xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤติเด็กไทยปี 51 ไอคิวตก อีคิวต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยผลสำรวจระดับไอคิว อีคิวของเด็กไทย ปีล่าสุดพบลดลงจากการสำรวจเดิมในปี 2545 เหตุมาจากสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม เปลี่ยนไปส่งผลเด็กมีพัฒนาการลดลง เผยเด็กเล็กภาคเหนือมีระดับไอคิว อีคิวสูงกว่าภาคอื่น แนะผู้ปกครองใช้หลัก “เคล็ดลับ 6+8 เพิ่ม IQEQ” เสริมพัฒนาการ ยกระดับสติปัญญาเด็กได้

วันนี้ (3 ก.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ร่วมกับสถาบันรามจิตติ จัดทำ “โครงการติดตามสภาวการณ์ไอคิวและอีคิวของเด็กไทย หรือ IQ/EQ Watch” เพื่อการศึกษาปัจจัยที่นำมาสู่ระดับไอคิวและอีคิวที่แตกต่างกันของเด็กไทย

พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงผลการสำรวจว่าโดยรวมนั้นจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ก็จะพบว่าในความปกตินี้ก็จะมีความแตกต่างกันอยู่ เช่นเด็กจะมีทั้ง ไอคิวสูงอีคิวต่ำ ไอคิวต่ำอีคิวสูง หรือสูงทั้งไอคิวและอีคิว ซึ่งความแตกต่างตรงส่วนนี้ทำให้ต้องมีการทำการสำรวจและศึกษาถึงเหตุปัจจัย เพื่อหาความชัดเจนในการส่งเสริมไม่ให้เกิดความแตกต่างเกิดขึ้น

โดยพัฒนาการของเด็กไทยมีแนวโน้มที่ลดลง แต่เป็นการลดลงที่อยู่ในภาวะปกติหากวัดจากผลการสำรวจในครั้งที่ผ่านมา จะพบว่า การสำรวจเมื่อปี 2545 เด็กอายุ 0-5 ขวบ จะมีพัฒนาการปกติที่ร้อยละ 71.69 แต่เมื่อสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2550 พบว่าลดลงอยู่ที่ร้อยละ 67.7 ในส่วนของสุขภาพจิตและระดับสติปัญญาของเด็กในช่วงอายุ 3-11 ขวบ โดยใช้นักจิตวิทยาในการเก็บข้อมูลจากเด็กทั่วประเทศ 7,391 คน พบว่าระดับสติปัญญาเฉลี่ยที่ 103.09 หากแบ่งเป็นระดับจะได้ว่า เด็กอนุบาล มีระดับสติปัญญาเฉลี่ยที่ 110.67 เด็กประถมฯ มีระดับสติปัญญาเฉลี่ยที่ 97.31 ส่วนเด็กผู้ชายมีระดับสติปัญญาเฉลี่ยที่ 102.3 เด็กผู้หญิงมีระดับสติปัญญาเฉลี่ยที่ 103.99 ในด้านความฉลาดทางอารมณ์ สำรวจกับเด็กวัย 3-5 ขวบ ในปี 2545 พบอยู่ในเกณฑ์ปกติที่ 139-202 คะแนน แต่เมื่อสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2550 ก็อยู่ในเกณฑ์ปกติแต่อยู่ในภาวะลดลงที่ 125-198 คะแนน ในด้านของความคิด การปรับตัวต่อปัญหา และความกระตือรือร้นสำรวจจากเด็กวัย 6-11 ขวบ ผลสำรวจในปี 2545 พบอยู่ในเกณฑ์ปกติเช่นกันที่ 148-222 คะแนน แต่กับการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2550 กลับอยู่ในเกณฑ์ปกติที่อยู่ในภาวะลดลงที่ 129-218 คะแนน

“จะพบว่า จากการสำรวจครั้งล่าสุดนี้เด็กไทยก็ยังมีสภาวะทางสติปัญญาและสภาวะทางอารมณ์ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่จะเห็นว่าในความปกตินี้เองจะมีตัวเลขที่ลดลงจากกรสำรวจในครั้งที่ผ่านมา ซึ่งหากไม่ลงมือทำอะไรเชื่อได้ว่าในอนาคตเกณฑ์เหล่านี้จะยิ่งลดลง และอาจจะส่งผลให้การพัฒนาการทั้งสองด้านของเด็กเสื่อมลง และยิ่งในปัจจุบันสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง และสับสนอย่างมากก็จะเป็นตัวที่ทำให้วุฒิภาวะของเด็กลดลงตามมา” ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าว

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า ในสภาวการณ์ปัจจุบันมีบริบททางสังคม สิ่งแวดล้อม เปลี่ยนไป ทำให้เด็กมีความแตกต่างกันทั้งไอคิวและอีคิว และปัจจัยที่จะเป็นตัวสนับสนุนที่ส่งผลต่อพัฒนาการทั้งด้านไอคิวและอีคิวนั้นมีหลายด้าน ได้แก่ “เคล็ดลับ 6+8 เพิ่ม IQEQ” ซึ่งหมายถึง 6 เคล็ดลับในการเลี้ยงดูลูก ได้แก่ การกอด, การกล่าวคำชมลูก, การเล่นกับลูก, การสร้างนิสัยรักการอ่าน, การมีส่วนร่วมในการรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน และพ่อแม่เองต้องไม่ติดโทรทัศน์ ส่วนอีก 8 ข้อ คือ การส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งหมายถึง การฝึกให้เด็กซักถาม, ให้คิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง, การเล่นเกมที่พัฒนาความคิดและฝึกสังเกต, การเล่นเกมพัฒนาการวางแผน, การจัดให้มีหนังสือที่มีคุณภาพในบ้าน, การส่งเสริมให้เด็กฝึกเขียนบันทึก, ฝึกให้เด็กประดิษฐ์ของเล่นเอง และการทดลองวิทยาศาสตร์อย่างง่ายที่บ้าน นี่เป็นส่วนที่ครอบครัวสามารถช่วยได้

นอกจากนี้ ในส่วนของโรงเรียนนั้นจะพบว่าเด็กที่สนใจเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ จะมีพัฒนาการของไอ คิวและอีคิวสูงซึ่งแตกต่างจากเด็กที่ไม่สนใจ และเด็กที่มีเพื่อน มีสังคม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกัน ตรงนี้เป็นการส่งเสริมในส่วนของวุฒิภาวะทางอารมณ์ อีกทั้งในระบบวิธีการสอนต้องเน้นให้เด็กใช้ความคิด มากกว่าการท่องจำ ซึ่งส่วนนี้จะส่งผลอย่างชัดเจน

ดร.อมรวิชช์ กล่าวอีกว่า ในส่วนที่มีการสำรวจจากเด็กทั่วประเทศนั้นก็พบอีกเช่นกันว่าในแต่ละภาคระดับของไอคิวและอีคิวไม่ได้มีความแตกต่างกัน แต่หากมองในเชิงตัวเลขของสถิตินั้นจะพบว่าเด็กเล็กทางภาคเหนือจะมีระดับของไอคิวและอีคิวที่ค่อนข้างสูงกว่าภาคอื่น แต่ถึงอย่างไรทุกภาคก็มีระดับที่ทัดเทียมกันและเป็นมาตราฐาน

กำลังโหลดความคิดเห็น