xs
xsm
sm
md
lg

สทศ.ส่งเลขที่นั่งสอบ GAT/PAT ให้ผู้สมัครแอดมิสชันส์ปี 53 แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผอ.สทศ.ชี้การสอบ “GAT/PAT” เพื่อนำคะแนนไปสอบแอดมิสชันส์ เป็นระบบที่ทั่วโลกทำ แนะนำให้โรงเรียนเพิ่มความเข้มข้นแนะแนวให้นักเรียนเลือกคณะที่ต้องการเรียนในมหาวิทยาลัยให้ได้ เพื่อประหยัดเงินค่าสมัครสอบ สำหรับการสอบครั้งแรกในเดือนมีนาคมปีนี้ สทศ.ส่งเลขที่นั่งและสนามสอบให้ผู้สมัครแล้ว

ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) บรรยายเรื่อง “GAT/ PAT ชี้อนาคต” ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีนักเรียนและผู้ปกครองจำนวนมากเข้าร่วมรับฟัง ว่า GAT(General Aptitude Test) คือ การทดสอบความถนัดทั่วไป และ PAT (Professional and Academic Aptitude Test) เป็นการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง (แอดมิสชันส์) ประจำปีการศึกษา 2553โดยเปิดให้นักเรียนชั้น ม.5 ขึ้นไปสอบเก็บคะแนนไว้ใช้เมื่อจะสมัครสอบแอดมิสชันส์ แต่ก็มีผู้สนใจมาสมัครสอบเพื่อจะไปทำงานด้วย ถือเป็นข้อสอบที่เปิดกว้าง โดยเปิดให้สมัครปีละ 3 ครั้ง และจัดสอบปีละ 3 ครั้งสามารถเลือกครั้งที่ต้องการสอบได้ โดยไม่จำเป็นต้องสอบทุกครั้ง ซึ่งหลังจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติออกมา โดยหลักการกระแสสังคมตอบรับ เพียงแต่ระยะเวลาประชาสัมพันธ์อาจจะน้อย ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ ประกอบกับนักเรียนไม่รู้ตัวเองว่า จะเข้าเรียนคณะอะไร ก็สมัครหมด ทำให้เสียเงินมาก เนื่องจากการสมัครสอบ GAT กับ PAT เสียเงินครั้งละ 200 บาทต่อวิชา ดังนั้น หากรู้ว่าจะเข้าเรียนคณะอะไร อาจจะสอบเพียงแค่ 2 วิชาก็พอ ขณะเดียวกันการแนะแนวจะต้องเริ่มใหม่ ต้องแนะแนวให้นักเรียนรู้ว่าต้องการเรียนอะไรในมหาวิทยาลัย

“GAT/PAT เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลง หลังพบว่า ปี 2549-2552 องค์ประกอบ 4 องค์ประกอบวัดซ้ำกัน เช่น ผลการเรียน 6 ภาคเรียน หรือโอเน็ต เอเน็ต เมื่อศึกษาวิเคราะห์แล้วพบว่าซ้ำกัน ฉะนั้น อะไรที่วัดซ้ำก็ควรดึงออก พิจารณาในสิ่งที่วัดไม่ซ้ำ หลักที่ 1. เลือกสิ่งที่ไม่ซ้ำ 2.เชื่อมโยงกับหลักสูตร เลยใช้ผลการเรียน ม.ปลาย เป็นองค์ประกอบหนึ่ง และเนื่องจากโรงเรียนทั้งหลายให้ผลการเรียนคนละมาตรฐาน จึงเอาโอเน็ตมาถ่วง กลายเป็นผลการเรียน ม.4-ม.6 และมีโอเน็ต ส่วนที่ 3.ทั่วโลก ใครๆ จะเข้าเรียนที่ไหนก็วัดความถนัด เลยมาดูว่า ในวิชาชีพ จะมีความถนัดเฉพาะอะไรบ้าง จึงมีเรื่องความถนัดเฉพาะวิชาชีพ ที่เรียกว่า PAT ขณะเดียวกันการเรียนในมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องการอ่าน การเขียน การคิด เป็นความถนัดทั่วไป ฉะนั้น 4 องค์ประกอบ เป็นสิ่งที่ได้ศึกษาค้นคว้ากันมา และก็เชื่อมโยงกับโรงเรียนด้วย” ศ.ดร.อุทุมพร กล่าว

ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ สทศ.ได้ให้เลขที่นั่งสอบ GAT/PAT ในเดือนมีนาคมไปแล้ว หลายคนอาจจะไม่ถูกใจเพราะได้สนามสอบที่ตัวเองไม่ได้คาดหวัง ทั้งนี้ แต่ละวิชาผู้สอบไม่เท่ากัน ฉะนั้น เวลาจัดสนามสอบ จะมีการเพิ่ม การลด แต่จะพยายามใช้หลักว่าขอให้มีสนามสอบทุกจังหวัดให้ได้ บางวิชาที่มีคนสมัคร 700 คนทั้งประเทศ ถ้ากระจายก็เหลือจังหวัดละไม่กี่คน ทำให้การจัดการค่อนข้างยาก แต่จะใช้หลักว่า ขอให้มีในจังหวัดนั้นๆ นักเรียนต่างอำเภออาจจะต้องเดินทางมาสอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น