xs
xsm
sm
md
lg

7 ต.ค.ทำสังคมเครียดหนัก กรมสุขภาพจิตเผยคนแห่โทร.ปรึกษาเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต ห่วงสังคมไทยเครียดหนัก จากเหตุการณ์ 7 ตุลา เชื่อส่งผลกระทบต่อจิตใจประชาชนในวงกว้าง เสี่ยงเกิด PTSD เผยประชาชนแห่โทร.ปรึกษาปัญหาเครียดจำนวนมาก เทียบพฤษภาทมิฬ เหยื่อ ญาติ กระทบจิตใจรุนแรง เตรียมส่งหมอเจ้าหน้าที่เยียวยา แนะอย่าพาเด็กไป พร้อมจัดทำแบบทดสอบความเครียดวัดสภาพจิตใจ

เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 10 ตุลาคม ที่กรมสุขภาพจิต นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวถึงกรณีสถานการณ์การเมืองที่มีความขัดแย้งรุนแรง ว่า จากเหตุการณ์การสลายชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความสูญเสีย บาดเจ็บต่อร่างกายและจิตใจของประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อให้เกิดความเครียด และความตื่นตระหนก

โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ สามารถแบ่งออกได้ 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มผู้ประสบเหตุโดยตรง 2.กลุ่มญาติมิตร และ 3.กลุ่มคนที่ติดตามข่าวสาร ซึ่งการรับรู้และความรู้สึกของคนต่อวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติและฝีมือของมนุษย์นั้นต่างกัน โดยทั่วไป วิกฤตที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์มักส่งผลกระทบต่อจิตใจที่รุนแรงและยาวนานกว่า

นพ.ชาตรี กล่าวว่า ประชาชนจะเกิดความเครียด เนื่องจากร่างกายและจิตใจเกิดการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ โดยร้อยละ 80-90 ของผู้ที่ประสบเหตุการณ์วิกฤต จะเกิดอาการเช่นนี้อยู่แล้ว ภายใน 1 สัปดาห์ - 1 เดือน และจะหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่สำหรับบางคนไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเครียดภายหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในระยะยาวได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง มีประชาชนจำนวนมากได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามถึงปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นจำนวนมาก

นพ.ชาตรี กล่าวว่า สำหรับผลกระทบที่ถือเป็นอาการปกติภายหลังจากประสบเหตุวิกฤติ มี 4 ด้าน ดังนี้ 1.ด้านอารมณ์ มีอาการ โกรธ สิ้นหวังมึนชา ไร้ความรู้สึก หวาดผวา 2.ด้านความคิด ขาดสมาธิ รู้สึกว่าตนเองไม่ปลอดภัย โกรธ โทษตัวเองและบุคคลอื่น หาแพะรับบาป หรือ ผู้รับผิดชอบ 3.ด้านร่างกาย มีการเมื่อยล้า ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และ4.ด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น มักจะแยกตัว หลีกหนีสังคม มีความคิดขัดแย้งกับผู้อื่น ดังนั้น การเยียวยาให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจเบื้องต้น (Psychological First Aid : PFA) เป็นสิ่งสำคัญมาก เช่น การแสดงความเป็นมิตร พูดคุย รับฟังสิ่งที่ผู้ประสบเหตุระบายออกมาอย่างตั้งใจและเห็นใจ เพื่อลดความตึงเครียด สัมผัส จับมือ ปลอบประโลม ให้กำลังใจ ให้เขารู้สึกปลอดภัย ตลอดจนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้เกิดขึ้น

นพ.สุจริต สุวรรณชีพ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การบำบัดและเยียวยาเหยื่อในเหตุการณ์เป็นสิ่งที่สำคัญมากและต้องเร่งช่วยเหลือ โดยกรมสุขภาพจิต ประสานกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ เตรียมส่งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตลงพื้นที่ดูแลจิตใจผู้บาดเจ็บและญาติผู้สูญเสีย จำนวน 478 คน เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว ซึ่งเป็นมาตรการการเยียวยาเดียวกับผู้ประสบเหตุพฤษภาทมิฬ ผู้ประสบภัยสึนามิ และเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วน สุขภาพจิต 1323 จะมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา โดยในรายที่มีอาการหนัก จะจัดทีมไปรับผู้ป่วยส่งรักษาโรงพยาบาลทันที

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา เคยมีการติดตามครอบครัวของผู้อยู่ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งเกิดความสูญเสียจำนวนมาก ทำให้พบว่า ความเศร้าโศก และผลกระทบเกิดขึ้นกับครอบครัว และผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ เกิดผลกระทบเรื่องความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ไม่มีความไว้วางใจผู้อื่น โดยจะมี 3 ลักษณะคือ เก็บตัว แสดงออกด้วยความรุนแรง หรือ หลบหนีจากสังคม ซึ่งขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางจิตใจของบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างไร จึงควรให้การดูแลผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งมากและน้อย เพื่อเยียวยาจิตใจ

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ที่ประสบเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงโดยตรง สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจได้ ซึ่งควรมีการเสนอความช่วยเหลือทางด้านจิตใจโดยคนใกล้ชิดควรเป็นผู้ดูแลให้กำลังใจ เป็นผู้รับฟังปัญหา ขณะนี้สังคมไทยเหมือนอยู่บนทางสองแพร่ง ที่จะวิกฤตมากขึ้นจากความเคียดแค้น ชิงชัง และกล่าวโทษซึ่งกันและกัน ดังนั้น จึงควรเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสในการที่จะปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ปรับปรุงวิธีการแก้ไขความขัดแย้งของเจ้าหน้าที่ไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรง เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นต้นทุนของสังคมไทยต่อไปในการแก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงแต่ยึดมั่นในประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประชาชนควรถือเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ เผชิญกับความคิดเห็นที่แตกต่างด้วยใจที่เปิดกว้างไม่ใช้อารมณ์ มองว่าการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างทำให้ได้ข้อมูลข่าวสาร ที่รอบด้าน และยอมรับว่า ผู้ที่มีความเห็นต่างก็มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมืองเช่นกัน ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์และการแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายก็จะลดลง ทำให้ความแตกต่างกลายเป็นพลังสังคม เกิดความตื่นตัวและการตรวจสอบทางการเมือง และเรียนรู้ที่จะทำให้กลายเป็นการแก้ปัญหาในอนาคต” นพ.ยงยุทธ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยสำนักสุขภาพจิตสังคม กล่าวว่า กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ เด็กที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุม การเห็นภาพรุนแรงมีผลกระทบโดยตรงกับเด็ก ทั้งเด็กที่ได้รับบาดเจ็บและไม่ได้รับบาดเจ็บ ผู้ปกครองจำเป็นต้องประเมินในการให้เด็กเข้าไปอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น เช่นเดียวกับการชมโทรทัศน์ ยิ่งเป็นเด็กเล็ก จะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นอะไร และเกิดความกลัวในที่สุด ส่งผลกระทบที่สังเกตได้คือ เด็กเลี้ยงยากขึ้น กินยาก นอนยาก ส่วนผลกระทบจิตใจอาจส่งผลในระยะยาวโดยเฉพาะเด็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่เห็นเหตุการณ์ ผู้ปกครองที่พาบุตรหลานไป ซึ่งมีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์อยู่แล้ว อาจไม่ทันได้ดูแลและระวัง ในการให้เด็กได้รับรู้ความรุนแรง หรือ ฟังคำพูดที่หยาบคาย ซึ่งพ่อแม่จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณและไม่ควรปลูกฝังความเกลียดให้กับเด็ก แต่ควรอธิบายเหตุผลเพื่อสร้างความฉลาดทางอารมณ์

“การตรวจสอบสภาพจิตใจของตนเองจากเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ได้หมายถึง ผู้ชุมนุม หรือ ตำรวจ เกิดความเจ็บป่วยทางจิตขึ้น เพราะความเครียดถือเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ในสภาพสถานการณ์ที่ไม่ปกติ การตรวจสอบสภาพจิตใจตนเองจึงเปรียบเหมือนเป็นการวัดไข้ หากทราบว่ามีไข้ จะได้รับประทานยา ปรึกษาหมอไปตามอาการ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นอาการทางจิตแต่อย่างใด ซึ่งความเครียดจำเป็นต้องควบคุมอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาต่อสุขภาพจิต” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถทำแบบประเมินเพื่อทดสอบสภาพจิตใจของตนเองอย่างง่าย ว่ามีความเครียดทางการเมืองหรือไม่ โดยตอบคำถามจากแบบประเมินความเครียด 8 ข้อ โดยแบ่งคะแนนเป็น ไม่มี 0 คะแนน มีบางครั้ง 1 คะแนน มีบ่อย 2 คะแนน มีทุกวัน 3 คะแนน โดยคำถาม 8 ข้อ คือ 1 ท่านรู้สึกกังวลเมื่อต้องแสดงความเห็นทางการเมือง 2 ท่านรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น 3 การรับรู้เหตุการณ์ทางการเมืองทำให้ท่านรู้สึกหงุดหงิด/โกรธ/โมโหง่าย 4 เหตุการณ์ทางการเมืองทำให้ท่านนอนไม่หลับหรือหลับยาก 5 ท่านไม่มีสมาธิในการทำงานหรือทำกิจวัตรต่างๆ เมื่อนึกถึงการเมือง 6 การเมืองทำให้ท่านทะเลาะหรือโต้เถียงกับคนอื่น 7 ท่านรู้สึกใจสั่นเมื่อรับรู้เหตุการณ์ทางการเมือง 8 ท่านคิดวนเวียนเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง หากรวมคะแนนแล้ว ได้ตั้งแต่ 9 คะแนนขึ้นไป ถือว่าเครียดรุนแรง ควรได้รับคำแนะนำจากบุคลากรด้านสุขภาพจิต หรือ สายด่วน 1323

กำลังโหลดความคิดเห็น