เครือข่ายผู้ดูแลและผู้ป่วยจิตเวชบุกสธ.คุย “เฉลิม” หาทางออกสิทธิรักษาผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง แถมแบกรับค่ายาแพงลิบ ทำให้ต้องยุติการรักษา เรียกร้องทำซีแอลทันที ไม่เชื่อยาหมดสิทธิบัตรแล้วบ.ยาไม่ยื้อยืดอายุสิทธิบัตรต่อ
นายฐากูร สการกุล กรรมการสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต กล่าวว่า ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 เวลา 10.00 น.นี้ นาวาอากาศเอกสมปอง เกิดแสง นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต และตัวแทนสมาคมสายใยครอบครัว เครือข่ายผู้ดูแลและผู้ป่วยจิตเวชประมาณ 20 คน จะเข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อปรึกษาและหาทางออกเรื่องสิทธิการรักษาผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง โดยเฉพาะให้การรักษาเฉพาะกรณีฉุกเฉินซึ่งจะรับรักษาไม่เกิน 15 วัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วยที่ต้องรักษาแบบต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาที่ผู้ป่วยต้องจ่ายค่ายาเองเพราะยาจำเป็นในการรักษาอาการผู้ป่วยจิตเวชมีราคาแพงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้
นายฐากูร กล่าวต่อว่า สำหรับยาทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ 1.Risperidone / ชื่อการค้าว่า Risperdal ปัจจุบันมีการปรับรูปแบบของยาจากเม็ดธรรมดา เป็นแบบเม็ดละลายในปาก (quicklet) ราคาต่อเม็ดปัจจุบัน 60-80 บาท และไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ 2.Olanzapine / ชื่อการค้าว่า Zyprexa ปัจจุบันราคาประมาณ 250-280 บาท ต่อเม็ด 3.Quetiapine/ชื่อการค้าว่า Seroquel ราคาประมาณ 360 บาทต่อวัน ซึ่งยาทั้ง 3 ชนิดนี้ไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ป่วยและครอบครัวส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับการซื้อยาในราคาแพง ทำให้หลายรายต้องยุติการรักษา และหลายรายก็ล้มละลายกับการรักษาดังกล่าว
“การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อขอให้รมว.สธ.ช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงยาจิตเวช ที่ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง มียาที่ราคาเหมาะสมผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้ ไม่ใช่ยาเม็ดหนึ่งราคาเท่ากับรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) เป็นความหวังที่ถือเป็นทางออกหนึ่ง ถ้าทำได้ผู้ป่วยจิตเวชจะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอนและควรดำเนินการทันที เพราะขั้นตอนในการทำซีแอลอาจต้องใช้เวลา”นายฐากูรกล่าว
นายฐากูร กล่าวด้วยว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้รมว.สธ.จะออกมาระบุว่า ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยจิตเวชหลายตัวใกล้ที่จะหมดสิทธิบัตรแล้วนั้น แต่ในความเป็นจริงองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งเป็นผู้ติดตามข้อมูลว่ามียาจิตเวชตัวใดบ้างที่ใกล้หมดสิทธิบัตรเพื่อผลิตและจำหน่ายให้กับผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งถ้าสามารถดำเนินการได้ก็เป็นเรื่องดี แต่เนื่องจากไม่ใช่หมดสิทธิบัตรแล้ว จะผลิตต่อได้ทันทีแต่มีขั้นตอนที่บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรสามารถที่จะขอยืดอายุสิทธิบัตรและขึ้นราคาได้อีก เหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากบริษัทยามีความตรงไปตรงมา ทางผู้ป่วยคงไม่จำเป็นต้องออกมาเรียกร้องในลักษณะนี้