กทม.เตรียมเสนอร่างข้อบัญญัติค่าบริการระบบขนส่ง ให้อำนาจผู้ว่าฯสามารถกำหนดค่าบริการ เข้าสู่สภากทม.เพื่อเห็นชอบ เม.ย.นี้ เผยหากผ่านจะบังคับใช้บีอาร์ที-บีทีเอสเป็นอันดับแรก
นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงผลการประชุมคณะผู้บริหาร กทม. เกี่ยวกับเรื่องการยกร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าบริการระบบขนส่งมวลชนของ กทม.ว่า ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยสามัญ ที่จะเปิดสมัยประชุมในเดือนเมษายนนี้ ทางผู้บริหารของ กทม.จะนำร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าบริการระบบขนส่งมวลชนของ กทม.ให้พิจารณา ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณากฎหมายของกลุ่มภารกิจด้านการบริหารและการปกครองแล้ว
สำหรับเนื้อหาสำคัญในร่างดังกล่าวนั้นจะให้อำนาจแก่ผู้ว่าฯ กทม. ในการประกาศกำหนดอัตราค่าบริการใน 4 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบขนส่งมวลชน กทม. ในส่วนที่กทม.รับผิดชอบการเดินรถ
2.รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ 3.รถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทาง และ 4.เรือโดยสารประจำทางและไม่ประจำทาง ทั้งนี้ การยกร่างข้อบัญญัติดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 92 กทม. อาจให้บริการแก่เอกชน ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และมาตรา 97(4) การคลัง การงบประมาณ การเงิน การทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้างและการพัสดุ ต้องตราเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ไม่ได้หมายความว่า กทม.ยกร่างข้อบัญญัติดังกล่าวเพื่อรองรับการถ่ายโอนอำนาจการบริหารระบบขนส่งทางน้ำ และทางบก มาจากหน่วยงานของรัฐ
ทั้งนี้ หากร่างข้อบัญญัติดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภา กทม.แล้วอาจจะนำมาบังคับใช้ในเรื่องของการเก็บอัตราค่าโดยสารรถบีอาร์ที และรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นอันดับแรก
ด้านนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าบริการระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร ที่จะนำเสนอเข้าสู่สภากทม.เพื่อให้อำนาจผู้ว่าฯกทม.สามารถประกาศกำหนดอัตราค่าบริการในระบบขนส่งมวลชนของกทม.ในอนาคตนั้นจะครอบคลุมทั้งการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสและส่วนต่อขยายของกทม.ทุกสายทางในอนาคต
ขณะที่การกำหนดราคารถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทางนั้นจะไม่ทับซ้อนกับของคมนาคมเพราะข้อบัญญัติส่วนนี้จะรองรับการกำหนดค่าโดยสารรถนักเรียนที่กทม.มีโครงการจะเปิดให้บริการในอนาคตเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาจราจร โดยรถนักเรียนของกทม.จะมีจอโทรทัศน์วงจรปิดเชื่อมต่อกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบได้ว่าบุตรหลานของตนอยู่ ณ จุดใดซึ่งตนเชื่อว่าหากเปิดให้บริการได้จะได้รับความสนใจจากพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมาก
ขณะที่การกำหนดอัตราค่าบริการเรือโดยสารประจำทางและไม่ประจำทางนั้นกทม.จะนำมาใช้กับการเดินเรือในคลองภาษีเจริญ ที่จะเชื่อมโยงกับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสซึ่งการกำหนดอัตราค่าโดยสารต่างๆ ของกทม.จะต้องถูกกว่าอัตราที่หน่วยงานอื่นๆจัดเก็บในปัจจุบันแน่นอน