จุฬาฯ แจงยิบเหตุมุ่งรับตรง เมิน “แอดมิชชัน” เผยปี 2553 เปิดรับตรงเพิ่มขึ้น จากเดิมเคยรับตรง 30% ปรับเพิ่มเป็น 60% อักษรศาสตร์ ระบุ เหตุรับตรง 100% เพราะองค์ประกอบ PAT7 แค่ 10% ที่ ทปอ.กำหนดไม่สามารถคัดเด็กได้ตรงตามต้องการ ขณะที่วิศวกรรมศาสตร์ รับตรง 80% จากเดิมรับตรงแค่ 8% ส่วนคณะวิทยาศาสตร์ รับตรงเป็น 53% จากเดิมเพียง 31% แถมลดการใช้ GPAX ที่ ทปอ.กำหนดไว้ 20% เหลือแค่ 10%
วันนี้ (4 มี.ค.) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แถลงข่าวการคัดเลือกนิสิตเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2553 ของจุฬาฯ ว่า ในปีการศึกษา 2553 จุฬาฯ จะยึดหลักการรับนิสิตโดยให้นักเรียนและผู้ปกครองเดือดร้อนน้อยที่สุด มีภาระน้อยที่สุด และเปิดโอกาสให้นักเรียนให้มากที่สุด โดยได้วางแผนรับนิสิตไว้ 6,003 คน แยกเป็นระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชันกลาง 2,420 คน คิดเป็น 40% และรับตรง 60% จำแนกเป็น รับตรงปกติ 2,479 คน คิดเป็น 41% รับตรงพิเศษ (โครงการจุฬาฯ ชนบท, โครงการกีฬาดีเด่น, โครงการศิลปะดีเด่น โครงการผู้มีความสามารถพิเศษฯ โครงการสถาปัตยกรรมไทย) 1,104 คน คิดเป็น 19%
ทั้งนี้ จำนวนดังกล่าวยังไม่รวมนิสิตนานาชาติ 890 คน และเมื่อเทียบกับจำนวนรับนิสิตของปีการศึกษา 2552 พบว่าสัดส่วนการรับตรงเพิ่มขึ้น 30% โดยจากเดิมอยู่ที่แอดมิชชันกลาง 70% และรับตรง 30%
นพ.ภิรมย์ กล่าวต่อไปว่า จุฬาฯ ขอยืนยันว่าเห็นด้วยกับระบบแอดมิชชันกลาง เพราะเอื้อต่อนักเรียนและหน่วยรับ แต่จุฬาฯ จำเป็นต้องรับตรงในรูปแบบต่างๆ ด้วย เพื่อให้ตรงกับปรัชญาและโครงการของคณะต่างๆ ซึ่งในปีการศึกษา 2553 ทปอ.ได้ปรับการทดสอบมาเป็นการวัดความถนัดทั่วไปหรือ GAT และการวัดความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ หรือ PAT โดยกำหนดสัดส่วนและค่าน้ำหนักของแต่ละวิชาเพื่อให้ใช้ร่วมกันในทุกสถาบัน
“สัดส่วนและน้ำหนักดังกล่าวพบว่าไม่เหมาะสมกับเกณฑ์การรับนิสิตของบางคณะ ดังนั้น จุฬาฯ จึงต้องรับตรงเพิ่มขึ้นในสาขาเหล่านั้น เช่น คณะอักษรศาสตร์ ปีการศึกษา 2553 จุฬาฯ จะรับตรงทั้งหมด 100% จากเดิมรับในระบบแอดมิชชัน 100% คณะวิศวกรรมศาสตร์ รับตรง 80% จากเดิมรับตรงแค่ 8% คณะวิทยาศาสตร์ รับตรง 53% จากเดิมเพียง 31% เป็นต้น โดยในการรับตรงทุกคณะ จะรับสมัคร 2 รอบ รอบแรกสำหรับโครงการผู้มีความสามารถพิเศษซึ่งจะประกาศผลต้นเดือนพฤศจิกายน หากรอบแรกไม่ผ่าน ก็สามารถสมัครรอบ 2 สำหรับโครงการรับตรงทั่วไป ซึ่งจะรับสมัครกลางเดือนพฤศจิกายน โดยรอบที่ 2 นักเรียนมีโอกาสเลือกได้ถึง 4 อันดับ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการครั้งแรกในปีการศึกษา 2553 และหากนักเรียนไม่ผ่านการคัดเลือกแบบรับตรง ก็สามารถไปสมัครแอดมิชชันได้อีก”นพ.ภิรมย์ กล่าว
อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวต่อไปว่า การรับตรงทุกคณะยังคงใช้องค์ประกอบหลัก 3 ส่วนที่ ทปอ.กำหนด คือ คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรม.ปลาย หรือ GPAX รวมถึง GAT และ PAT ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดทดสอบ แต่จะปรับค่าน้ำหนักให้เหมาะสม เช่น คณะอักษรศาสตร์ ที่ ทปอ.กำหนดค่าน้ำหนัก PAT 7 ความถนัดในการเรียนภาษาต่างประเทศ เพียง 10% จุฬาฯ จะเพิ่มค่าน้ำหนักในส่วนนี้เป็น 30% เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อเด็กเข้ามาเรียนแล้วสามารถเรียนได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ คะแนน GAT และ PAT ที่นำมาใช้ จะต้องเป็นผลคะแนนของการสอบครั้งที่ 2 ในวันที่ 4-12 กรกฎาคมเท่านั้น เพื่อสร้างความยุติธรรมให้แก่เด็ก เพราะถือว่าได้รับทราบข้อมูลพร้อมกัน ใช้ข้อสอบชุดเดียวกันและเข้าสู่สนามสอบในเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ จุฬาฯ จะจัดสอบความรู้เพิ่มเติมในส่วนที่ สทศ.ไม่ได้จัดสอบให้ อาทิ ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ ทักษะดนตรีสากล เป็นต้น โดยจะจัดสอบตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2552 เพื่อนักเรียนจะได้รู้คะแนนของตนเองในทุกวิชาก่อนมายื่นรับตรง
นพ.ภิรมย์ กล่าวอีกว่า ส่วน GPAX จะให้ค่าน้ำหนักในการรับตรง 10% จากที่ ทปอ.กำหนด 20% โดยจะใช้ GPAX ใน 5 ภาคเรียนเท่านั้น สาเหตุที่ให้ค่าน้ำหนัก GPAX แค่ 10% เพราะได้มีการวิจัยออกมาแล้วว่าการให้ค่าน้ำหนัก GPAX เพียง 10% เหมาะสมแล้ว หากให้ค่าน้ำหนักสูงอาจไม่ยุติธรรมแก่เด็ก เพราะคุณภาพการตัดเกรดและมาตรฐานของโรงเรียนต่างกัน แต่หากไม่นำมาใช้เลยก็ทำให้เด็กทิ้งห้องเรียนได้ ซึ่งเราอยากจะดึงเด็กให้อยู่ในห้องเรียนนานที่สุดจึงกำหนดให้ใช้ GPAX ใน 5 ภาคเรียน หรือจนถึง ม.6 เทอมแรก
อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวด้วยว่า ยอมรับว่า คณะต่างๆ ยังไม่ค่อยพึงพอใจกับสัดส่วนองค์ประกอบแอดมิชชันที่ ทปอ.กำหนด แต่หากในอนาคต ทปอ.มีการปรับค่าน้ำหนักใหม่ให้เหมาะสมกับหลักเกณฑ์ของแต่ละคณะ ก็เชื่อว่า ทุกคณะจะหันมารับนิสิตผ่านระบบแอดมิชชันเพราะไม่มีใครอยากจัดรับตรงเอง เนื่องจากต้องดำเนินการหลายขั้นตอนและยุ่งยาก ซึ่งการปรับค่าน้ำหนักไม่จำเป็นต้องรอประกาศล่วงหน้าถึง 3 ปี เพราะหากทำแบบนั้นชีวิตรันทดแน่ ซึ่งเรื่องนี้จะมีการหยิบยกมาหารือในการประชุมคณะทำงานศึกษาแอดมิชชันฟอรั่ม ปีการศึกษา 2553 ในวันที่ 13 มีนาคมนี้
ด้าน ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการด้านการศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า เหตุผลที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ใช้วิธีคัดเลือกผ่านระบบการรับตรงทั้งหมด 100% จำนวน 295 คนในปีการศึกษา 2553 นั้น เนื่องจากค่าน้ำหนัก PAT 7 ความถนัดในการเรียนภาษาต่างประเทศ เพียง 10% ที่ ทปอ.กำหนด ไม่เพียงพอที่จะใช้วัดความสามารถทางด้านอักษร และเป็นไปไม่ได้ที่จะคัดเลือกบุคคลให้ได้ตามคุณลักษณะที่คณะต้องการ เนื่องจากคณะอักษรศาสตร์เป็นคณะที่สอนภาษาขั้นสูง หากใช้สัดส่วนตามที่ ทปอ.กำหนดจะไม่สามารถผลิตบัณฑิตอักษรศาสตร์ได้สำเร็จ
ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้หารือไปยัง ทปอ. เพื่อขอปรับสัดส่วน PAT 7 เป็น 30% ในการคัดเลือกแอดมิชชันแล้ว แต่ได้รับคำชี้แจงว่า เกณฑ์แอดมิชชันปีการศึกษา 2553 ได้กำหนดล่วงหน้าไปแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งหากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เห็นว่าเป็นปัญหากับการคัดเลือกนิสิต และจะทำให้นิสิตเรียนอยู่ในระบบไม่ได้ ก็ขอให้ดำเนินการในระบบรับตรง ซึ่งขอยืนยันว่า จุฬาฯ ต้องการใช้ระบบแอดมิชชัน เพียงแต่เห็นว่าองค์ประกอบในการคัดเลือกบางอย่างควรมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ได้นิสิตตามที่คณะต้องการ
“สำหรับแอดมิชชันปีการศึกษา 2554 หาก ทปอ.มีการปรับสัดส่วนเพิ่ม PAT 7 เป็น 30% ตามที่อักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร้องขอ จุฬาฯ ก็พร้อมจะกลับไปใช้ระบบแอดมิชชันในการคัดเลือกนิสิตเหมือนเดิม ซึ่งการกำหนดองค์ประกอบการคัดเลือกที่ไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้เรียนอย่างแท้จริง เมื่อเด็กเข้ามาสู่ระบบแล้วเรียนไม่ไหวจะเป็นการทำร้ายนิสิตที่รุนแรง นอกจากนี้การสอนอักษรศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษามีความหลากหลาย และมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน ถึงแม้จะเป็นศาสตร์ด้านเดียวกัน แต่ก็ไม่ควรจะกำหนดน้ำหนักหรือสัดส่วนองค์ประกอบในการคัดเลือกผู้เรียนเหมือนกัน จุฬาฯ ก็มีปณิธานของตัวเองว่าต้องการผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ อาจเห็นว่าการใช้ PAT 7 เพียง 10% ก็เพียงพอแล้วก็เป็นได้ ดังนั้นคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ก็จะเสนอประเด็นนี้ต่อ ทปอ.ด้วย” ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา กล่าว
รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า สำหรับการรับตรงของจุฬาฯ ที่พิจารณาจาก GPAX 10% นั้น เนื่องจากมีผลการวิจัยรองรับว่า ค่าน้ำหนักของ GPAX ที่ใช้คัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัยไม่ควรเกิน 10% เพราะค่าน้ำหนักที่ 10% จะสะท้อนผลการเรียนของนิสิตในมหาวิทยาลัยได้ดีที่สุด ส่วนที่ไม่ได้นำคะแนน O-NET มาพิจารณาในการรับตรงของจุฬาฯ เนื่องจาก ทปอ.กำหนดให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ส่งรายชื่อนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกรับตรงภายในวันที่ 31 มกราคม 2553 ขณะที่ O-NET จะมีการประกาศผลสอบหลังจากนั้น จึงไม่สามารถนำ O-NET มาพิจารณาได้ทัน อย่างไรก็ตาม จุฬาฯ มีความเป็นห่วงความรู้วิชาพื้นฐานของนิสิตเช่นกัน จึงได้จัดทดสอบประเมินความรู้พื้นฐานวิชาภาษาอังกฤษ หรือ CU-TEP ความรู้วิชาภาษาไทยโดยใช้ข้อสอบของศูนย์ภาษาไทยสิรินธร และความรู้วิชาวิทยาศาสตร์ หรือ CU-SCIENCE เพื่อวัดพื้นฐานวิชาเหล่านี้กับนิสิตชั้นปีที่ 1 ทุกครั้ง
ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการด้านการวิจัย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องนิสิต นักศึกษาที่เรียนในคณะ/สาขาที่ต้องใช้พื้นฐานวิชาวิทยาศาสตร์ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ มีผลการเรียนต่ำลง และติด F จำนวนมากนั้น นอกจากความบกพร่องของการกำหนดสัดส่วนองค์ประกอบในการคัดเลือกที่ให้สอบวิชาในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และ อวกาศและดาราศาสตร์ จำนวน 100 คะแนน ส่งผลให้เด็กที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้นั้นไม่จำเป็นต้องเก่งวิชาวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันก็มีผลมาจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการที่แยกออกมาเป็น 8 กลุ่มสาระ และรวมเอาวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เข้ามาอยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ทั้งหมด จึงทำให้เด็กมีพื้นฐานใน 3 วิชาดังกล่าวไม่แน่นพอ
ทั้งนี้ แม้จะยังมีการแยกสอนเป็น 3 วิชาแต่เนื้อหาไม่ต่อเนื่อง และไม่เข้มข้น ซึ่งที่ประชุมสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ทวท.) ได้เคยพูดถึงเรื่องนี้หลายครั้ง แต่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ยังนิ่งเฉย และเมื่อขอให้มีการปรับองค์ประกอบแอดมิชชันให้แยกสอบวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เป็นวิชาละ 100 คะแนน ทปอ.ก็จะชี้แจงว่าไม่สามารถแยกได้ เนื่องจากหลักสูตรกำหนดให้เรียนรวมเป็นสาระวิชาวิทยาศาสตร์ 1 กลุ่มสาระเท่านั้น
“ทำไมวิชาคณิตศาสตร์จึงแยกสอบ 100 คะแนนได้ แต่วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ซึ่งเป็นวิชาหลักและเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ทุกแขนงกลับไม่แยกสอบ หากปล่อยให้ปัญหานี้ยังอยู่ต่อไป ก็จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ แม้ที่ผ่านมาเราจะได้รับเหรียญทองโอลิมปิกวิชาการด้านต่างๆ แต่เด็กที่ได้รับรางวัลเหล่านั้นล้วนผ่านการอบรมและมีอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนวิชานั้นๆ ให้ตัวต่อตัว ขณะที่ภาพรวมเราไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้เลย” ศ.ดร.เกื้อ กล่าว
ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์ สัดส่วนการรับตรงและแอดมิชชันอยู่ที่ 50 :50 จากเดิม 30:70 นั้น ซึ่งความจริง คณะวิทยาศาสตร์อยากรับตรง 100 % แต่ต้องรอดูคะแนนสอบ GAT, PAT ก่อนว่าจะสามารถวัดความรู้ความสามารถเด็กได้จริงหรือไ ม่ อย่างไรก็ตามหลังจากที่เด็กสอบเข้าเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ได้โดยผ่านระบบแอดมิชชัน คณะวิทยาศาสตร์จะจัดสอบ CU Science ให้กับนิสิตชั้นปี 1 ในเดือนมิถุนายน แล้วนำคะแนนจาก CU Science และแอดมิชชันมาเปรียบเทียบ ซึ่งหากคะแนน CU Science และแอดมิชชันกลางไม่แตกต่างกันมาก แสดงว่าการสอบแอดมิชชันกลางปี 2553 ที่ใช้คะแนน GAT, PAT เป็นระบบที่ได้คุณภาพในการคัดเลือกเด็ก แต่หากคะแนนออกมาแล้ว แตกต่างกันมากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อาจจะเปลี่ยนเป็นรับตรง 100 % ในปีถัดไปก็ได้ ซึ่ง ทปอ.คงต้องทบทวนปรับสัดส่วนองค์ประกอบที่ใช้ในการแอดมิชชันต่อไป