xs
xsm
sm
md
lg

ธีระศักดิ์ กำบรรณารักษ์ อัจฉริยะรุ่นใหม่วัดกันที่ "6Qs"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความเชื่อและมุมมองเดิม ๆ ของใครอีกหลายคนในสังคม ยังคงยินดีและเต็มใจจะมอบคำว่า “อัจฉริยะ” ให้กับคนที่มีเชาวน์ด้านสติปัญญาสูง (Intelligence Quotient) กว่าคนธรรมดา มีความฉลาดด้านอารมณ์ (EQ) สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม หรือกระทั่งมีความ “อึด” (AQ) ที่จะก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อไปถึงยังจุดหมาย

แต่ก็ยังมีนักคิดอีกหลายคนยังคงที่เสาะแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ มุมมองใหม่ ๆ สำหรับความหมายของคำว่า “อัจฉริยะ” เนื่องจากเชาวน์ปัญญาในระดับที่สูงกว่าปกติทั่วไป หรือความฉลาดทางอารมณ์ ตลอดจนความอึดนั้น ยังไม่สามารถตอบโจทย์ของชีวิตได้อย่างครอบคลุมทั้งหมด

ผศ. ธีระศักดิ์ กำบรรณารักษ์ บุคคลที่ MGR Lite ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ในวันนี้ เป็นหนึ่งในนักวิชาการผู้ค้นคว้าและค้นคิดคำตอบดังกล่าว ปัจจุบันเขาเป็นทั้งนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้าน เชาวน์ความอึด (Adversity Quotient :AQ) และเชาวน์ด้านอารมณ์ (Emotional Quotient: EQ) เป็นทั้งที่ปรึกษาและวิทยากรด้านจิตวิทยาการบริหารแรงจูงใจในการทำงาน ตลอดจนเป็นผู้นำกิจกรรมทางด้านจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ในกิจกรรม Walk Rally จนกลายเป็นต้นแบบของกิจกรรม Walk Rally ในทุกวันนี้ ล่าสุด เขาจึงได้เขียนหนังสือ “ชนะชีวิต คิดอย่างอัจฉริยะ” เพื่อจะบอกกับเราว่า ความสำเร็จของชีวิตมนุษย์ ไม่ได้มีแค่ IQ, EQ หรือ AQ หากยังมีอีก 3 ปัจจัยร่วมด้วย ซึ่งได้แก่ MQ (Morality Quotient) เชาวน์ด้านจริยธรรม, HQ (Health Quotient) ความมีสุขภาพดี และ SQ (Spiritual Quotient) เชาวน์ด้านจิตวิญญาณ

อาจารย์ธีระศักดิ์เล่าถึงความสำคัญและความเชื่อมโยงของทั้ง 6Qs ว่า "6Qs มีความสำคัญเท่า ๆ กัน เพราะมันต่อเนื่องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่าง คนที่มีไอคิวสูง ๆ ถ้าขาด EQ ก็จะกลายเป็นคนเจ้าอารมณ์เอาแต่ใจตัวเอง ขาดมนุษยสัมพันธ์ แต่คนที่ IQ ดี EQ ดี แต่ขาดเชาวน์ด้าน AQ หรือเชาวน์ความอึดในการเผชิญปัญหา เวลาเจอวิกฤติ ก็อาจถอดใจได้ง่าย ๆ จะเห็นได้ว่า คนเหล่านี้แม้จะเก่งแต่ก็ยากจะประสบความสำเร็จ" โดยได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับความอึดของเด็กไทยประกอบว่า

“สำหรับเชาวน์ด้านความอึด หากมีการพัฒนาอย่างถูกต้องเหมาะสม ในการแข่งขันวิชาการระดับโลก เช่น โอลิมปิกวิชาการ เด็กไทยจะมีโอกาสคว้าเหรียญกลับมามากขึ้น เพราะเวลาที่เจอโจทย์ยาก ๆ เด็กไทยมีแนวโน้มจะถอดใจยอมแพ้ได้ง่ายกว่า เด็กต่างชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น ซึ่งการที่เด็กไทยอึดสู้เขาไม่ได้นั้น ทำให้เราพลาดโอกาสที่จะได้ใช้ความรู้หรือ IQ ในการแข่งขัน”

ความสัมพันธ์ของเชาวน์ปัญญายังเชื่อมโยงต่อไปยังเชาวน์ด้านอื่น ๆ อาจารย์ธีระศักดิ์เล่าต่อว่า "ถ้าเรามี IQ, EQ และ AQ พร้อมแล้ว แต่ถ้าเราขาด MQ (Morality Quotient) หรือก็คือขาดจริยธรรม เห็นแก่ได้ ไม่คิดถึงคนอื่น ไม่มีศีลธรรม เหมือนอย่างที่คุณทักษิณที่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม มีแต่ความละโมบเห็นแก่ได้ ก็จะทำให้บ้านเมืองมีปัญหา ซึ่งวิกฤติที่มันเกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ก็เพราะคนที่เกี่ยวข้องในสังคมบ้านเราขาดความตระหนักใน MQ ร่วมด้วย"

เรื่องของสุขภาพ หรือ HQ (Health Quotient) ก็เช่นกัน ถ้า IQ, EQ, AQ และ MQ ดีหมด แต่สุขภาพไม่ดี ก็ไม่สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสุดท้าย แต่ถ้าเชาวน์ทั้ง 5 ประการที่ผ่านมาดีทั้งหมดแล้ว แต่ขาด SQ (Spiritual Quotient) หรือเชาวน์ด้านจิตวิญญาณ ขาดการปฏิบัติธรรม เจริญสติ - สมาธิ ความดีที่เกิดขึ้นนั้นก็จะไม่ยั่งยืน

คนที่นั่งสมาธิ มีการฝึกสติสม่ำเสมอ คนเหล่านี้ เวลาที่มีสิ่งไม่ดีเข้ามาเย้ายวนในชีวิต สติจะสามารถรับรู้ได้ และยับยั้งการกระทำที่ไม่ดีกับตัวเองและสังคมได้ คนที่มีเชาวน์ด้านนี้จะมีอายุยืนกว่าคนทั่วไป 20 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงมีสุขภาพที่ดีกว่าด้วย

“อาจกล่าวได้ว่า SQ คืออัจฉริยภาพขั้นสูงสุด"

โดย อาจารย์ธีระศักดิ์เล่าว่า แนวคิดเกี่ยวกับเรื่อง 6Qs กับอาจารย์นั้น เริ่มมาเกี่ยวข้องกันในช่วงปลายยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย

“สืบเนื่องจากตอนนั้น ผมมีการเขียนวิเคราะห์คุณทักษิณเกี่ยวกับ 6Qs ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งถ้าให้พูดตามตรงก็คือคุณทักษิณมีอัจฉริยะภาพหลายด้าน และสามารถสร้างปรากฏการณ์หลาย ๆ อย่างในเมืองไทย เช่น สามารถทำให้คนรักคนเทิดทูนบูชาอย่างหลงใหล ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่มีคนเกลียดชัง ขับไล่จนไม่สามารถจะอยู่ได้ในแผ่นดินไทย เมื่อบทความชิ้นนั้นได้รับการตีพิมพ์ ทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตรไปพบเข้าก็เลยมีการจัดอบรมเรื่อง 6Qs ให้กับนักจิตวิทยา และครู ต่อมา 6Qs ก็ได้รับการพูดถึงในวงกว้างขึ้นในหลาย ๆ หน่วยงานกระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษาแห่งชาติ โดยทางกระทรวงศึกษาพยายามจะบรรจุเรื่อง 6Qs ให้เป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาของชาติด้วยเช่นกัน”

เมื่อ 6Q vs ปัญหาชาติ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ความยุ่งเหยิงในวงการการเมืองไทยทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมีผลมาจากปัญหาคอรัปชันของบุคคลในระดับผู้นำ และส่งผลกระทบถึงคนทุกกลุ่มที่อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลจากการกระทำดังกล่าวได้ทำให้ ต้นทุนทางสังคมและต้นทุนด้านการบริหารประเทศสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นขาดเชาวน์จริยธรรม หรือ MQ นั่นเอง

สังคมต้องมีตำรวจ ต้องมีศาล ต้องมีคุกเพิ่มขึ้น สำหรับกักขังคนไม่ดี อีกทั้งยังทำให้ คนที่ไม่โกงเสียเปรียบ ไม่สามารถแข่งขัน หรือเข้าถึงบริการทางสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน ส่งผลให้สังคมเกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน สุขภาพจิต ของคนในสังคมก็แย่ลงตามลำดับ

ขณะเดียวกัน การคอรัปชันก็มีผลต่อต้นทุนการบริหารประเทศให้สูงขึ้น เนื่องจากมีการยักยอกเงินภาษีของ ประชาชนคนในชาติไปเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวแทนการนำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่คนในชาติ ซึ่งความเลวร้ายที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จนกลายเป็นค่านิยมของสังคมไทยที่ว่า “โกงแล้วมีผลงานนั้นไม่ผิด”

เมื่อถามถึงการประยุกต์ใช้เชาวน์ปัญญาต่าง ๆ สำหรับนำมาแก้ไขปัญหาของประเทศในปัจจุบัน ผศ.ธีระศักดิ์กล่าวว่า “เชาวน์ปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขในสิ่งผิด อาจเป็นเรื่องของ IQ กับ SQ โดยเราเชื่อว่าไอคิวเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกอย่าง เหมือนเหล็กเนื้อดี จะทำมีดสับหมู ทำมีดโกน หรือทำอาวุธอะไรก็ได้ ถ้าเราใช้ในทางที่ดี คือ เป็นคนที่มี MQ ด้วย ผลที่ปรากฏก็จะเป็นผลดี”

ขณะที่แนวคิดของ SQ หมายถึงเชาวน์ทางด้านจิตวิญญาณ เป็นความสามารถในการพัฒนาจิตวิญญาณเพื่อให้ มีสติยับยั้งการกระทำใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลในทางลบต่อสังคม และคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวม

เด็กไทยกับ 6Q

การพัฒนาเด็ก หรือสังคมไทยให้เห็นความสำคัญของเชาวน์ปัญญาด้านอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากความเก่งฉกาจในด้านวิชาการเพียงอย่างเดียวอาจเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากตัวเลขล่าสุดที่มีการสำรวจพบว่า เด็กไทยมีไอคิวลดต่ำลงกว่าในอดีต

“การที่ไอคิวต่ำกว่าปกติ มันจะมีผลต่อส่วนอื่น ๆ เพราะไอคิวจะส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้ ในเมื่อเชาวน์ด้านการเรียนรู้ไม่พร้อมเสียแล้ว ศักยภาพด้านอื่น ๆ ก็จะถดถอยลงไปด้วย ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว พ่อแม่สามารถกระตุ้นได้ ทั้งจากการมีปฏิสัมพันธ์กับลูก ไม่ใช่ปล่อยให้ทีวีหรือพี่เลี้ยงเป็นฝ่ายเลี้ยงลูกแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งการเรียนรู้เกี่ยวกับ 6Qs เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยเด็กจะเรียนรู้ได้ง่าย เพราะยังเป็นผ้าขาว แต่เขาอาจจะขาดประสบการณ์เปรียบเทียบ ส่วนผู้ใหญ่จะมีพร้อมทั้งวัยวุฒิ และประสบการณ์ ก็สามารถนำประสบการณ์มาเปรียบเทียบและทำความเข้าใจได้ง่ายมากกว่า แต่ถ้าผู้ใหญ่ที่ขาดการกล่อมเกลา ขาดสติ จากประสบการณ์ที่มีแต่ความละโมบ เห็นแก่ได้ ก็อาจจะกลายเป็นพลังต่อต้านในการเรียนรู้ได้เช่นกัน”

“การฝึก 6Qs ก็เหมือนเราสร้างแผนที่ที่ดีในสมอง (Mental Map) ไปที่ไหนก็สะดวกสบาย โอกาสที่จะไปถึงเป้าหมาย (คือความสุขนิรันดร์) ก็สูง แม้ว่าระหว่างทางเจอปัญหา อุปสรรค ก็สามารถฟันฝ่าไปได้ครับ”
กำลังโหลดความคิดเห็น