อาจารย์จุฬาฯ เผย นิสิตจากระบบแอดมิชชัน เข้าเรียนปี 1 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ผ่านโปร อื้อ ขณะที่ปี 1 วิศวะเกือบครึ่งติดเอฟ และดรอปวิชาฟิสิกส์ เหตุแอดมิชชันให้คะแนนสอบ “ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ” รวม 3 วิชา 100 คะแนน ทำเด็ก ม.ปลาย ทิ้งห้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อกวดวิชาสังคม ไทย อังกฤษ ที่ให้วิชาละ 100 คะแนนแทน ส่งผลพื้นฐานวิทย์อ่อน อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องลดความยากของข้อสอบลง และจัดสอนปืนี้ให้ใหม่ กมธ.เตรียมจัดสัมมนาใหญ่ระดมความเห็นปรับแอดมิชชันแก้ปัญหายุ่งเหยิง แต่ไม่ทันเปลี่ยนในปี 2553 แน่นอน
วันนี้ (26 ก.พ.) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุม กมธ.เรื่อง ระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง หรือ แอดมิชชัน โดย ผศ.ดร.ปัจฉา ฉัตราภรณ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากที่มีการใช้ระบบแอดมิชชั่นในการคัดเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ในปี 2549 พบว่า เด็กที่ผ่านการคัดเลือกในระบบดังกล่าวเข้ามาเรียนในคณะวิทยาศาสตร์มีผลการเรียนต่ำลง และมีนักศึกษาขอดรอปเรียนเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบเอนทรานซ์
โดยข้อมูลนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ชั้นปีที่ 1 มีปัญหามากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากการคัดเลือกในระบบแอดมิชชั่นนั้นจะทดสอบวิชาในกลุ่มวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี และชีวศึกษา ร่วมกัน 3 วิชา จำนวน 100 คะแนน ขณะที่การทดสอบวิชาภาษาไทย หรือสังคมศึกษาให้วิชาละ 100 คะแนน ทำให้เด็กไม่สนใจเรียนวิชาในกลุ่มวิทยาศาสตร์แต่หันไปทุ่มเทอ่านหนังสือในวิชาที่มีสัดส่วนคะแนนสูงกว่าแทน ดังนั้น จึงพบว่า นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ที่ทำคะแนนแอดมิชชันได้สูงกลับมีผลการเรียนในชั้นปีที่ 1 ต่ำ และมีนักศึกษาที่ทำคะแนนแอดมิชชันได้ต่ำ แต่ทำผลการเรียนปี 1 ได้สูง เพราะในการแอดมิชชันเด็กไม่จำเป็นต้องเก่งวิชากลุ่มวิทยาศาสตร์เพียงแต่ทำคะแนนวิชาอื่นๆ ได้สูงก็สามารถจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้
ผศ.ปัจฉา กล่าวอีกว่า อาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ให้ข้อมูลว่ามีเด็ก ม.ปลาย โดดเรียนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวศึกษา เพื่อไปกวดวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษจำนวนมาก เพราะเด็กเห็นว่าจะทำให้เขาได้คะแนนแอดมิชชั่นสูงขึ้น และมีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยได้มากกว่า ทำให้นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยมีพื้นความรู้วิชากลุ่มวิทยาศาสตร์อ่อนมากจนไม่สามารถสอนเนื้อหาปี 1 ได้ ทางมหาวิทยาลัยจึงต้องจัดสอนปูพื้นฐานวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมปลายให้นักศึกษาปี 1 ก่อนไม่เช่นนั้นจะสอนไม่ได้ และจะมีนักศึกษาดรอปหรือติดเอฟมากขึ้นด้วย ซึ่งนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์เป็นเช่นนี้ทุกมหาวิทยาลัย
“นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งมีประมาณ 800 คน แบ่งออกเป็น 14 ภาควิชา เมื่อจบภาคเรียนที่ 1 มีนิสิตที่ติดภาคทัณฑ์ (probation) หรือได้ผลการเรียนต่ำกว่า 2 จำนวนมาก อาทิ ภาควิชาฟิสิกส์ มีนิสิต 38 คน ติดโปร 24 คน ภาควิชาเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์จำนวน 52 คน ติดโปร 27 คน ภาควิชาเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ภาพถ่าย มี 27 คน เกินครึ่งติดเอฟ และ 7 คน อยู่ในกลุ่มเกรดเกิน 2.00 แต่ไม่ถึง 2.50” ผศ.ดร.ปัจฉา กล่าว
ด้าน ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูมิ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากการสอนวิชาฟิสิกส์ให้กับนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งถือว่าเป็นนักศึกษาชั้นหัวกะทิของประเทศในปีการศึกษาที่ผ่านมา จำนวนประมาณ 800 คน มีนักศึกษาติดเอฟในปลายภาคเรียนที่ผ่านมาถึง 163 คน ไม่รวมกับที่ดรอปเรียนไปจำนวน 200 คน ภายหลังการสอบกลางภาคแล้ว เนื่องจากเด็กไม่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อย่างเพียงพอที่จะเรียนต่อ หรือกล่าวได้ว่า เด็กเกือบร้อยละ 50 ไม่สามารถอยู่ในระบบได้ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ก่อนที่จะมีการใช้แอดมิชชัน ซึ่งแม้ว่าอาจารย์ผู้สอนจะได้ลดความยากของข้อสอบลงบ้าง โดยคงมาตรฐานความรู้ที่รับได้ แต่ก็ยังมีนิสิตสอบไม่ผ่านจำนวนมากอยู่ดี
ดร.รศ.ดร.พฤกษ์ ศิริบรรณพิทักษ์ นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า องค์ประกอบต่างๆ ในแอดมิชชันที่กำหนดไว้นั้น เป็นความต้องการเด็กที่มีการพัฒนารอบด้านอย่างสมดุล จึงนำเอาผลการเรียนเฉลี่ยตลอดหลักสูตร หรือ GPA ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ตมาใช้ แต่ระบบดังกล่าวทำให้เด็กเน้นการแข่งขันกับคนอื่นมากกว่าการแข่งขันกับตัวเอง ซึ่งการใช้องค์ประกอบคะแนนความถนัดทั่วไปหรือ GAT และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ หรือ PAT นั้น ตนเห็นด้วย เพราะจำเป็นต้องวัดความถนัดของผู้เรียนก่อน แต่การนำ GPA มาใช้ทำให้เกิดการแข่งขันรุนแรง และไม่ได้วัดความสามารถเฉพาะด้านของนักเรียน การกวดวิชาของเด็กก็ไม่ลดลง ดังนั้น ตนเห็นว่าอาจจะนำ GPA มาใช้ได้ แต่อาจเป็นการกำหนดเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ เช่น เด็กที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้ต้องมี GPA ไม่ต่ำกว่า 2.00 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การทบทวนระบบแอดมิชชันนั้น มีการพูดกันมาหลายครั้งแต่ติดอยู่ที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยที่ยืนกรานใช้ระบบเดิม จึงควรยกเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วนในการทบทวนเปลี่ยนแปลงระบบการคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัย
นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ที่ปรึกษากรรมาธิการ กล่าวว่า ระบบใดก็ตามที่ทำให้ศักยภาพการพัฒนาของคนลดลง เพิ่มภาระให้ผู้ปกครองและผู้เรียนมากขึ้น และหลายฝ่ายเห็นว่าเป็นระบบที่มีความยุ่งเหยิง ตนถือว่าระบบนั้นล้มเหลวจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ควรทำให้ง่ายที่สุด ตนเสนอว่าควรให้เด็กสอบเป็นคะแนนมาตรฐานลักษณะเดียวกับการสอบโทเฟล
ขณะที่แต่ละคณะและมหาวิทยาลัย ก็กำหนดคะแนนขั้นต่ำของตนเอง เพื่อให้ได้เด็กตามที่ต้องการ เช่น คณะแพทย์อาจกำหนดว่าเด็กจะเข้าคณะนี้ได้ต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่ากี่คะแนน และมีคะแนนวิทยศาสตร์กี่คะแนน คณิตศาสตร์กี่คะแนน เด็กก็นำใบคะแนนที่ตนเองสอบได้ไปยื่นเพื่อสมัครเข้ามหาวิทยาลัย โดยทางมหาวิทยาลัยก็ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธหากเด็กมีคะแนนตามที่กำหนดไว้
นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ หันไปสมัครสอบรับตรงมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าระบบการคัดเลือกคนระบบกลางมีข้อบกพร่อง ซึ่งปัญหาที่ระบบแอดมิชชันพยายามแก้ไขข้อบกพร่องของเอนทรานซ์เรื่องเด็กทิ้งห้องเรียนไปกวดวิชานั้น การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง คือ การทำให้ห้องเรียนเรียนสนุก ไม่ใช่มาแก้ไขที่ระบบการคัดเลิอกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย โดยกำหนดให้ใช้ GPA เป็นองค์ประกอบแอดมิชชั่น เพื่อให้เด็กเข้าห้องเรียน ซึ่งที่ผ่านมาระบบแอดมิชชั่นมีข้อบกพร่องอย่างมาก กระทรวงศึกษาธิการจึงควรมีการทบทวนเรื่องดังกล่าว โดยอาจตั้งคณะกรรมการโดยมีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมขึ้นมาติดตามนำเสนอข้อดี ข้อเสียและปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด หากปล่อยให้ใช้ระบบที่การคัดเลือกที่มีปัญหาต่อไป ก็จะกลายเป้นปัญหามากยิ่งขึ้น
นายอภิชาต การิกาญจน์ ประธาน กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากที่รับฟังความเห็นพบว่าระบบแอดมิชชันยังมีความไม่ลงตัวอยู่มาก ซึ่ง ทปอ.สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ควรจะมีการหารือร่วมกันเพื่อปรับปรุงระบบดังกล่าวให้ดีขึ้น ซึ่ง กมธ.การศึกษาจะจัดเวทีสัมมนาโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักเรียน เข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าวเพื่อเตรียมแนวทางการปรับปรุงระบบดังกล่าวไว้ให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงใดๆ คงต้องอยู่ในกรอบระยะเวลาที่ทำได้ ซึ่งคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการแอดมิชชันในรปี 2553 ได้ทัน