xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง! แม่ไทยให้นมลูกติดที่โหล่โลก ชี้เหตุฉุดไอคิว-เด็กขี้โรค สธ.จี้แก้ไขด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
สธ.เผยผลสำรวจพบแม่ไทยนิยมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนต่ำติดอันดับสุดท้ายเอเชีย และติดอันดับ 3 ก่อนสุดท้ายของโลก เป็นเหตุฉุดไอคิวเด็กไทยต่ำกว่ามาตรฐาน และ 1 ใน 3 มีพัฒนาการช้า จัดวาระด่วนแก้ไข สร้างอสม. กว่า 8แสนคนทั่วประเทศ เป็นผู้วางรากฐานชีวิตเด็กเกิดใหม่ กระตุ้นหญิงตั้งครรภ์-หลังคลอดให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนให้ได้ หวังเด็กไทยมีไอคิวสูงขึ้น 11 จุด ชี้ประหยัดกว่านมผงเดือนละ 3,000 บาท ขณะที่อธิบดีกรมสุขภาพจิตชี้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดความขัดแย้งเด็กตีกัน ขาดอีคิวยับยั้งชั่งใจ

วันนี้ (29 ม.ค ) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวะพลา อธิบดีกรมอนามัย นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนพ.บวร งามศิริอุดม ที่ปรึกษาและผู้ถวายงานโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ร่วมกันแถลงข่าว การจัดงานรวมพล “อสม.นมแม่ เพื่อสายใยรักแห่งครอบครัว” ซึ่งกำหนดจัดในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ที่เมืองทองธานี เพื่อกระตุ้นส่งเสริมให้คนไทยหันมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน 6 เดือนขึ้นไปให้มากขึ้น

นายวิทยา กล่าวว่า ผลการศึกษาพัฒนาการและระดับสติปัญญาหรือไอคิวของเด็กไทย มีแนวโน้มลดลง ล่าสุดในปี 2545 พบว่าเด็กไทยอายุ 6-13 ปี มีไอคิวอยู่ที่ 88 จุด ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ คือ 90-110 จุด และผลสำรวจพัฒนาการสมวัยของเด็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบ ล่าสุดในปี 2550 พบมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 72 ในปี 2547 เหลือร้อยละ 68 ในปี 2550 ถือเป็นดัชนีชี้วัดอนาคตเด็กไทยที่น่าห่วงมาก ซึ่งทั้งไอคิวและพัฒนาการของเด็ก ร้อยละ 70 เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูในครอบครัว อีกร้อยละ 30 มาจากกรรมพันธุ์

เรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง พบว่า แม่ไทยในยุคหลังๆ นิยมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในอัตราที่ต่ำมาก ผลการศึกษาขององค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2549 พบประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเพียงร้อยละ 5.4 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในเอเชีย และเป็นลำดับที่ 3 ก่อนสุดท้ายของโลก จะต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขจะเน้น 2 เรื่อง คือ พัฒนาโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน ให้เป็นโรงพยาบาลสายใยรักครอบครัว ปลอดการขายนมผง และประกาศให้เป็นปีแห่งการสร้างอนาคตประเทศไทย ส่งเสริม อสม.ทั่วประเทศที่มี 830,000 คน ให้เป็นผู้วางรากฐานชีวิตเด็กเกิดใหม่ที่มีปีละประมาณ 800,000 คน ให้ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของชีวิต เนื่องจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำให้เด็กไทยฉลาด สุขภาพดี อารมณ์ดี มีผลวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า เด็กที่กินนมแม่จะมีปัญญาดี หรือฉลาดกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ถึง 11 จุด ลดโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ ไม่ป่วยบ่อย โดยจะให้ อสม.สำรวจหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดในทุกหมู่บ้านชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และเลี้ยงควบคู่อาหารตามวัยจนลูกอายุ 2 ปีหรือมากกว่า โดย อสม.1 คนจะให้ดูแลสุขภาพครอบครัวคนละ 8-15 หลังคาเรือน และจะให้กรมอนามัยประเมินผลในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นสัปดาห์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โลก ตั้งเป้าจะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนให้ได้ถึงร้อยละ 30

ในการรงค์ให้คนไทยหันมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดโล่รางวัลสาขาการส่งเสริมนมแม่ ให้ อสม.ที่มีผลงานดีเด่นระดับชาติเพื่อเป็นสาขาที่ 11 ด้วย เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานในวัน อสม.แห่งชาติ 20 มีนาคม 2552 นี้ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานพระรูป พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ขณะมีพระชันษาครบ 3 ปี ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำโปสเตอร์ “ฉลาด แข็งแรง อารมณ์ดี เริ่มที่...นมแม่” จำนวน 100,000 แผ่น และใส่กรอบจำนวน 100 ภาพ มอบให้กับบุคคลที่ส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ประธาน อสม.ระดับจังหวัด เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจและเพื่อใช้ในกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

นพ.บวร งามศิริอุดม ที่ปรึกษาและผู้ถวายงานโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กเกิดปีละ 800,000 คน หาก อสม. 1 คนช่วยแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ครบ 6 เดือน จะช่วยประหยัดเงินซื้อนมผงเดือนละ 3,000 บาท หรือปีละ 14,400 ล้านบาท เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากและ เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยที่กำลังประสบวิกฤติถดถอยได้อย่างดี โดยได้กำหนดบทบาท อสม.นมแม่ไว้ 4 ประการ คือ 1.สำรวจหญิงตั้งครรภ์ และเยี่ยมหญิงหลังคลอดที่บ้าน เพื่อช่วยเหลือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 2.เผยแพร่ความรู้ ชักชวนให้แม่หลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวครบ 6 เดือน และกินนมแม่พร้อมอาหารตามวัยจนอายุครบ 2 ปี 3.เฝ้าระวังและปกป้องให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และ 4.ส่งต่อแม่หลังคลอดที่มีปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขช่วยแก้ไข

ด้าน นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการจัดงาน รวมพล “อสม.นมแม่ เพื่อสายใยรักแห่งครอบครัว” ที่ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน ภายในงานจะมีการเสวนา “นมแม่...คือสายใยรัก” โดยมีครอบครัวดารานมแม่ตัวอย่าง คือคุณศศิธร วัฒนกุล หรือคุณลอร่า และคุณเชษฐวุฒิ วัชระกุลหรือคุณบ้วย ร่วมเป็นวิทยากรนมแม่ด้วย และมีการประดิษฐ์หนังสือทำมือ “นมแม่” เพื่อให้ อสม.นำติดตัวกลับบ้านใช้ในการให้ความรู้แม่หลังคลอด และมีการแสดง นมแม่ คือพลังสร้างเด็กไทย ให้ความรู้นมแม่ จากคณะโปงลางสะออน และโขนนมแม่ ประชาชนเข้าชมงานได้ฟรี

สำหรับการพัฒนาศักยภาพ อสม.ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กรมอนามัยได้จัดทำหลักคู่มือ วิทยากร อบรม อสม.นมแม่ เพื่อสายใยรักครอบครัว จำนวน 13,000 เล่ม และคู่มือสำหรับ อสม.อีก 100,000 เล่ม ทั้งนี้ ในส่วนของโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว ปัจจุบันมีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการ 892 แห่ง มีโรงพยาบาลที่ผ่านการประเมินโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัวระดับทอง จำนวน 212 แห่ง โดยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25


ขณะที่ นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีปัญหาการยกพวกตีกันของนักเรียนว่า หากเด็กกินนมแม่จะสามารถช่วยลดปัญหาความขัดแย้งและการทะเลาะวิวาท ซึ่งจากข้อมูลวิชาการพบว่า นมแม่มีส่วนช่วยในเรื่องของการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว อีกทั้งการได้รับความรัก การสัมผัสใกล้ชิดจากมารดาขณะให้นมบุตรก็มีสานสัมพันธ์มีส่วนช่วยในการพัฒนาอีคิวด้วย ซึ่งแนวโน้มอีคิวของเด็กไทยน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

“เด็กตีกันเกิดจากปัจจัย 3-4 เรื่องได้แก่ 1 ความแค้น โดยขาดการเจรจาต่อรอง ขาดอีคิวยับยั้งชั่งใจ 2 รุ่นพี่ทำตัวเป็นฮีโร่ในทางที่ผิด 3 เรื่องของศักดิ์ศรีของสถาบันการศึกษา 4 การสร้างปมขัดแย้งของเด็ก โดยวิธีแก้ไข ไม่ใช่ต่อหน้าก็มาจับมือกัน แต่แท้จริงแล้วมือเย็นเฉียบ แต่เดี๋ยวก็ตีกันใหม่ แต่อยู่ที่การพัฒนาทักษะด้วยการสร้างฮีโร่รูปแบบใหม่ ไม่ใช่นำรุ่นพี่ที่ตีกันมาเป็นฮีโร่ ทั้งนี้ต้องแยกรุ่นพี่เหล่านี้ออกจากรุ่นน้องเพื่อไม่นำเป็นแบบอย่าง และนำพลังที่มาใช้ตีกันสร้างสรรค์ความดีงาม”นพ.ชาตรี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น