xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วยโรคจิต 94 เครือข่าย ร้องประกันสังคม โวยกฎพิลึกอนุญาต “บ้า”15 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ป่วยโรคจิต 94 เครือข่าย ร้องประกันสังคม โวย กฎพิลึก อนุญาต “บ้า”15 วัน รมช.สธ.จี้แก้ระเบียบคุ้มครองคนไข้จิตเวช แม่เผยลูกชายจ่ายเงินสมทบทุกเดือน แต่พอเครียดจนป่วย กลับไม่ได้รับการดูแล ด้านกรมสุขภาพจิตระบุยารักษาอาการทางจิตสุดแพง เม็ดละ 60 -200 บาท

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมช.สาธารณสุข เปิดเผยถึง ปัญหาและอุปสรรคภายหลัง พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.2551 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในมาตรา 15 ข้อ 4 ของกฎหมายฉบับนี้ ระบุชัดว่า รัฐต้องให้ความคุ้มครองสุขภาพในระบบประกันสุขภาพและประกันสังคมของรัฐอย่างเท่าเทียม ซึ่งถือเป็นการประกันสิทธิผู้ป่วยจิตเวชเบื้องต้น แต่ในทางปฏิบัติ การคุ้มครองสิทธิการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ที่ไม่ครอบคลุมโรคจิตในกรณีผู้ป่วยนอก หรือแม้แต่กรณีโรคจิตเฉียบพลันที่ต้องรักษาแบบผู้ป่วยในก็ให้การคุ้มครองไม่เกิน 15 วัน ทำให้ผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยอาการทางจิตเวชต่างๆต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมทั้งๆที่จ่ายเงินประกันสมทบกองทุนประกันสังคมทุกเดือน

“เป็นเรื่องที่พิลึกมาก เพราะโรคทางจิตเวช เป็นโรคที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่กรณีนี้พูดง่ายๆก็คือ อนุญาตให้บ้าได้แค่ 15 วัน หลังจากนั้นต้องหายบ้า ป่วยต่อไม่ได้ ซึ่งไม่ยุติธรรมกับผู้ประกันตนเลย เพราะคนเหล่านี้ เวลาที่ไม่ป่วย ก็จ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคมทุกเดือนเต็มจำนวน แต่พอป่วยกลับไม่ได้รับการคุ้มครอง ที่ผ่านมาหน่วยงานและองค์กรต่างๆได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องเพื่อพิทักษ์สิทธิของตน แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับใดๆจากสำนักงานประกันสังคม ทั้งๆที่เรื่องนี้ แค่แก้ไขระเบียบให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.ซึ่งเป็นกฎหมาย ก็ไม่น่าจะมีปัญหา” นายชวรัตน์ กล่าว

นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยทางจิต ต้องอาศัยยาช่วย แต่ปัญหาที่พบคือราคายาที่แพงมาก ยาบางตัว เช่น คลอซารีล ริสเพอดาล ไซเปร็กซา ราคาสูงถึงเม็ดละ 60 - 200 บาท ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ได้ จึงต้องหยุดยาทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ทางออกของผู้ป่วยที่จะพึ่งประกันสังคมที่ได้จ่ายเงินสมทบไปทุกเดือนจึงเป็นอีกความหวังหนึ่งที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเหล่านี้ดีขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ โดยเฉพาะผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อย ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาและ ก็อาจทำให้อาการกำเริบ ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติในสังคมต่อไปได้ ซึ่งการที่สังคมไม่รู้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้ผู้ประกันตนมีความเสี่ยง เนื่องจากทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นโรคจิตเท่าเทียมกัน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อให้สำนักงานประกันสังคมคุ้มครองความเจ็บป่วยด้านจิตเวช โดยเฉพาะเมื่อการผลักดันพรบ.สุขภาพจิตมีผลบังคับใช้ไปแล้ว โดยในกฎหมายระบุชัดเจนว่า ผู้ป่วยจิตเวชจะต้องได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสุขภาพและประกันสังคม และระบบอื่นๆ ของรัฐอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

“กรมสุขภาพจิต เล็งเห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิประชาชนที่จะได้รับการดูแลโรคทางจิตเวช โดยเฉพาะสิทธิในการได้รับการคุ้มครองด้านค่ารักษาพยาบาลจากระบบประกันสังคมจากที่ผู้ป่วยได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน เมื่อเกิดการเจ็บป่วยทางจิตขึ้นมาก็ควรได้รับสิทธิเหมือนผู้ป่วยทั่วๆ ไป ”นพ.ม.ล.สมชาย กล่าว

ด้านศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า โรคจิต เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศที่สำคัญ จากการศึกษาข้อมูลการรักษา พบว่า จะมีผู้ป่วยด้วยโรคจิตเภทประมาณร้อยละ 1 ต่อประชากร 6 แสนคน ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ยังได้รับการดูแลที่ไม่ทั่วถึง และไม่เป็นธรรม เพราะผู้ป่วยทางจิต ไม่สามารถรับรู้สภาพความเป็นจริงเหมือนกับการเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายอื่น ๆ และไม่ยอมรับว่าตนเองป่วย จึงไม่สามารถที่จะนำตัวเองมาสู่การรักษาตามสภาพความเจ็บป่วยที่เป็นจริง เหมือนกับการเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายอื่นๆ

ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า โรคจิตเภทยังเป็นปัญหาในแง่การดูแลที่ฝ่ายนโยบายไม่เข้าใจ ยังไม่ให้สิทธิอย่างทั่วถึง ทั้ง ๆ ที่ยอมรับว่าเขาเป็นผู้มีความบกพร่องทางจิต การที่สังคมไทยตอบรับในการรักษา แต่ในแง่ของนโยบายไม่ให้การเปิดรับ ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งจะว่าไปแล้วอัตราค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยจิตเภทของผู้ป่วยนอกต่อปีจะใช้ค่ารักษาประมาณ 3,000 กว่าบาทเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคไตต่อปีจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายนับแสนบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทางสำนักงานประกันสังคมสามารถจ่ายได้

“ข้อจำกัดของประกันสังคมที่ให้ผู้ป่วยจิตเวชรักษาได้ภายใน 15 วัน ทำให้แพทย์ไม่สามารถที่จะรักษาผู้ป่วยเพื่อให้หายขาดได้ในระยะเวลาที่จำกัด หลังจากครบ 15 วันแล้ว ทางประกันสังคมจะไม่คุ้มครองผู้ป่วยจิตเวชทำให้ผู้ป่วยต้องออกค่ารักษาในจำนวนที่เหลือเองอยากให้ทางสำนักงานประกันสังคมมองว่าผู้ป่วยจิตเวชไม่เหมือนผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือว่าผู้ป่วยโรคไต ที่จะสามารถรักษาให้หายได้ในเวลา 15 วัน “ศ.นพ.รณชย กล่าว

นาวาอากาศเอกสมปอง เกิดแสง นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ระบบประกันสังคมเท่านั้นที่มีปัญหา แม้แต่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเอง ความลำบากของผู้ป่วยทางจิต คือการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้หายขาด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยตามชนบทต่างจังหวัด ต้องเดินทางนับ 100กิโลเมตรเพื่อมารับยาในตัวเมือง และบางจังหวัดก็ไม่มีโรงพยาบาลจิตเวชจึงต้องเดินทางไปรับยาที่จังหวัดใกล้เคียงที่มีโรงพยาบาลจิตเวชซึ่งก็ได้ยาไปทานแค่อาทิตย์สองอาทิตย์เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วชาวบ้านต้องจ่ายค่ารถหรือค่าเหมารถแพงกว่าค่ายา เรื่องนี้อยากจะขอร้องให้ทางหลักประกันสุขภาพได้เพิ่มจำนวนยาให้แก่ผู้ป่วย เพื่อเขาจะได้ไม่ต้องเดินทางนับร้อยๆกิโลเพื่อมารับยาไว้รักษาตัว ส่วนเรื่องสิทธิของผู้ป่วยทางจิตที่เข้ารับการรักษาในระบบประกันสังคมจะมีสิทธิป่วยได้แค่ 15 วัน ซึ่งหมายถึงว่าหนึ่งปีผู้ป่วยทางจิตมีสิทธิป่วยและใช้สิทธิประกันสังคมได้เพียง 15 วัน ซึ่งในความเป็นจริงผู้ป่วยทางจิตต้องกินยาต่อเนื่องไม่ใช่แค่ 15 วัน

นางไฉไล สุดแสง แม่ที่มีลูกชายป่วยทางจิตกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ลูกชายทำงาน เป็นพนักงานบริษัทเอกชนในกทม. และต้องรับผิดชอบดูแลครอบครัว ทั้งค่าเล่าเรียนของน้องๆ และค่าใช้จ่ายในบ้าน แต่เดี๋ยวนี้ลูกชายมีอาการป่วยทางจิต ไม่สามารถดูแลคนในครอบครัวได้เปลี่ยนสถานะจากคนที่เป็นเสาหลักมาเป็นภาระของครอบครัว

“ตอนแรกไม่รู้ว่าลูกชายเป็นอะไร นึกว่าโดนผีเข้าก็เขาทำงานในห้องแอร์แต่งตัวผูกไทค์ทำงาน หน้าที่การงานก็ดูดีแล้วจู่ๆ ก็มาเป็นอย่างนี้ แต่เพื่อนที่ทำงานบอกว่า ก่อนที่จะเป็นบ้าเขาเครียดจากงาน และเก็บตัวเงียบคนเดียว แรกๆ ป้าก็ไม่เชื่อหรอกเพราะไม่รู้ว่าโรคที่ทำให้คนเป็นบ้านั้นมันเกิดจากอะไร นึกว่าผีเข้า เอาผีออกคงจะหาย ตอนนี้ก็พอจะรู้และเข้าใจมากขึ้น ว่าถ้าเครียดมากหรือเป็นโรคซึมเศร้าถ้าไม่รับการรักษาอาจเป็นเหมือนลูกชายป้าก็ได้ ลูกชายตนเสียภาษีทุกเดือน จ่ายเงินประกันสังคมทุกเดือน ตอนทำงานแทบไม่เคยใช้สิทธินอนโรงพยาบาลเลยแต่พอเป็นบ้ามา กลับไม่มีสิทธิใดๆ มาคุ้มครองได้เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก เงินเก็บ รถของลูกชายก็หมดไปกับค่ารักษาพยาบาลตอนนี้ก็ต้องหาเงินมารักษาเขา เพราะเขาต้องรับยาตลอด” นางไฉไล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น