“หมอวินัย” นำทีมคน สปสช.ทำบุญครบ 6 ปี วันก่อตั้งสำนักฯ เผย เดินหน้าปีที่ 7 ของ สปสช.ย้ำเดินหน้าจัดการโรคเรื้อรัง-ค่าใช้จ่ายสูงเดินหน้าให้คนไทยสุขภาพ-คุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น เผย รัฐเพิ่มงบหมาจ่ายรายหัวจาก 1,202 บาทต่อประชากร ในปี 2545 เพิ่มเป็น 2,202 บาทต่อประชากร ในปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 83
วันนี้ (19 พ.ย.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวภายหลัง ทำบุญครบ 6 ปีวันก่อตั้ง สปสช.ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ว่า ตลอดเวลา 6 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้สร้างหลักประกันสุขภาพครอบคลุมคนไทยร้อยละ 99.18 หรือ 47 ล้านคน ได้รับหลักประกันสุขภาพ การรักษาพยาบาล การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพ และการส่งเสริมป้องกันโรคให้กับคนไทยทั่วประเทศ โดยรัฐบาลได้มีการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวจาก 1,202 บาทต่อประชากร ในปี 2545 เพิ่มเป็น 2,202 บาทต่อประชากรในปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 83
นพ.วินัย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพของ สปสช.ตลอด 6 ปีนั้น พบว่าประชาชนมีการใช้บริการสาธารณสุขเฉลี่ยผู้ป่วยนอกปีละ 120 ล้านครั้ง ผู้ป่วยในปีละ 5 ล้านคน มีการดูแลรักษาผู้ป่วยเรื้อรังและค่าใช้จ่ายสูงอย่างทั่วถึง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งได้รับเคมี หรือรังสีรักษาเฉลี่ยปีละ 2 แสนคน การให้ยาต้านไวรัสเอดส์ เฉลี่ยปีละ 1 แสนคน การผ่าตัดสมองเฉลี่ยปีละ 4,000 คน การผ่าตัดหัวใจเฉลี่ยปีละ 8,000 คน ขณะที่การส่งเสริมและป้องกันโรค มีการคัดกรองผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นโรคต่างๆ เฉลี่ยปีละ 8 ล้านคน ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เฉลี่ยปีละ 3 ล้านคน และการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เฉลี่ยปีละ 6 แสนคน โดยประชาชนพึงพอใจในการรับบริการ ร้อยละ 80
นพ.วินัย กล่าวว่า สำหรับพันธกิจในการก้าวสู่ปีที่ 7 นั้น สปสช.จะเน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ เพื่อประชาชนมีสถานพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ ที่เป็นหน่วยบริการประจำของครอบครัวอย่างแท้จริง พัฒนาระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ และวางระบบการส่งเสริมป้องกันโรค โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง และมุ่งเน้นการบริหาร สปสช.ให้เป็นองค์กรโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เพื่อการสร้างหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน
“ขณะนี้ปัญหาระบบสาธารณสุขของไทย อยู่ที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในประเทศ ส่วนเรื่องงบประมาณมีเพียงพออยู่แล้ว ไม่ได้ขาดแคลน แม้จะทุ่มงบประมาณให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ไปมากเท่าไร ก็ไม่ช่วยให้แพทย์ หรือโรงพยาบาลรักษาคนไข้เพิ่มมากขึ้นได้ เพราะแพทย์มีจำนวนจำกัด หรือโรงพยาบาลยังมีห้องผ่าตัด เตียง เท่าเดิมอยู่ ขณะเดียวกันนโยบายเรื่องเมดิเคิลฮับ ที่ส่งเสริมการรักษาผู้ป่วยชาวต่างชาติ จะยิ่งทำให้คนไทยได้รับการบริการสุขภาพที่น้อยลง ที่ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ การแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ เพิ่มจำนวนแพทย์ให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการที่ดีขึ้นได้” นพ.วินัย กล่าว
นพ.วินัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการรับบริการทางการแพทย์ไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากมีระบบสวัสดิการสุขภาพ 3 ระบบ ซึ่ง สปสช.จะพยายามพัฒนาเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เท่าเทียมกับสวัสดิการข้าราชการ โดยเบื้องต้น จะเน้นหนักเรื่องการจัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วยของคนไทยทั้งประเทศ เพราะคนไทยมีการย้ายสิทธิประกันสุขภาพตลอดเวลา หากมีข้อมูลประวัติการรักษาสุขภาพของประชาชนที่ดีจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ได้รับการคุ้มครองสิทธิประกันสุขภาพทุกระบบ แต่การจ่ายยาของแต่ละโรงพยาบาล รวมถึงระบบประกันสุขภาพมีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการดื้อยาได้ แต่หากมีฐานข้อมูลประวัติผู้ป่วยกลาง จะช่วยในเรื่องการจ่ายยาที่ถูกต้องได้ และสอดคล้องกับอาการของโรคได้