xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ถกหาข้อสรุปทำซีแอลยาจิตเวชหรือไม่รู้ผลพรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะอนุกรรมการเข้าถึงยา สปสช.ถกหาข้อสรุป ทำซีแอลยากลุ่มจิตเวชหรือไม่ พรุ่งนี้ ขณะที่เครือข่ายผู้ป่วยจิตเวชบุก สธ.แต่ “เฉลิม” ไม่อยู่ หายตัวเงียบ เรียกร้อง 3 ข้อ เพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คลอบคุลมผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังต่อเนื่อง นำยา 3 ชนิด ที่จำเป็น เข้าบัญชียาหลัก และทำซีแอล

วันนี้ (26 พ.ย.) นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการบริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ในวันที่ 27 พฤศจิกายน เวลาประมาณ 9.00 น. คณะอนุกรรมการด้านการเข้าถึงยา ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีการประชุมหารือเกี่ยวกับยาที่มีความจำเป็นในการเข้าถึงของผู้ป่วยโดยใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) โดยเฉพาะจะมีการพิจารณายาในกลุ่มรักษาผู้ป่วยจิตเวช สภาพปัญหาที่แท้จริงในปัจจุบัน เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไข

“ทราบมาว่ายาจิตเวชที่โรงพยาบาลใช้อยู่เป็นยาเก่าที่มีราคาถูกใกล้หมดสิทธิบัตร แต่ก็มีผลข้างเคียง แม้จะทำให้อาการทางจิต เช่น ภาพหลอนหายไป แต่กลับทำให้ผู้ป่วยมีอาการตัวแข็ง ลิ้นแข็ง และทำให้ผู้อื่นทราบว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช กลายเป็นการสร้างปัญหาด้านคุณภาพชีวิต แต่ยาตัวใหม่ ซึ่งมีราคาแพง ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงดังกล่าวผู้ป่วยจิตเวชที่รักษารักษาต่อเนื่องสามารถอยู่ร่วมกับคนทั่วไปได้อย่างมีความสุข และยังสามารถทำงานได้เป็นปกติอีกด้วย”

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า หากรัฐมนตรีสาธารณสุขเห็นว่า การใช้ยาเก่า ราคาถูกในการรักษาผู้ป่วยจิตเวชเพียงพอแล้วถือเป็นการมองปัญหาไม่รอบด้าน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หวังเพียงนักการเมืองเท่านั้น เนื่องจากในส่วนของหน่วยงาน คณะกรรมการชุดต่างๆ ได้ดำเนินการต่ออยู่แล้ว ทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ป่วยได้คลอบคลุมมายิ่งขึ้น หรือแม้แต่การทำซีแอล หากอธิบดีกรมสุขภาพจิตมีความเข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ก็มีอำนาจสามารถที่จะลงนามในการทำซีแอลได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอฝ่ายการเมืองให้เป็นผู้ดำเนินการ

วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นาวาอากาศเอกสมปอง เกิดแสง นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต สมาคมสายใยครอบครัว เข้ายื่นหนังสือถึง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งวันนี้ไม่ได้เดินทางเข้ามาทำงานที่กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่องไว้ นอกจากนี้ยังได้ทำหนังสือถึง นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมโรค ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติด้วย

หนังสือดังกล่าวระบุว่า ขณะนี้การรักษาผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังยังไม่คลอบคลุมในชุดสิทธิประโยชน์ในระบบปลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งคลอบคลุมเพียงการรักษาระยะสั้นไม่เกิน 15 วันเท่านั้น ทั้งๆ ที่การรักษาผู้ป่วยจิตเวช จำเป็นต้องมีการรักษาเร็วและต่อเนื่อง จึงจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถกลับไปทำงานได้เหมือนคนทั่วไป โดยลดภาระการดูแลครอบครัวและคนรอบข้างลง ซึ่งรายงานของกรมสุขภาพจิตพบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาทั่วประเทศ 6 แสนราย และคาดประมาณว่ามีจำนวนผู้ป่วยทั่วประเทศทั้งสิ้นร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณกว่า 6 ล้านราย

“ผู้ป่วยและครอบครัวต้องรับภาระค่าใช้จ่ายการรักษา ค่ายาที่มีราคาแพง ทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถเข้าถึงยาเพื่อการรักษาอย่างต่อเนื่องได้ และมีหลายรายต้องล้มละลายหรือเป็นหนี้ ทั้งจากราคายาที่ต้องจ่ายและถูกให้ออกจากงานจนไม่สามารถหาเลี่ยงตัวเองได้ ซึ่งยาจำเป็นทั้ง 3 ชนิด คือ 1.Risperidone ปัจจุบันมีการปรับรูปแบบของยาจากเม็ดธรรมดา เป็นแบบเม็ดละลายในปาก (quicklet) ราคาต่อเม็ดปัจจุบัน 60-80 บาท 2.Olanzapine ปัจจุบันราคาประมาณ 250-280 บาท ต่อเม็ด 3.Quetiapine ราคาประมาณ 360 บาทต่อวัน ซึ่งยาทั้ง 3 ตัว ไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายจากระบบประกันสุขภาพแห่งชาติได้”

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวระบุว่า ขอเรียกร้องให้ ร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะ รมว.สาธารณสุข และประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาลดอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาและการรักษา โดย 1.เสนอให้เพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง 2.ให้นำยาจำเป็นสำหรับผู้ป่วยจิตเวชให้เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ และ 3.ให้มีการแก้ไขปัญหายาแพงที่ส่งผลต่อการเข้าถึงยาของผู้ป่วยโดยใช้มาตรการทางกฎหมาย คือ มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ยาโรคจิตเวช เพื่อให้ยาราคาถูกลงและเข้าถึงได้มากขึ้น โดยหลัวเป็นอย่างยางว่าจะให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น