xs
xsm
sm
md
lg

สภาคณบดีวิทย์เร่งแก้เด็กปี 1 ติด “F” เตรียมสัมมนาใหญ่ปรับวิธีสอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ที่ประชุมสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เตรียมจัดสัมมนาใหญ่ช่วงปิดภาคเรียนปรับวิธีการเรียนการสอน ช่วยเด็กพื้นฐานวิทย์ อ่อน เพราะแอดมิชชันทำนักเรียนทิ้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ช่วง ม.ปลาย ส่งผลนักศึกษาปี 1 คณะ/สาขาวิทยาศาสตร์ติดเอฟอื้อ พ้อ! คัดเด็กตามต้องการไม่ได้ก็ต้องแก้ไขเอาเอง พร้อมส่งข้อมูลให้ กมธ.ศึกษา สภาผู้แทนราษฎร หวัง ทปอ.ปรับสอบแอดมิชชันใหม่

จากที่อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเปิดเผยว่า นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปี 1 จุฬาฯ ที่ผ่านการคัดเลือกโดยระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาโดยระบบกลาง หรือ แอดมิชชัน ซึ่งให้สอบวิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยารวม 3 วิชา 100 คะแนน เด็กจึงไม่สนใจเรียนวิชาในกลุ่มวิทยาศาสตร์ในชั้นเรียน จึงมีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ต่ำส่งผลให้มีนิสิตติดเอฟวิชาฟิสิกส์กว่าร้อยละ 50 และมีนักศึกษาติดภาคทัณฑ์ (Probation) มีผลการเรียนเฉลี่ยไม่ถึง 2.00 จำนวนมาก

ศ.ดร.ละออศรี เสนาะเมือง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะประธานที่ประชุมสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าที่ประชุมสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ ได้หารือกันถึงเรื่องดังกล่าวบ่อยครั้ง โดยก่อนหน้านี้ ได้สรุปความคิดเห็นจากที่ประชุม ขอให้แยกสอบวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ยื่นเสนอไปยังที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และผู้ที่เกี่ยวข้องไปเมื่อประมาณเดือนมีนาคมปี 2551 แต่ ทปอ.ก็ยืนยันว่า จะไม่แยกสอบวิชาในกลุ่มวิทยาศาสตร์ ซึ่งการเสนอให้แยกสอบวิชาในกลุ่มวิทยาศาสตร์นั้น ไม่ได้ส่งผลดีเฉพาะคณะวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่จะส่งผลดีต่อคณะอื่นๆ ในกลุ่มวิทยาศาสตร์ทั้งหมดด้วย เนื่องจากการสอบวิทยาศาสตร์ 3 วิชารวมกันนั้น ทำให้เด็กทิ้งห้องเรียน เพื่อไปกวดวิชาสังคมศึกษา ภาษาไทย และภาษาอังกฤษที่ให้วิชาละ 100 คะแนน

“เมื่อเด็กสอบเข้ามาเรียนในคณะ/สาขา ที่ต้องใช้พื้นฐานวิทยาศาสตร์ก็จะทำให้เรียนไม่ไหว ติดเอฟ และมีผลการเรียนต่ำ ซึ่งข้อมูลนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็สอดคล้องเป็นไปในลักษณะเดียวกับของงจุฬาฯ หาก ทปอ.ไม่ให้ความสนใจและแก้ไขประเด็นดังกล่าว ก็จะส่งผลต่อการเรียนในห้องเรียนระดับชั้นมัธยมปลาย และมีปัญหาเมื่อเด็กเข้ามาเรียนชั้นปีที่ 1 ในมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน”

ศ.ดร.ละออศรี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ เคยหารือกันว่า จะรวมกลุ่มจัดสอบรับตรงเด็กเองเช่นเดียวกับที่คณะแพทยศาสตร์ดำเนินการ แต่ก็ไม่อยากสร้างภาระให้กับเด็กและผู้ปกครองที่ต้องวิ่งสอบหลายที่ อีกทั้งคณะวิทยาศาสตร์แตกต่างจากคณะแพทยศาสตร์ที่เด็กให้ความสนใจเรียนกันมากจึงไม่ได้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นในช่วงปิดภาคเรียนนี้ ที่ประชุมสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ จะจัดสัมมนาจัดรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โดยให้ทุกมหาวิทยาลัยมานั่งคุยกันว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร เมื่อเราไม่สามารถคัดเด็กตามที่ต้องการได้ ก็ต้องมาปรับรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กได้มีความรู้ โดยอาจจะต้องสอนพิเศษ หรือจัดสอนพื้นฐานให้ใหม่ ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยจะต้องมาร่วมกันคิดต่อไป

ส่วนองค์ประกอบการคัดเลือกแอดมิชชัน 2553 ของคณะวิทยาศาสตร์ที่ให้น้ำหนักแบบทดสอบความมถนัดทางวิชาการด้านคณิตศาสตร์ หรือ (PAT-1) 10% PAT-2 วิทยาศาสตร์ 30% ซึ่งขณะนี้ตอบไม่ได้ว่าจะทำให้เด็กตั้งใจเรียนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานมากขึ้นหรือไม่ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การกำหนดให้สอบความถนัดจะทำให้เด็กกวดวิชามากขึ้น ทั้ง GAT, PAT และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET อย่างไรก็ตาม ตนได้ส่งข้อมูลพร้อมข้อเสนอที่เคยเสนอต่อ ทปอ.ไปยังคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรที่จะจัดระดมความคิดเกี่ยวกับระบบแอดมิชชันแล้ว ซึ่งก็ต้องติดตามดูว่า ทปอ.จะมีแนวทางการปรับปรุงแอดมิชชันอย่างไรต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น