xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.มีมติดัน 2 ยาจิตเวช เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
มติบอร์ด สปสช.เสนอนำยาจิตเวชราคาแพง 2 รายการ เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ หวังให้ผู้ป่วยโรคจิตเวชเข้าถึง เช็กแล้วยาหมดสิทธิบัตร แต่ถ้าไม่ชัวร์เตรียมเสนอ รมว.สธ.เจรจา ไม่สำเร็จงัดไม้เด็ดทำซีแอล

วันที่ 15 ธันวาคม นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า มติในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ ที่จำเป็นและมีปัญหาในการเข้าถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้บรรจุยาทางด้านจิตเวช 2 รายการ เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ คือ ยาต้านโรคซึมเศร้า เซอร์ทราลีน (Sertraline) และยารักษาโรคจิตเวช ริสเพอริโดน (Risperidone) ซึ่งเคยอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ภายหลังได้ถูกคัดออก เนื่องจากเป็นยาที่มีราคาแพง

“ทั้งนี้ จากการเช็กเรื่องสิทธิบัตร พบว่า ยาไม่มีสิทธิบัตรแล้ว เบื้องต้นทราบว่า ยาริสเพอริโดนหมดสิทธิบัตรไปแล้ว แต่กรณีของ ยาเซอร์ทราลีน ที่พบว่าไม่มีสิทธิบัตรเช่นกัน แต่อาจยังมีข้อมูลสิทธิบัตรกับบริษัทใดอยู่ให้ออกมาเรียกร้องหรือติดต่อมากับ สปสช.เอง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่เปิดให้มีการเจรจาก่อนที่จะมีการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) กับยาชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม สปสช.คงจะต้องเดินหน้าต่อไปก่อน” นพ.วินัย กล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ยาทั้ง 2 รายการนี้ เป็นยาตรงตามความต้องการของผู้ป่วย เพราะราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มีข้อเสนอให้องค์การเภสัชกรรมผลิตหรือจำหน่ายยา 3 รายการเพื่อให้มีราคาต่ำลง ได้แก่ 1.ริสเพอริโดน 2.เซอร์ทราลีน 3.เมทธิลฟีนิเดท ขณะที่ข้อเสนอจากสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต เสนอให้มีการแก้ปัญหาการเข้าถึงยา 3 รายการ ได้แก่ 1.ริสเพอริโดน 2. โอแลนซาปีน (Olanzapine ) 3.คิวไทเอปีน(Quetiapine)

นพ.วินัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตปี 2551 ระบุถึงสถานการณ์โรคทางจิตเวชในประเทศไทย ว่า มีผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการเริ่มต้นถึงรุนแรง ทั้งหมด 20% หรือ 12 ล้านคน โดยเป็นโรคจิตเภทรุนแรงมีผู้ป่วยประมาณ 0.5-1% หรือ 3-6 แสนคน โรคซึมเศร้า ประมาณ 1-2% หรือ 600,000-1.2 ล้านคน และโรคแปรปรวนประมาณ 0.4% หรือ 2.4 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้เข้าถึงบริการสุขภาพมีเพียง 4% หรือ 4.8 แสนคนเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ป่วยยังมีปัญหาในการเข้าถึงยาเนื่องจากยามีราคาแพง

“ในปี 2552 หากกำหนดให้มีผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างน้อย 10% หรือใช้งบประมาณในการยาทั้ง 2 รายการเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติและจัดสรรงบเพิ่มเติมเพื่อซื้อยาดังกล่าวให้ รพ.โดยมีข้อเสนอ 3 ทางเลือก คือ ประการแรก หากเข้าถึง 4% ใช้ยา 75% จะใช้งบประมาณ 53.6 ล้านบาท ประการที่ 2 เข้าถึง 10% ใช้ยา 75% จะใช้งบประมาณ 134 ล้านบาท และข้อเสนอที่ 3 คือ หากเข้าถึง 25% ใช้ยา 75% จะใช้งบประมาณ 335 ล้านบาท ทั้งนี้ มติบอร์ด สปสช.ให้สปสช.ตั้งงบประมาณจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมทั้ง 2 รายการ ตามปริมาณความต้องการของผู้ป่วยเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยจิตเวชให้มากที่สุด” นพ.วินัย กล่าว

นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า คณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำลังพิจารณาขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยจิตเวชในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในเรื่องระยะเวลาการรักษาพยาบาล จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 15 วัน ซึ่งการรักษาทางจิตเวชส่วนใหญ่ต้องอาศัยระยะเวลานานเกิน 15 วัน จึงจะหารือกับกรมสุขภาพจิตในการรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลหากเกินระยะเวลาที่เบิกค่ารักษาพยาบาลเกิน 15 วัน ออกไป ซึ่งผู้ป่วยต้องกินยาตลอดชีวิต

ด้าน ภญ.สำลี ใจดี ประธานคณะอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและมีปัญหาในการเข้าถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ยาเซอร์ทราลีนที่เป็นต้นตำรับ ราคาเม็ดละ 37 บาท จะมีค่าใช้จ่ายปีละ 13,505 บาทต่อคน แต่ถ้าหากอภ.ผลิตได้เอง ราคาเม็ดละไม่เกิน 5 บาท ราคาปีละไม่เกิน 1,825 บาทต่อคน ขณะที่ ยาริสเพอริโดน ยาต้นตำรับเม็ดละ 58 บาท ต้องทานวันละ 2 เม็ด ค่าใช้จ่ายวันละ 116 บาทต่อคน คิดเป็นปีละ 42,340 บาทต่อคน แต่ถ้าหากอภ.ผลิตเองจะมีราคาเม็ดละ 4 บาท ค่าใช้จ่ายวันละไม่เกิน 8 บาทต่อคน ปีละไม่เกิน 2,920 บาทต่อคน

ทั้งนี้ กำหนดการเดิม ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะต้องเข้าร่วมประชุมเป็นประธานแทน แต่ภายหลังจากที่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดยมี ศ.นพ.ไพจิตร ปวะบุตร คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้านผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทยทำหน้าที่ประธานแทน

กำลังโหลดความคิดเห็น