โพลเผยประชาชนพอใจได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพให้ 8 เต็ม 10 ร้อยละ 93.6 พอใจคุณภาพบริการของแพทย์ ขณะที่แพทย์-พยาบาลพอใจระบบหลักประกันสุขภาพ แค่ 5.98 คะแนน พ้องานหนัก ค่าตอบแทนน้อย ถูกร้องเรียนเยอะ ร้อยละ 67.6 พอใจในการประกอบอาชีพในปัจจุบัน จี้แก้ปัญหาอัตรากำลังเร่งด่วน
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2551 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในที่ประชุมมีการนำเสนอเรื่องผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนและผู้ให้บริการ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประเด็นเพื่อการพัฒนาระบบในระยะต่อไป
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า สปสช.ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2551 ระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน-27 กรกฎาคม 2551 โดยจำนวนที่ศึกษา 24,263 ตัวอย่าง จากประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนมีความพอใจต่อการได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 8.22 จาก 10 คะแนน และมีความพอใจต่อคุณภาพการให้บริการของแพทย์ ร้อยละ 93.6 ซึ่งตัวอย่างเกือบทั้งหมด คือ ร้อยละ 95.6 ตั้งใจที่จะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากมีปัญหาเจ็บป่วยครั้งต่อไป
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวต่อว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมีความเข้าใจว่าสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการผ่าตัดตาต้อกระจกร้อยละ 54.6 ได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ร้อยละ 44.4 รวมถึงโรคค่าใช้จ่ายสูงที่ทำให้ไม่ต้องล้มละลายในการรักษา เช่น การล้างไตผ่านช่องท้อง โรคมะเร็ง ผ่าตัดหัวใจ และผ่าตัดสมอง ตามลำดับเป็นสิ่งที่ดีมากกับผู้มีสิทธิ
“นอกจากนั้น ผลสำรวจยังระบุถึงผู้ใช้บริการยังรับทราบถึงขั้นตอนที่ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินร้อยละ 41.6 ด้วย แต่ก็ยังมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุง คือ การให้บริการของเจ้าหน้าที่ร้อยละ 27.9 ปรับปรุง โดยเฉพาะเรื่องการรอตรวจ รอรับยา ซึ่งใช้เวลานาน ร้อยละ 22.5 และปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาล ยา อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ร้อยละ 20” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ร.ต.อ.ดร.เฉลิม กล่าวด้วยว่า ส่วนการสำรวจความคิดเห็นของผู้ให้บริการที่มีต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2551 เป็นกรณีศึกษา 9,196 ตัวอย่าง จากบุคลากรผู้ให้บริการในสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ ในกลุ่มวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในทุกสังกัด และทุกพื้นที่สำนักงานสาขาเขตของ สปสช.ทั้ง 13 เขต ระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน-28 สิงหาคม 2551 พบว่า ผู้ให้บริการมีความพอใจ 5.98 คะแนนจาก 10 คะแนน แต่ยอมรับว่า มีประโยชน์ต่อประชาชน 7.52 คะแนน ซึ่งความรู้เกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต้องการเพิ่มเติม คือ ความชัดเจนเรื่องสิทธิประโยชน์ ขั้นตอนการให้บริการ และการขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีเกิดความเสียหายจากการให้บริการ
รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า สิ่งที่ควรปรับปรุงเร่งด่วน คือ ระบบกำลังคนให้สอดคล้องกับภาระงาน ร้อยละ 22 และการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และการใช้ ร้อยละ 17.3 โดยสิ่งที่ต้องการสนับสนุนจาก สปสช.คือ การเพิ่มงบประมาณ เพิ่มเงินค่าตอบแทนรายหัวของประชาชน ร้อยละ 39.8 และการจัดสรรกำลังคนให้สอดคล้องกับปริมาณงาน ร้อยละ 21.5 โดยตัวอย่างร้อยละ 67.6 พอใจในการประกอบอาชีพในปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้มีความสุขในการทำงานมากที่สุด การมีเงินเดือนและค่าตอบแทนที่มากกว่าปัจจุบัน มีเพื่อนร่วมงานที่ดี มีความก้าวหน้าในอาชีพ และระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ตนเองและบุคลากรการแพทย์คนอื่นๆ ลาออกมากที่สุด ได้แก่ ภาระงานและค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอ และการร้องเรียนของประชาชน
“ผลการสำรวจนี้ สะท้อนว่า ประชาชนมีความพอใจในระบบหลักประกันสุขภาพ และเข้าใจถึงเรื่องสิทธิประโยชน์และขั้นตอนการใช้บริการพอสมควร ซึ่งต้องเร่งรณรงค์ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป แต่ยังมีความกังวลในเรื่องคุณภาพบริการ และการทำงานของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ผู้ให้บริการเองแม้จะยอมรับว่าโครงการนี้มีประโยชน์ต่อประชาชน แต่ผลกับผู้ให้บริการเองกลับมีคะแนนเกินครึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อย เพราะภาระงานที่มาก ค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอ และการร้องเรียนของประชาชนเอง” ร.ต.อ.ดร.เฉลิม กล่าว
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.กล่าวว่า การมีหลักประกันสุขภาพที่ผ่านมากว่า 6 ปีสปสช.ได้ปรับปรุงและแก้ไขอุปสรรคอย่างต่อเนื่องมาตลอด ขณะนี้ระบบหลักประกันสุขภาพกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 จะต้องเร่งสร้างความมั่นใจถึงคุณภาพบริการให้กับผู้รับบริการขณะเดียวกัน ทางด้านผู้ให้บริการยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ในเรื่องของภาระงานและค่าตอบแทนซึ่งเป็นเรื่องของนโยบายระดับประเทศ เพราะประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก แต่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนมีความพยายามในการลดภาระงาน ทั้งเรื่องการส่งเสริมศูนย์แพทย์ชุมชนบริการใกล้บ้านใกล้ใจ เพื่อลดความแออัดใน รพ.การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยมีกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่นเพื่อลดภาระโรค