xs
xsm
sm
md
lg

ห้องสนทนา ; อดีตนักร้องขวัญใจวัยรุ่น สุชาติ ชวางกูร ร่วมชูธรรมนำหน้าฝ่าอธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในอดีตหากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน วัยรุ่นในยุคสมัยคุณน้าคงไม่มีใครไม่รู้จัก“สุชาติ ชวางกูร” หรือ “ต้น” เจ้าของเสียงร้องอันไพเราะในบทเพลง รักหวานซึ้งอย่าง “ใจรัก”, “เหมันต์ที่ผ่านพ้นไป” และอีกหลายบทเพลงที่ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำของแฟนเพลงทุกคน
แต่หากวันนี้เขากลับมาในมาดใหม่ พร้อมกับปริญญาโทถึง 3 ใบจากอเมริกา คือปริญญาโทหลักสูตรการจัดการระหว่างประเทศ (Master of International Management) จากมหาวิทยาลัยเดนเวอร์ ปริญญาโทวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาการเงิน (Master of Science in Finance) จากมหาวิทยาลัยโคโรลาโด และ ปริญญาโทวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์(Master of Science in Economics) จากมหาวิทยาลัยสเตตยูนิเวอร์ซิตีออฟนิวยอร์ก (State University of New York)
ล่าสุดเขาสวมหมวกใบใหม่ด้วยการรั้งตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการ พัฒนา (The International Institute for Trade and Development-ITD) โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการให้การศึกษาอบรมและค้นคว้าวิจัย เพื่อส่งเสริมการค้า และการพัฒนา และดำเนินกิจกรรมอื่นที่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา
ทว่าใครเลยจะรู้ว่าอีกด้านหนึ่งของชีวิตหนุ่มใหญ่คนนี้ เป็นคนที่ตั้งใจศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง และพร้อมที่จะนำธรรมะนั้นมากล่อมเกลาจิตใจตัวเอง และเผยแพร่หลักธรรมให้คนอื่นได้รับรู้ถึงสัจธรรมของชีวิตอีกด้วย

•คุณต้นเริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาตั้งแต่เมื่อไรคะ
ชีวิตผมตั้งแต่เด็ก ทุกเช้าวันเสาร์คุณแม่จะพาไปแถวเสาชิงช้า เพื่อใส่บาตร จากนั้นก็จะพาไปโบสถ์ในวัดที่อยู่ใกล้ๆกันเพื่อไปสวดมนต์ไหว้พระ พอโตขึ้นมาหน่อยก็จะไปเดินเล่นในวัดพระแก้วกับวัดโพธิ์ เพราะตอนนั้นผมชอบดูภาพวาดจิตกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระแก้ว แต่ในขณะนั้นผมมีความรู้เรื่องพุทธศาสนาแค่งูๆปลาๆ เท่านั้น คือท่องได้เพียงศีล 5 ซึ่งก็จำแบบนกแก้วนกขุนทอง

•แล้วมีเหตุการณ์อะไรคะที่ทำให้มาศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง
มีช่วงหนึ่งที่ผมไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วมีฝรั่งถามว่า ศีล 5 คืออะไร และพิเศษตรงไหน เอาล่ะ ซิคราวนี้ตอบเขาไม่ได้(หัวเราะ) เพราะเราเองก็รู้ไม่จริง รู้เพียงเล็กๆน้อยๆ เท่านั้น และก็ไม่รู้ว่าจะตอบเขาอย่างไรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผมไปค้นหาข้อมูลที่ห้องสมุดก็ไม่มี ก็เลยไปที่ร้านขายหนังสือ สุดท้ายก็ไปได้หนังสือที่มีชื่อว่า What Did the Buddha Teach? ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร?

•ทำไมถึงต้องเป็นหนังสือเล่มนี้คะ
ตอนนั้นมีหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เขียนโดยฝรั่งหลายเล่ม แต่ที่อเมริกาหนังสือแต่ละเล่มค่อนข้างมีราคาแพง ผมก็เลยเอาชื่อคนแต่งหนังสือแต่ละเล่มมาดูก่อน และก็ไปค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต เพื่อดูประวัติของนักเขียนทุกเล่ม และคนเขียนหนังสือแต่ละเล่มล้วนไม่ใช่พุทธศาสนิกชน ด้วยความที่ผมมีความคิดว่าคนที่จะรู้ เรื่องพระพุทธศาสนาได้ก็ควรที่จะเป็นพุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่สำหรับหนังสือเรื่อง What Did the Buddha Teach? ผู้เขียนเป็นพระศรีลังกา และคนแปลก็เป็นฝรั่งที่นับถือศาสนาพุทธ ผมก็เลยเลือกที่จะศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนาจากหนังสือเล่มนี้

•หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง
ผมคงต้องเรียนให้ทราบก่อนนะครับว่า ก่อนที่จะบินไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ คุณน้าของผมได้ให้ผมเอาหนังสือ “คู่มือมนุษย์” ของท่านพุทธทาสภิกขุ ติดตัวไปด้วย แต่ผมอ่านเท่าไหร่ก็ไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่ว่าท่านเขียนไม่ดีหรอกนะครับ เพียงแค่ว่าในขณะนั้น วุฒิภาวะของผมยังไม่พร้อมที่จะอ่าน เรื่องนั้น แต่พอมาอ่านหนังสือเรื่องพระพุทธเจ้าสอนอะไร? ที่เป็นภาคภาษาอังกฤษแล้ว พอผมกลับไปอ่านหนังสือ “คู่มือมนุษย์” ก็ทำให้เข้าใจเรื่องของพระพุทธศาสนามากขึ้น และก็พร้อมที่จะกลับไปตอบคำถามคนที่เขาเคยถามได้อย่างมั่นใจว่า พระพุทธศาสนาคืออะไร

•จากนั้นชีวิตเปลี่ยนไปหรือเปล่า
หลังจากที่ศึกษาธรรมะแล้วทำให้ผมรู้จักใช้พลังงานของ ตัวเองในทางที่เป็นสาระมากขึ้น เพราะถ้าเราไม่มีธรรมะ มาประคองใจ ก็จะเคียดแค้นครุ่นคิดเรื่องต่างๆอย่างมาก มาย ผมเคยเห็นหลายคนที่มีปัญหาจนนอนไม่หลับ คือ คนที่โดนกระทำต่างๆจะนอนไม่หลับ เพราะจะคอยคิดหาวิธีการแก้แค้น และก็มีจิตฟุ้งซ่าน แต่ถ้าเราใช้ธรรมะมาควบคุมสติก็จะทำให้เรามีเหตุผล ควบคุมตัวเองได้ ปัญหาและเรื่องเลวร้ายต่างๆก็ไม่เกิดขึ้น
ผมเคยไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับ “อีคิว” (Emotional Quotient-ความฉลาดทางอารมณ์) เป็นหนังสือที่ฝรั่งนิยมเขียนมาก และสามารถสร้างกำไรให้ผู้เขียนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่พอเราไปศึกษาจริงๆ ก็จะรู้ว่าทั้งหมด ที่เขาเขียนไว้ในหนังสือก็คือ การนำคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนามาขยายผล ด้วยการนำหลักคำสอนเรื่องยับยั้งชั่งใจ มาใช้ในการเขียน โดยมีวัตถุประสงค์คือไม่ให้คนหลงมัวเมาไปตามกิเลสตัณหาที่พุ่งเข้ามาในชีวิตประจำวัน

• ทุกวันนี้ได้นำหลักคำสอนเกี่ยวกับเรื่องการยับยั้ง ชั่งใจไปใช้มากน้อยแค่ไหนคะ
ชีวิตของคนเราทุกคนก็ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทุกอย่างนะครับ บางครั้งเราต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจให้มันเกิดขึ้น แต่เมื่อเรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอยู่นั้น สิ่งแรกที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ มาคิดดูว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เพราะบางครั้งปัญหาก็เกิดมาจากตัวเราเอง เราก็ต้องแก้ไขที่ตัวเราก่อน หรือเกิดจากบุคคลอื่น เราก็ต้องพยายามใช้สติแก้ไขปัญหา เช่น ถ้าเราสั่งงานให้ลูกน้องทำ แล้วเขาทำไม่ได้อย่างที่ใจเราต้องการ และเรารู้สึกไม่พอใจ เราต้องตั้งสติและดูว่าทำไมเขาถึงไม่ทำงานให้สำเร็จลุล่วงตามที่เราคิดไว้ ถ้าบางคนไม่มีสติยับยั้งชั่งใจก็อาจจะเกรี้ยวกราดใส่ลูกน้อง จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตได้ในภายหลัง หรือบางครั้งอาจจะต้องสูญเสียบุคลากรไป แต่ถ้าเรามาใช้เหตุผลและหันหน้าคุยกัน รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น เพียงเท่านี้เราก็ไม่ต้องเครียดกับปัญหาที่เกิดขึ้น

•ทำไมถึงตัดสินใจทิ้งวงการนี้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ
ช่วงที่ผมไปเรียนต่อต่างประเทศนั้นความนิยมในตัวผมก็ยังไม่ได้ลดลง แต่เหตุผลที่ไปนั้นมีผู้ใหญ่หลายๆ คนบอกว่า ถ้าเราไปในขณะที่เขาคิดถึงเรา ยังดีกว่าไปตอนที่เขาไม่คิดถึงเราแล้ว ซึ่งมันก็เป็นความจริง เพราะผมกลับมาอยู่เมืองไทยนานแล้ว ทุกคนก็ยังคงจดจำผมได้ และยังอยากให้ไปร้องเพลงในงานเปิดตัวต่างๆอยู่เสมอ
• รวมถึงการไปร้องเพลงบนเวทีพันธมิตรฯด้วยนะคะ คิดอย่างไรคะที่ไปขึ้นเวที ซึ่งดาราคนดังน้อยคนนักจะ กล้าขึ้น
เหตุผลที่ผมมาขึ้นบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น เพราะว่าผมทนกับความอยุติธรรมของสังคมไม่ได้ ทุกวันนี้คนเรากำลังนำธรรมะมาใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะหลายคนมักมองว่าคนไหนเล่นพรรคเล่นพวก หรือคนไหนเป็นศรีธนญชัยได้ คนนั้นก็ยังอยู่ในสังคม อย่างมีความสุข ซึ่งผมถามว่านี้มันผิดกฎธรรมชาติหรือไม่ ต่อไปใครที่เอาเปรียบประชาชนได้ คนนั้นถือเป็นคนเก่งอย่างนั้นหรือ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง
ทุกวันนี้คนในสังคมบ้านเรามีอยู่ 3 ประเภทคือ 1. รู้ว่ามันมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นแต่ก็ยังเฉยๆ แล้วก็ทนกับความไม่ถูกต้องกันต่อไป ประเภทที่ 2 คืออย่าไปยุ่งกับเขาเลย ปล่อยมันไปเถอะ และประเภท 3 คือรู้ แต่ไม่อยากยุ่ง ปล่อยให้คนชั่วโกงกินบ้านเมืองต่อไป
สาเหตุที่เป็นอย่างนี้เพราะเราใช้หลักธรรมะผิดหมด คือ ถ้าเราทำงานกัน 5 คน มีเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มทำงานแอบขโมยของบริษัทไปขาย และมีอีกคนไปเห็นก็ไปบอกเพื่อนอีก 2 คนให้ช่วยกันตักเตือน แต่เพื่อน 2 คนนั้นกลับ บอกว่าปล่อยมันเถอะทั้งๆที่เห็นความร้ายกาจของเพื่อนคนนั้น แต่ขณะเดียวกันเพื่อนอีก 2 คนที่เหลือกลับทนเห็นความเลวร้ายไม่ได้ จึงนำเรื่องนี้ไปฟ้องเจ้านาย ปรากฏว่าเจ้านายไม่ว่ากล่าวตักเตือนคนที่เอาของไปขาย แต่กลับปล่อยให้เขากระทำผิดต่อไป ส่วนคนที่เอาเรื่องนี้ไปฟ้องเจ้านายกลับเป็นฝ่ายโดนสังคมประณามว่าเป็นคนขี้ฟ้องทำให้สังคมวุ่นวาย เพราะฉะนั้นเราต้องกล้าที่จะออก มาเปิดโปงคนทำชั่ว ไม่ควรปล่อยให้เขาทำร้ายสังคมและประเทศชาติต่อไป

•ไม่กลัวผลกระทบที่จะตามมาหรือคะ
ผมไม่กลัวหรอก เพราะผมประกาศตอนที่ขึ้นเวทีแล้วว่า “ออกเป็นออก” ผู้บังคับบัญชาจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ เพราะผมรู้สึกว่าทั้ง 5 แกนนำไม่ได้ทำเพื่อตนเอง อย่างที่ผมเคยบอกนะครับว่าถ้าเราโดนทำร้ายขนาดนั้น เราอยู่ในสังคมด้วยความอยุติธรรม ไม่ได้รับความเป็นธรรม เราก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ คนเราเกิดมามันต้องตายทุกคนแหละครับ แต่ผมขอเลือกตายตอนนี้ยังดีกว่าตอนที่บ้านเมืองมันยับเยินเพราะคนพาล
ผมไม่เห็นด้วยที่ทุกวันนี้คนมักจะมองถึงแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมประท้วงของพันธมิตรฯ ว่าทำให้ปัญหาเศรษฐกิจมันแย่ แต่ทำไมทุกคนถึงไม่มองถึงปัญหาที่มันเกิดขึ้นว่า ทำไมทั้ง 5 แกนนำต้องลุกขึ้นมาปลุกคนขึ้นมาชุมนุม การที่นักวิชาการทุกแขนงออกมาบอกว่าให้หันหน้าเข้าหากัน ต้องสมานฉันท์ ต้องเป็นกลาง ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ใช่ ตอนนี้มันต้องคุยไปเลยว่าอะไรผิดอะไรถูก และฟันธงลงไปเลยว่าใครถูกใครผิด ผมไม่ได้หมายความว่าให้คนไทยทุกคนมาแบ่งข้าง หรือบอกว่าคนเราถ้าขัดแย้งกันต้องลุกขึ้นมาฆ่ากัน แต่คนเราจะต้องมีความมั่นคงและกล้าหาญในการตัดสินใจว่าใครถูกใครผิด ไม่อย่างนั้น สังคมก็คงจะต้องเสื่อมความดี เพราะเราปล่อยให้คนชั่วเรืองอำนาจอย่างผิดๆ

•นอกจากร้องเพลงบนเวทีพันธมิตรฯแล้วมีปราศรัยด้วย ไหมคะ
หน้าที่ของผมบนเวทีนอกจากจะใช้เสียงเพลงปลอบประโลมจิตใจของคนให้รู้สึกผ่อนคลายแล้ว บางครั้งผม ก็ปราศรัยด้วย โดยจะให้ความรู้กับประชาชนที่มาฟังการ ชุมนุมได้เห็นถึงความเลวร้ายในระบอบทักษิณ ผมขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ครั้งแรกคือวันที่ 29 สิงหาคม 2551 เพราะทนกับภาพที่ตำรวจทำร้ายประชาชนที่มาร่วมชุมนุมไม่ได้ ผมขออนุญาตใช้คำว่า “ทำร้าย” นะครับ ไม่ใช่การ “ปะทะ” เพราะภาพที่ออกมามีเพียงแต่ตำรวจเท่านั้นที่ทำร้ายประชาชน ผู้หญิงและคนชรา และครั้งต่อมาก็คือวันที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีข่าวว่ากลุ่มนปก. (แนวร่วมประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการ)จะเดินทางมาปิดล้อมสถานีโทรทัศน์ ASTV ที่ถนนพระอาทิตย์ ผมจึงมาร้องเพลงบนเวทีที่หน้าบ้านพระอาทิตย์สลับกับการปราศรัย เพื่อให้กำลังใจผู้ที่มาร่วมชุมนุม

•ในฐานะที่เคยเป็นขวัญใจวัยรุ่น อยากให้มองภาพการตื่นตัวของนักศึกษาต่อการเมืองไทยในปัจจุบันว่า เป็นอย่างไรบ้าง
ทุกวันนี้เราคงต้องยอมรับว่าการเมืองภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทในสังคม มากกว่าการเมืองภาคนักศึกษาเป็นเพราะเรายังไม่ไม่ได้ปลูกฝังให้เด็กลุกขึ้นมาสนใจการเมืองอย่างแท้จริง จึงทำให้เด็กไม่ค่อยสนใจการเมือง เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากการถูกมอมเมาจากรายการโทรทัศน์ที่ไร้สาระ ดังนั้นเราต้องปลูกฝังเรื่องนี้ตั้งแต่วัยเยาว์

•ถ้าอย่างนั้นจะมีวิธีปลูกฝังเยาวชนได้อย่างไรคะ
เราต้องปลูกฝังให้เขาเห็นของจริง เพราะสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น การปลูกฝังนั้นต้องมาจากนโยบายของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่กำกับดูแลทางด้านการศึกษา ว่าถ้าพวกเขามีความปรารถนาจะให้คนเข้าใจเรื่องการเมือง เข้าใจระบอบประชาธิปไตย จะต้องมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยส่งเสริมการมีส่วนร่วมกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษา และต้องคิดว่าควรมีกิจกรรมอะไรบ้างที่จะส่งเสริมให้นักศึกษามีส่วนร่วมทางระบอบประชาธิปไตย
แต่ทุกวันนี้ผมเห็นว่าการศึกษาของบ้านเรากำลังย้อนไปสู่ยุคที่ อาจารย์วิทยากร เชียงกูล เจ้าของหนังสือ “ฉันจึง มาหาความหมาย” ได้เขียนบทกวีที่มีอิทธิพลมากที่สุดชิ้น หนึ่งในช่วงก่อน 14 ตุลาฯคือ “ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว” การศึกษาบ้านเราทุกวันนี้ กำลังจะทำให้คนศึกษาได้กลับไปอยู่ในยุคนั้นอีกครั้งหนึ่ง คือ ได้ เพียงแค่กระดาษแผ่นเดียวกลับไปบ้าน แล้วนำใบปริญญา ไปติดไว้ที่ข้างฝาบ้านเท่านั้น แต่ไม่ได้ให้ความรู้หรือปลูกฝังให้คนมีความรับผิดชอบกับสังคมส่วนรวมเลยแม้ แต่น้อย ดังนั้นเวลาที่ผมสอนหนังสือนักศึกษา ผมจะสอนให้ทุกคนมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยว่าที่ถูกต้องมันควรจะเป็นอย่างไร เพราะอย่างน้อยในวันข้างหน้า พวกเขาคือพลังสำคัญของประเทศชาติในการที่จะขับเคลื่อนระบอบ ประชาธิปไตยให้เดินต่อไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง

•คิดว่าการศึกษาทุกวันนี้มีส่วนช่วยให้เป็นคนดีได้ หรือไม่
การศึกษาไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนเป็นคนดีหรือ ฉลาดได้ เพราะขนาดคนที่จบถึงปริญญาเอกก็ยังโกงกิน บ้านเมือง ทำลายประเทศชาติ การศึกษาเพียงแต่บอก เท่านั้นว่าคุณมีความสามารถที่จะเรียนรู้ได้ แต่ไม่ได้บอกว่า คุณเป็นคนดี มีคำพูดหนึ่งที่อาจารย์ของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ท่านบอกว่า ทุกวันนี้สังคมกำลังเสื่อมคุณธรรมและความดี เราได้แต่เจริญด้านวัตถุ แต่ไม่เจริญ ทางด้านจิตใจและปัญญา ทุกวันนี้คนที่มียศตำแหน่งสูงๆ ก็ยังไม่เข้าใจเลยว่าการเมืองภาคประชาชนคืออะไร ดังนั้นการศึกษามันไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นเลยว่าคนคนนั้นจะต้องฉลาด หรือเป็นคนดี แต่การมีจิตใจที่ดีงามนั้นต่างหากเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าคุณเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ

•ทุกวันนี้คิดว่าตัวเองได้ทำความดีสูงสุดให้กับชีวิตแล้วหรือยังคะ
ในขณะนี้ผมคิดว่าตัวเองยังไม่ได้ทำความดีสูงสุดที่สุด เพราะเราจะไปยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งนั้น ผมเชื่อว่าสิ่งที่เป็นความดีเราสามารถทำได้ทุกวัน ดังนั้นคนที่บอกว่าตัวเองทำความดีด้วยการพาคนแก่ข้ามถนน หรือเก็บของได้แล้วเอาไปคืนเจ้าของ ผมถือว่านี้เป็นความดีเล็กๆน้อยๆ ซึ่งใครก็ทำกัน แต่ความดีสูงสุดก็คือ เราต้องกล้าที่จะบอกว่าเจ้านายคุณกำลังกระทำการไม่เหมาะสม กำลังโกงกินอยู่ และต้องกล้าที่จะไปเรียกร้องความถูกต้อง นั่นต่างหากที่ผม คิดว่ามันคือความดีที่สูงสุด แต่ทุกวันนี้คนไม่ค่อยกล้าทำ เพราะกลัวการเจ็บตัวกลัวถูกผู้คนประณามว่าทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน ดังนั้นทุกวันนี้คนส่วนใหญ่จึงกลัวการที่จะทำความดี
.........
สุชาติ ชวางกูร หนุ่มใหญ่ในวัย 48 ปีที่บอกว่าถึงแม้ว่าตัวเองกำลังจะเดินทางเข้ามาสู่ครึ่งหนึ่งของชีวิตแล้วก็ตามที แต่เขาก็ขอเป็นอีกหนึ่งคนที่จะเริ่มต้นชีวิตในการขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยโดยนำหลักธรรมะเข้ามาใช้อย่างถูกต้องในสังคม เพื่อเป็นหลักยึดให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างร่มเย็นต่อไป

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 95 ต.ค. 51 โดยพิจิกา)
กำลังโหลดความคิดเห็น