สปสช.เตรียมขยายสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง เพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัว ปี 2553 สรุปภายใน ธ.ค.นี้ หลังคณะอนุกรรมการคัดเลือกยาจิตเวช 2 รายการ “เซอร์ทราลีน-ริสเพอริโดน” เสนอ สธ.แก้ปัญหาการเข้าถึง ดันเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ พร้อมพิจารณายาจำเป็น ราคาแพง อีกหลายรายการ ทั้งรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ยาป้องกันโรคกระดูกผุ ยารักษาโรคมะเร็ง
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากการที่นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต สมาคมสายใยครอบครัว และเครือข่ายผู้ดูแลและผู้ป่วยจิตเวช ได้เสนอให้เพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง โดยจากเดิมให้การรักษาเฉพาะกรณีฉุกเฉินซึ่งจะรับรักษาไม่เกิน 15 วันนั้น ขณะนี้ สปสช.ได้รับเรื่องไว้และเห็นด้วยในหลักการเพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ครอบคุลมผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำงบเหมาจ่ายรายหัว ปี 2553 โดยจะจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมเพื่อที่จะนำข้อสรุปเสนอสู่บอร์ด สปสช.ภายในวันที่ 12 มกราคมนี้
“ขณะนี้มีข้อมูลอยู่แล้วว่า ทั่วประเทศมีผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนเท่าไหร่ ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องอย่างไรบ้าง แต่ยังไม่ได้วิเคราะห์ภาพรวมทั้งหมดว่า จะต้องใช้งบประมาณเท่าใดในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบ” นพ.วินัย กล่าว
ทั้งนี้ แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น และมีปัญหาในการเข้าถึงของประชาชน ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการได้พิจารณายากลุ่มที่ไม่ได้รับอนุมัติให้บรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2551 เนื่องจากมีราคาสูงเกินไป ไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ จำนวน 14 รายการ แต่หากทำให้ราคาถูกลงได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐ ทั้งนี้ กลุ่มยา 14 รายการ ประกอบด้วย ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ 3 รายการ ยาป้องกันโรคกระดูกผุ 2 รายการ ยารักษาโรคมะเร็ง 2 รายการ และยาด้านจิตเวช 7 รายการ
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า คณะอนุกรรมการลงมติว่า มียา 2 รายการที่ต้องเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการแก้ไขปัญหาการเข้าถึง คือ ยาต้านการซึมเศร้าชื่อ เซอร์ทราลีน (Sertraline) และยารักษาโรคจิต ชื่อ ริสเพอริโดน (Risperidone) ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อศึกษาเชิงเปรียบเทียบระหว่างตัวยาในแต่ละกลุ่มแล้ว ยาทั้งสองมีความสำคัญสูงสุด ถ้าสามารถแก้ปัญหาด้านราคา และบรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ จะส่งให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“หลังจากทำการตรวจสอบ พบว่า ยาเซอร์ทราลีน เป็นยาที่ไม่ติดสิทธิบัตรแล้ว แต่ยังคงมีราคาแพง ดังนั้น สธ.อาจดำเนินการให้ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้ผลิต ในราคาไม่แพง แต่อีกตัวหนึ่ง คือ ยารักษาโรคจิต ริสเพอริโดน นั้น ยังไม่แน่ชัดว่า หมดสิทธิบัตรแล้วหรือไม่ ถ้าหาก อภ.ยืนยันว่า จะเป็นผู้ผลิตเอง ก็อาจเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ซึ่งอาจใช้วิธีการเจรจาต่อรองก่อน โดยขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องทำซีแอล อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการฯ เป็นเพียงผู้ชี้เป้าเท่านั้น ว่ายาตัวใดมีความเหมาะสมและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด ขณะที่ยาตัวอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการเข้าถึง จะมีการพิจารณาศึกษา และดำเนินการค่อยเป็นค่อยไป” แหล่งข่าวระบุ