียนภาษาต่างประเทศ ร้อยละ 10

นายมณฑล กล่าวว่า กรณีที่ มหาวิทยาลัยจะขอเพิ่มค่าน้ำหนักของ GAT และ PAT ในบางสาขาวิชาก็ให้ใช้วิธีการรับตรงแทน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ซึ่ง ทปอ.จะรวบรวมข้อมูลจัดทำคู่มือการรับตรงของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ให้นักเรียนได้ทราบว่าสาขาใดต้องสอบวิชาใดเพิ่มบ้าง แต่ต้องมาใช้ข้อสอบกลางของ สทศ. เท่านั้น ทั้งนี้ คู่มือสำหรับรับตรงจะเสร็จภายในเดือนเมษายน 2552 และคู่มือแอดมิสชั่นส์กลาง ภายในเดือนมกราคม พ.ศ.2553

“การที่ให้ใช้ข้อสอบกลางของ สทศ.ที่เดียว เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเด็กวิ่งสอบหลาย ที่ และนักการเมืองจะได้ไม่มีคำถามอีกว่า การรับตรงจะทำให้เด็กต้องวิ่งรอกสอบ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดรับตรงแล้วถึงร้อยละ 60-70 และอนาคตการแอดมิชชั่นจะเหลือเพียงร้อยละ 30 คือ เด็กที่ถูกมหาวิทยาลัยให้ออก คนที่แอดมิสชั่นส์ไม่ติดในปีที่ผ่านมา และคนที่อยากเรียนมหาวิทยาลัยที่ตนเองใฝ่ฝัน แต่ส่วนใหญ่จะติดรับตรงกันหมดแล้ว” นายมณฑล กล่าว

นอกจากนั้น ทปอ.จะเสนอเสนอให้ สทศ.เพิ่มวันสมัครสอบ GAT และ PAT ให้นักเรียนชั้นม.5 ปีนี้ ที่เตรียมตัวไม่ทัน พลาดการสมัครครั้งแรกที่จะสิ้นสุดสิ้นเดือนตุลาคมนี้ สามารถไปสมัครได้อีกครั้ง ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2552 เพื่อสอบในเดือนกรกฎาคมและตุลาคมปี 2552

ด้าน นางอุทุมพร กล่าวว่า สำหรับการสอบ GAT และ PAT นั้น เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้น ม.5-6 หรือเทียบเท่า และ/หรือเป็นนักเรียนที่จบการศึกษาในระดับชั้น ม.ปลายแล้วเท่านั้นมีสิทธิ์สมัครสอบ ซึ่งจะต้องเสียค่าสมัครสอบวิชาละ 200 บาทไม่รวมค่าธรรมเนียม โดย GAT เป็นการวัดศักยภาพในการเรียนในมหาวิทยาลัยให้ประสบความสำเร็จ คะแนนเต็ม 300 คะแนน ใช้เวลาสอบ 3 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ความสามารถในการอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ และแก้โจทย์ปัญหา ร้อยละ 50 และความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ร้อยละ 50 ส่วน PAT เป็นการวัดความรู้ที่เป็นพื้นฐานที่จะเรียนต่อในวิชาชีพนั้นๆ กับศักยภาพที่จะเรียนในวิชาชีพนั้นๆ ให้ประสบความสำเร็จ โดยแต่ละ PAT มีคะแนนเต็ม 300 คะแนน ใช้เวลาสอบ 3 ชั่วโมง ทั้งนี้การสอบ GAT และ PAT จะเปิดรับสมัครปีละ 1 ครั้งเท่านั้น โดยในปี 2552 (มี.ค. ก.ค.และ ต.ค.52) จะเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.นี้

ส่วนที่มีการระบุว่า การสมัครสอบ GAT และ PAT ในแอดมิสชั่นส์ ปี 2553 ทำให้นักเรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าการสอบในระบบเดิม เนื่องจากจะต้องเสียค่าใช้จ่ายรายวิชาละ 200 บาท และค่าธรรมเนียมการสมัครสอบอีกประมาณ 300 บาท เช่น หากนักเรียนเลือกสอบ GAT และ PAT รวม 5 วิชา จะต้องเสียค่าสมัครสอบรวม 1,300 บาทนั้น เรื่องนี้ขอชี้แจงว่าในการสมัครสอบแอดมิสชั่นส์ในรูปแบบเดิม นักเรียนจะต้องเสียค่าสมัครในการสอบรายวิชาแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-NET) ซึ่งหากนักเรียนเลือกสมัครหลายวิชารวมแล้วก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกันอยู่แล้ว ส่วนจะทำให้เด็กที่ครอบครัวมีรายได้มีความได้เปรียบเสียบเปรียบหรือไม่นั้น หากเด็กมีการเตรียมตัวสอบที่ดีและมีความพร้อมก็คงไม่มีปัญหา เพราะสอบครั้งเดียวอาจจะได้คะแนนมากกว่าเด็กที่สอบหลายครั้งก็ได้

“นักเรียนไม่จำเป็นต้องสมัครสอบทุก PAT ควรเลือกสมัครเฉพาะ PAT ที่เกี่ยวข้องกับคณะหรือสาขาวิชาที่ต้องการจะเข้าศึกษาต่อ เพราะจะทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้สมัครสอบที่ได้สมัครและชำระเงินค่าสมัครมาแล้ว ไม่สามารถโอนหรือเปลี่ยนรายวิชาที่ได้เลือกสอบแล้วในการสอบแต่ละครั้ง แต่สามารถขอเพิ่มรายวิชาได้ โดยส่งคำขอมาได้ที่โทรสาร.02-219-2996 โดย สทศ.จะยึดข้อมูลการสมัครครั้งหลังสุดที่มีการชำระเงินเรียบร้อยแล้วเท่านั้น” นางอุทุมพร กล่าวและว่า สำหรับการสอบ GAT และ PAT ครั้งที่ 1 จะจัดสอบในวันที่ 7-15 มี.ค.2552 ประกาศผลสอบวันที่ 30 พ.ค.2552 ทาง www.niets.or.th

นางอุทุมพร กล่าวอีกว่า สำหรับการคัดเลือกนักศึกษาในระบบแอดมิชชัน ในปีการศึกษา 2552 นั้น สทศ.จะเปิดรับสมัครสอบ O-NET ม.6 ปีการศึกษา 2551 สำหรับนักเรียนเทียบเท่าชั้น ม.6 ได้แก่ โรงเรียนช่างฝีมือทหาร โรงเรียนกศน. โรงเรียนอาชีวศึกษา และโรงเรียนวิทยานาฏศิลป์ โดยสามารถสมัครสอบ ผ่านทาง www.niets.or.th ตั้งแต่วันที่ 1-15 พ.ย.นี้ และสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบ เลขที่นั่งสอบ ผ่านทาง www.niets.or.th ได้ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.2552 ทั้งนี้ในวันสอบหากนักเรียนไปผิดสนามสอบ และไม่มีเลขที่นั่งสอบ จะไม่มีสิทธิ์สอบ หรือหากไปสายเกิน 30 นาที จะไม่มีสิทธิ์สอบในวิชานั้น อย่างไรก็ตามในปีนี้ สทศ.ได้มีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติม โดยห้ามนำเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารเข้าห้องสอบ จะต้องนั่งสอบจนมหดเวลาสอบ และอนุญาตให้นำนาฬิกาเข้าห้องสอบเฉพาะนาฬิกาธรรมดาที่ใช้ดูเวลาเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตเหมือนปีที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น