xs
xsm
sm
md
lg

แนะ สพฐ.ทำคู่มือประเมินผล ร.ร.แก้ปัญหาโรงเรียนปล่อย-กดเกรด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณบดีครุศาสตร์ จุฬาฯ แนะ สพฐ.จัดทำคู่มือพื้นฐานในการประเมินผลการเรียนรู้ของโรงเรียน เป็นแนวทางเสนอแนะ ให้โรงเรียนมีมาตรฐานในการประเมินผลได้ใกล้เคียงกัน เชื่อช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนกด-ปล่อยเกรดได้

ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะวิจัยการนำคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาปรับเทียบหรือถ่วงกับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย (จีแพ็ก) ว่า ตนจะได้นัดหารือร่วมกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในเร็วๆ นี้ ว่า จะมีแนวทางในการวิจัยต่อเนื่องอย่างไร เพราะเรื่องนี้ต้องมีการติดตามต่อในปีการศึกษา 2551-2553 เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายในการวัดและประเมินผลของโรงเรียนให้ได้มาตรฐานใกล้เคียงกันมากขึ้น โดยจากผลการวิจัยชุดแรกทำให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นแล้วว่า โรงเรียนในสังกัด สพฐ.มีประสิทธิภาพในการประเมินผลการเรียนการสอนอย่างไร และมีโรงเรียนใดปล่อยเกรด หรือกดเกรดบ้าง สำหรับการดำเนินการวิจัยต่อไป คงจะต้องแยกเป็นรายกลุ่มสาระทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนในปีต่อๆ ไปว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งติดตามพฤติกรรมการตัดเกรดของโรงเรียนด้วย อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ในการพัฒนาการประเมินผลโรงเรียนให้ได้คุณภาพนั้น บางโรงเรียนอาจปรับตัวได้ช้าหรือเร็วแตกต่างกันออกไป

“ผมคาดหมายว่า คุณภาพการตัดเกรดของโรงเรียนในการวิจัยปีต่อไปน่าจะดีขึ้น และอยู่ในมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น ประเภทของโรงเรียนที่ประเมินไม่มีคุณภาพ ทั้งกดเกรด ปล่อยเกรด ดังนั้น สพฐ.น่าจะจัดทำคู่มือพื้นฐานในการประเมินผลการเรียนรู้ของโรงเรียน โดยกำหนดหลักการที่เป็นมาตรฐานร่วมกันว่า ในการวัดผลการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระนั้น ควรมีเครื่องมือในการประเมินความรู้ และความคิดของนักเรียนอย่างไร เพื่อให้นักเรียนมีลักษณะพึงประสงค์ตามที่ สพฐ.กำหนด โดยเป็นเสมือนแนวทางเสนอแนะ ให้โรงเรียนได้มีมาตรฐานในการประเมินผลใกล้เคียงกันมากที่สุด” ศ.ดร.ศิริชัย กล่าว

คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า ตนเชื่อว่า หาก สพฐ.มีการจัดทำคู่มือมาตรฐานการประเมินผลให้กับสถานศึกษา และสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน จะนำไปสู่การพัฒนาระบบการประเมินผลที่ได้มาตรฐานใกล้เคียงกันมากขึ้น จำนวนของโรงเรียนที่ปล่อยเกรด และกดเกรด ก็จะลดน้อยลง ซึ่งหากดำเนินได้ทัน ผลการนำคะแนนโอเน็ต ถ่วงจีพีเอ ในปีการศึกษา 2553 จะมีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ระบบการติดตามประเมินผลสถานศึกษาเป็นเรื่องที่จะต้องเฝ้าระวังและคอยติดตามตลอด และหากพบว่าจุดไหนหย่อนยานจะเกิดปัญหาขึ้นทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น