xs
xsm
sm
md
lg

ระบบแอดมิชชัน : นวัตกรรมที่ล้มเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

เมื่อนักเรียนเรียนจบชั้นมัธยมปลายแล้ว ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง และตัวเด็กเองก็มุ่งมั่นที่จะได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัย แต่นักเรียนที่เรียนจบมีจำนวนมากกว่าที่มหาวิทยาลัย (ปิด) ของรัฐจะรับได้หมด จึงต้องมีการสอบคัดเลือกขึ้น ยิ่งคณะและมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงก็มีอัตราการแข่งขันสูง สมัยก่อนโน้นมหาวิทยาลัยจัดสอบกันเอง นักเรียนต้องไปวิ่งสมัครและสอบกันเอง จนมีการจัดสอบคัดเลือกในระบบกลางที่เรียกว่าระบบเอนทรานซ์ (ENTRANCE) ซึ่งจัดสอบโดยคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ทำการทดสอบความรู้ในวิชาที่เกี่ยวข้องประมาณ 4-6 รายวิชา ให้ผู้สมัครเลือกคณะที่ต้องการได้ 6 คณะ แล้วนำคะแนนมาเทียบกันว่าใครได้คะแนนสูงกว่าก็ติดคณะที่เลือกได้ในลำดับต้น ลดหลั่นกันไป ก็ใช้ระบบนี้อยู่หลายปี

ผู้เขียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ.2524 ก็สอบในระบบนี้เช่นกัน ระบบเอนทรานซ์นี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบการสอบคัดเลือกที่ยุติธรรม และเชื่อถือได้มากที่สุดระบบหนึ่งในเมืองไทยก็ว่าได้ (แต่มาถูกทำลายอย่างย่อยยับด้วยนายกฯรักลูกคนหนึ่ง)

อยู่มาวันหนึ่งมีคนกล่าวหาว่าระบบนี้สอบแต่ความรู้ ไม่ได้คนที่มีทักษะ เอาแต่เรียนพิเศษก็สอบได้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยจึงได้ประชุมกันคิดค้นวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ เอาคะแนนชั้นมัธยมปลาย (GPAX) คะแนนสอบมาตรฐาน (ONET) และวิชาเฉพาะ (ANET) ที่ล่าสุดในปีนี้เปลี่ยนเป็นการสอบทักษะทั่วไป (GAT) และ ทักษะเฉพาะ (PAT) อ้างว่า จะได้นักเรียนที่มีทักษะมากขึ้นกว่าเดิม สนใจการเรียนในห้องเรียนมากกว่าเดิม ลดการเรียนพิเศษ ผลลัพธ์ที่เกิดเมื่อใช้มาเป็นเวลาหลายปี พบว่าคณะได้นักเรียนที่มีความถนัดไม่ตรงกับสาขาที่สอบได้ คนติดคณะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แทนที่จะเก่งวิชาวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี แต่กลับเก่งภาษาอังกฤษ ไทย สังคม ทำให้นิสิตชั้นปีที่ 1 สอบตกวิชาฟิสิกส์ เป็นจำนวนครึ่งค่อนคณะ และมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงต้องจัดสอบตรงเป็นจำนวนมาก และมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักเรียนเดือดร้อนเดินทางไปสมัครหลายที่ และเสียเงินเสียทองมากกว่าที่ควรจะเป็น คนที่มีโอกาสไปสมัครหลายที่ก็ได้เปรียบคนจนที่ไม่มีโอกาส

เมื่อคณะต่างๆ เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงปรับปรุงระบบแอดมิชชัน ทปอ.ก็เพิกเฉย อ้างว่า ประกาศแล้วต้องใช้ไป 3 ปี ทั้งๆ ที่ระบบที่ ทปอ.ประกาศใช้นั้น ล้มเหลวในการคัดเลือกนักเรียนให้ตรงสาขา (ตัวอย่างเช่น กลุ่มคณะแพทย์และทันตแพทย์แยกไปสอบเองเลย) ที่สำคัญคือ ระบบแอดมิชชัน กลับทำให้นักเรียนสนใจเรียนในห้องน้อยลง เรียนพิเศษมากขึ้น เพราะนักเรียนชั้น ม.5 ก็มีสิทธิ์สอบ GAT PAT ได้ และสอบปีละ 4 ครั้ง ตั้งแต่ต้นปี ยังไม่ได้เรียนอะไรก็สอบแล้ว นักเรียนก็อยากไปสอบตั้งแต่ ม. 5 เพราะจะได้ดูแนวข้อสอบ (นักเรียนเล่าให้ฟัง) การให้สิทธิ์สอบเช่นนี้ทำให้นักเรียนแทนที่จะสนใจในห้องเรียน กลับต้องไปเรียนพิเศษ เพื่อเตรียมสอบตั้งแต่ขึ้นชั้น ม.5 ด้วยซ้ำ

ผู้เขียนเรียกร้องให้ผู้ที่รับผิดชอบคือ ทปอ.และแอดมิชชันฟอรัม เปิดใจให้กว้าง จึงจะสามารถรับรู้ปัญหาที่เกิดจากระบบที่ตนได้คิดค้นขึ้น ว่า เกิดผลกระทบรุนแรงกว้างขวางเพียงใด และรีบทำการแก้ไขโดยด่วน เลิกอ้างว่า ประกาศใช้แล้วต้องใช้ไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 3 ปี ผู้เขียนมีความเห็นว่า หากเป็นการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีขึ้น นักเรียนเขาก็ยอมรับได้ คณะก็จะได้รับนักเรียนที่มีความถนัดตรงสาขา หาก ทปอ.ยอมรับความคิดเห็นของผู้ที่ท้วงติงอย่างมีเหตุผลแล้ว ก็จะก่อให้เกิดการปรับปรุงระบบแอดมิชชันไปในทางที่ดีขึ้น ผู้เขียนขอเสนอระบบการสอบคัดเลือกที่เชื่อว่าจะทำให้ได้นักเรียนที่ตรงสาขา เรียนในห้องเรียนจนจบไม่ต้องเร่งรีบไปเรียนพิเศษ ไม่ต้องสอบหลายครั้งมากไป ที่สำคัญคือ ลดการสอบแยก ให้เหลือน้อยที่สุด

1.การจัดทดสอบต่างๆ ควรจัดเพียงปีละ 2 ครั้ง ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ และปลายเดือนมีนาคม แล้วนับคะแนนที่ดีกว่า ให้สอบได้เฉพาะนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่หรือจบชั้นมัธยม 6 แล้ว (นักเรียนจะได้สนใจเรียนในห้องเรียน ไม่ต้องรีบเร่งเรียนนัก)

2.คงการใช้ เกรดเฉลี่ย GPAX และการทดสอบมาตรฐาน ONET ไว้ แต่คิดสัดส่วนให้น้อยที่สุด (ไม่เกิน 10 %) หรือใช้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ (กลุ่มคณะแพทย์ศาสตร์ตั้งเกณฑ์ ONET ไว้สูงถึง 60% เพราะต้องการคัดนักเรียนเก่ง สำหรับคณะอื่น อาจตั้งไว้ที่ประมาณ 40% ก็พอ) เพราะคะแนน 2 ส่วนนี้ มีความคลาดเคลื่อนสูง

3.การทดสอบความถนัดทั่วไป GAT ไม่ควรมีสัดส่วนเกิน 20-30%

4.ควรจัดสอบวิชาเฉพาะ 3-4 วิชา ตามแต่คณะต้องการ (คิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50%) แต่ออกข้อสอบโดยส่วนกลาง ไม่ใช่คณะออกข้อสอบเอง ส่วนนี้ทำให้คณะได้นักเรียนที่มีความถนัดในสาขาที่จะเรียน

5.อนุญาตให้มหาวิทยาลัยจัดสอบแยก ไม่เกิน 20% ของจำนวนนิสิตที่จะรับ และต้องมีเหตุผลจำเป็น ต้องการได้นักเรียนที่มีคุณสมบัติเฉพาะเท่านั้น จึงจะอนุญาตให้จัดสอบแยกได้ เพราะการจัดสอบแยก ทำให้นักเรียนเดือดร้อน และไม่ยุติธรรมกับคนที่ไม่มีโอกาสไปสมัครหลายที่

แนวทางที่เสนอนี้ ยังใช้องค์ประกอบเดิมของระบบแอดมิชชัน แต่เปลี่ยนสัดส่วน หรือวิธีการคิดคะแนน แล้วเพิ่มการสอบรายวิชาเฉพาะ ซึ่งเป็นจุดแข็งของระบบเอนทรานซ์เดิม ที่สำคัญคือจัดสอบให้ใกล้สิ้นปีการศึกษามากที่สุด และไม่ควรเกินสองครั้ง ระบบที่เสนอนี้น่าจะทำให้คณะได้นักเรียนที่ตรงสาขา และไม่เป็นภาระกับนักเรียนมากเกินไป ลดการเรียนพิเศษให้น้อยลง คณะและมหาวิทยาลัย ก็ไม่จำเป็นต้องจัดสอบตรงเอง ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทาง ทปอ. และผู้รับผิดชอบจะรับฟังปัญหาต่างๆเหล่านี้ และดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว มิเช่นนั้น ทางคณะต่างๆก็จำต้องจัดสอบตรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความยากลำบากและไม่ยุติธรรมกับนักเรียนที่ขาดโอกาส

หมายเหตุ : ความเห็นส่วนบุคคลของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น