xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าตัดโรคหัวใจเด็กนอกเวลาราชการเฉลิมพระเกียรติในหลวง-พระราชินี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.-สปสช.-มูลนิธิโรคหัวใจ ทำโครงการการผ่าตัดหัวใจเด็กนอกเวลาราชการ 1,160 ราย เฉลิมพระเกียรติ “ในหลวง-พระราชินี” ชี้ไม่ต้องรอคิวนาน เชื่อช่วยชีวิตเด็กได้มากขึ้น

วันที่ 1 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิกาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ ศ.นพ.บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ร่วมแถลงการจัดทำโครงการการผ่าตัดหัวใจเด็กในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านอกเวลาราชการ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

นายชวรัตน์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้จัดทำโครงการ “จากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 สร้างสามัคคี” จึงได้มีความร่วมมือกันเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเร็วขึ้น โดยรับสมัครเข้าโครงการปีละ 1,160 ราย ซึ่งในแต่ละปี มีเด็กเป็นโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิดประมาณร้อยละ 1 หรือ 8,000 ราย โดยร้อยละ 50 มีความพิการน้อยและอาจหายเองได้ เช่น มีรูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจขนาดเล็กๆ แต่อีกครึ่งหนึ่งจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด มิฉะนั้น อาจเสียชีวิตหรืออายุสั้น แต่ขณะนี้มีโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนผ่าตัดได้ปีละประมาณ 2,000-2,500 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องรอคิวนาน อาจเสียชีวิตก่อนได้รับการรักษา โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล การผ่าตัดเพิ่มอีกปีละ 1,160 ราย เชื่อว่าจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาลงได้

“โครงการดังกล่าวจะดำเนินการในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 22 แห่ง ทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 - ธันวาคม 2552 หรือจนกว่าจะผ่าตัดครบ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานป่วยด้วยโรคหัวใจ สามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างใด”นายชวรัตน์ กล่าว

ด้าน ศ.นพ.บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้ ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ร่วมกับแพทย์โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่จะออกค้นหาผู้ป่วย ตรวจคัดกรองโดยตรวจคลื่นหัวใจ และเอ็กซเรย์ หากพบจะส่งตัวเข้าผ่าตัดที่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 22 แห่ง โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าผ่าตัด ส่วนมูลนิธิฯสนับสนุนค่าตอบแทนแพทย์ผ่าตัดนอกเวลาราชการ กรณีผ่าตัดเปิดหัวใจรายละ 25,000 บาท สำหรับผ่าตัดแบบไม่เปิดหัวใจรายละ 15,000 บาท เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดและการดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางค่าใช้จ่ายประจำวันให้ผู้ป่วยที่ฐานะยากจนด้วย ซึ่งตั้งแต่ปี 2545 ที่มูลนิธิได้ดำเนินโครงการผ่าตัดเด็กโรคหัวใจชนิดไม่ซับซ้อนนอกเวลาราชการให้เด็กที่มีปัญหาซับซ้อน ผลการดำเนินงานจนถึงขณะนี้ มีเด็กเข้ารับการผ่าตัดแล้ว 4,726 ราย

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคหัวใจในเด็กนั้น มากกว่าร้อยละ 80 มีสาเหตุมาจากความพิการของหัวใจมาแต่กำเนิด โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ตัวอ่อนกำลังสร้างหัวใจ ซึ่งร้อยละ 90 ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงคือการติดเชื้อไวรัส เช่น ระหว่างตั้งครรภ์แม่ติดเชื้อหัดเยอรมัน แม่อายุเกิน 35 ปี ยาบางชนิดที่แม่รับประทานระหว่างตั้งครรภ์ เป็นต้น

“อาการที่พบบ่อยที่สุด คือ ผนังกั้นหัวใจมีช่องโหว่ หรือผนังกั้นหัวใจรั่ว เด็กจะมีปัญหาเหนื่อยหอบง่าย เจริญเติบโตช้า สาเหตุที่พบรองลงมาคือโรคหัวใจรูมาติก (ลิ้นหัวใจรั่ว) ซึ่งมักจะเป็นในเด็กอายุมากกว่า 5 ขวบ เกิดจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสที่ทอนซิลและคอแล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้เกิดโรคไข้รูมาติก มีอาการไข้ ปวดข้อ ทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบ และเกิดการรั่วตามมา ถ้าเป็นมากต้องรักษาโดยการผ่าตัด

สำหรับโรงพยาบาล 22 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.ราชวิถี รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.สงขลานครินทร์ รพ.ยะลา รพ.พระปกเกล้าจันทบุรี รพ.ศูนย์ชลบุรี

รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก ศูนย์โรคหัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวร รพ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น รพ.รามาธิบดี รพ.ธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น กทม. และรพ.เวชประสิทธิ ขอนแก่น
กำลังโหลดความคิดเห็น