xs
xsm
sm
md
lg

ทักษะการคิดแก้ปัญหาอนาคต

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีพลเมืองน้อย แต่พลเมืองของเขามีคุณภาพมาก ชาวนิวซีแลนด์เป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคน เป็นนักวิทยาศาสตร์ เช่น ลอร์ด รัทเธอร์ฟอร์ด เป็นนักวิชาการ นักวิจัย นักดนตรี และผู้บริหารบริษัทใหญ่ๆ มากมาย คนหนุ่มคนสาวมักออกไปทำงานนอกประเทศ โดยเฉพาะในอังกฤษ พออายุมากขึ้นก็กลับบ้าน

โรงเรียนในนิวซีแลนด์ที่เป็นโรงเรียนรัฐบาลมีคุณภาพดีไม่แพ้โรงเรียนเอกชน และมีการกระจายตัวอยู่ตามเมืองต่างๆ ทำให้มีการกระจายตัวทางการศึกษาที่ดี

ผมสนใจว่าเขามีวิธีการสอนเด็กอย่างไร เด็กของเขาจึงเก่งมีความคิดสร้างสรรค์ ผมพบว่ามีโรงเรียนหนึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลมีอายุ 150 ปี คือ โรงเรียนชาย Nelson ที่นี่มีการสอนวิชา “ทักษะในการคิดแก้ปัญหาอนาคต” วิชานี้เป็นวิชาเสริม “การคิดแก้ปัญหาในอนาคต” นี้เป็นกิจกรรมที่มีการจัดตั้งเป็นสมาคม มีการแข่งขันกันทุกปี โรงเรียน Nelson เคยชนะที่หนึ่งหลายครั้ง

ผมได้คุยกับครูผู้ทำการสอนวิชานี้ ชื่อครู Lee Leighley ครู Lee ได้ให้ผมดูคู่มือการสอน และผมได้สังเกตการสอนของเขา ชั้นเรียนมีเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมการคิด การระดมสมองกันอย่างคึกคัก ผมจึงชวนครู Lee มาที่วชิราวุธฯ และให้อบรมครูจำนวนหนึ่ง และคัดเลือกครูไปฝึกที่นิวซีแลนด์ด้วย ทำอย่างนี้อยู่เป็นเวลา 3 ปี จึงได้ครู 3-4 คน ซึ่งสามารถสอนวิชานี้ได้

ต่อมาผมได้แนะให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานลองนำกิจกรรมนี้ไปใช้ในโรงเรียนจำนวนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการทำวิจัยควบคู่ไปด้วยปรากฏเป็นผลดี นักเรียนที่เข้าร่วมมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์มากขึ้น วิธีการคิดมีหลายแบบ เมื่อรู้จักวิธีคิดแล้ว เวลาจะคิดแก้ปัญหาใดก็มีขั้นตอนที่ดี มีการระดมสมอง และจัดลำดับความคิดโดยใช้วิธี Six Thinking Hats ด้วย

เป็นที่น่ายินดีว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ให้ทุนสนับสนุนการจัดพิมพ์เอกสาร 3 เล่ม คือ รายงานการวิจัย หนังสือกิจกรรมการเรียนรู้ ทักษะการคิดเพื่อแก้ปัญหาในอนาคต และคู่มือครู ซึ่งจะพิมพ์เสร็จในราวๆ เดือนกุมภาพันธ์นี้

มีผู้ปกครองนักเรียนวชิราวุธฯ ที่เป็นนายกเทศมนตรีเมืองอุดร และเชียงรายทราบเรื่องก็ให้ทีมผู้สอนจากวชิราวุธฯ ไปทดลองให้ดู และเลื่อมใสจัดงบประมาณให้คณะผู้สอนไปช่วยครูในโรงเรียนของเทศบาล และที่สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์นี้ นับว่าเทศบาลและ อบจ.ของอุดรธานี และเชียงราย เข้าใจหาทางพัฒนาการเรียนการสอน โดยจะมีการจัดให้คณะครูไปดูงาน และให้ครูผู้เชี่ยวชาญจากนิวซีแลนด์มาช่วยฝึกให้ที่เมืองไทยด้วย

การช่วยให้เด็กรู้จักคิด จัดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดทางการศึกษา Creative Thinking นั้น ต่างจาก Critical Thinking ตรงที่การคิดแบบสร้างสรรค์ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ส่วนการคิดแบบพินิจพิจารณานั้น ช่วยให้แยกแยะประเด็นที่เป็นปัญหา และแก้ไขปัญหาได้ แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดสิ่งใหม่

คนไทยเรามีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการมีความคิดที่พินิจพิจารณา สังเกตได้จากอาหารของเราที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์อย่างชัดเจน ตรงที่สามารถนำเอาเครื่องปรุงต่างๆ มาผสมผสานกันให้เกิดสิ่งใหม่ ตัวอย่างที่ดีก็คือ ข้าวแช่ซึ่งทำกินกันในฤดูร้อน ต้มยำและยำต่างๆ

ผมเพิ่งไปทานอาหารที่บ้านคุณเล็กอยู่แถวๆ ซอยอุดมสุข มีอาหารอร่อยคือ แกงมัสมั่นกระดูกหมูอ่อน แต่ที่น่าทึ่งและเป็นผลจากความคิดสร้างสรรค์ก็คือ “ไข่กวน” ซึ่งสุดยอดจริงๆ ยังนึกไม่ออกว่าทำอย่างไรจึงอร่อยเช่นนั้น

ผมไปยุ่งเกี่ยวกับการศึกษามาเป็นเวลาหลายปี ที่น่าเบื่อก็คือ มีคนสนใจแต่เรื่องการปรับปรุงโครงสร้างยกระดับให้หน่วยงานมีฐานะสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นการช่วยผู้ใหญ่ แต่ไม่ได้ช่วยเด็ก ส่วนเด็กก็ยังคงพบกับการสอนแบบเก่าๆ แล้วไปกวดวิชากันเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย

การนำเรื่องทักษะการคิดเพื่อแก้ปัญหาอนาคต มาให้เด็กเรียนรู้นี้ควรทำให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะเวลานี้เด็กไทยได้ยินได้ฟังแต่เรื่องของผู้ใหญ่สิ้นคิดอยู่ทุกวี่ทุกวัน ขาดตัวอย่างของการคิดสร้างสรรค์ คิดแต่เพียงการแบ่งขั้วเป็นสองฝ่าย และคอยจับผิดกัน

การที่เทศบาลและ อบจ.บางแห่งริเริ่มให้มีการสอนวิชานี้ในโรงเรียน นับว่าเป็นมิติใหม่ขององค์การปกครองท้องถิ่นที่แต่ก่อนมุ่งสร้างแต่ถนน มาบัดนี้ได้หันมาสร้างคน ยังมีเทศบาลอีกมาก เช่น ศรีราชาที่คงสนใจเรื่องประเภทนี้

ที่สำคัญก็คือ คณะผู้ฝึกอบรมได้มีเอกสารประกอบอย่างครบถ้วน ทั้งการวิจัยบทเรียนและคู่มือครู ทราบว่าเวลานี้มีคนจองไว้สำหรับปีนี้เต็มแล้ว ผู้ใดสนใจก็น่าจะรีบจอง โดยติดต่อได้ที่สถาบันนโยบายศึกษา โทร. 0-2941-1832-3
กำลังโหลดความคิดเห็น