xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.จับมือ 5 สถาบัน ทำวิจัยพัฒนาจัดเรียนการสอน ดันใช้จริงในห้องเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สพฐ.ร่วมกับ 5 สถาบัน ทำวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอน หวังขับเคลื่อนกระบวนการคิดสู่ห้องเรียน และ 12-14 กันยา จะนำมาจัดสัมมนา จากนั้นนำไปนำร่องในโรงเรียนว่ารูปแบบการสอนนี้พัฒนาเด็กได้จริง

นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับสถาบันการศึกษา 5 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนวชิราวุธราชวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ ผ่านความร่วมมือกับสถาบันบริชติสคอลซิล ประเทศไทย ทำโครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียน ที่เน้นกากรปฏิบัติที่เป็นไปได้จริงในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดของผู้เรียนที่ประกอบด้วย แนวทางการจัดการเรียนรู้ การสอนของครู ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการหลักสูตรในโรงเรียน

ม.วลัยลักษณ์ ได้ทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem- Based Learning:PBL) ซึ่ง ม.วลัยลักษณ์ ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานกับโรงเรียนใน จ.นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี จากนั้นก็นำผลการดำเนินงานมาสร้างเป็นคู่มือ เพื่อนำมาใช้จัดการเรียนการสอนแบบการแก้ปัญหากับ ร.ร.ที่จัดการเรียนการสอนขั้นพื้นฐาน

ม.ขอนแก่น จัดทำวิจัยโครงการให้ครูมาร่วมออกแบบวางแผนการสอนในวิชาคณิตศาสตร์ โดยใช้คำถามปลายเปิดเพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดจินตนาการและคิดแบบคณิตศาสตร์ และที่สำคัญ ทำให้ครูได้มาทำงานร่วมกันเพื่อออกแบบวางแผนการจัดการเรียนการสอนและให้ครูแต่ละคนวิพากษ์วิจารณ์เพื่อพัฒนาแผนการสอนต่อไป

ร.ร.วิชราวุธวิทยาลัยได้ทำวิจัยโดยนำกระบวนการแก้ไขปัญหาในอนาคตมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อสร้างกระบวนการคิดเชิงลึกให้กับเด็ก ซึ่งเด็กที่จะพัฒนาการคิดด้านนี้ได้นั้น นอกจากจะเก่งด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แล้วเด็กจะต้องมีความสามารถด้านการใช้ภาษาเป็นอย่างดีด้วย ส่วนคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวบรวมผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการสอนคิดทั้งจากในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ได้ร่วมกับ นางแครอล ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ โดยผ่านความร่วมมือจากสถาบันบริชติส ออกแบบกิจกรรม เครื่องมือ และกราฟฟิกต่างๆ เพื่อให้ครูนำไปใช้กับนักเรียนและกระตุ้นให้เด็กเกิดการคิดในมิติต่างๆ

การทำวิจัยเหล่านี้ทำให้ครูและนักวิชาการ มีข้อมูลในเรื่องมิติของการวิจัยด้านการสอนให้นักเรียนคิด และทำเครื่องมือประเมินการคิดได้ด้วย ดังนั้น นอกจากเราจะมีรูปแบบการสอนคิดในมิติต่างๆ ที่จะให้ครูที่จัดการเรียนการสอนการศึกษาขั้นพื้นฐานได้นำไปใช้แล้ว ยังได้เครื่องมือการประเมินการคิดและมีงานวิจัยเกี่ยวกับการคิดต่างๆ ที่จะเปิดประเด็นและทำให้ครูมีข้อมูลสำหรับจัดการเรียนการสอนแบบคิดได้มากขึ้นด้วย พร้อมกันนี้ จะมีการสัมมนาเรื่องรูปแบบการสอนคิด ระหว่างวันที่ 12-14 ก.ย.นี้ โดยเชิญคณะครูและผู้ที่สนใจเข้าร่วมด้วย

ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขา สพฐ.กล่าวว่า การทำวิจัยเหล่านี้ เป็นการดำเนินงานเพื่อประเมินรูปแบบการสอนคิดที่ สพฐ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งตนคิดว่าน่าจะเป็นที่สนใจของสถานศึกษาที่ไม่ผ่านมาตรฐาน อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการจัดสัมมนาและจัดโรดโชว์ สพฐ.จะไปนำร่องกับโรงเรียนเพื่อให้มั่นใจได้ว่ารูปแบบการสอนให้นักเรียนคิดสามารถทำได้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น