“เฉลียว” ทิ้งแนวทาง “อยากเรียนต้องได้เรียน” ปรับการรับนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาปีการศึกษา 2552 ใหม่ โดยให้มีการวัดแววเด็กก่อนรับเข้าเรียน ระบุ อาชีวศึกษาต้องไม่ใช่ทางเลือกสุดท้ายอีกต่อไป ต้องเน้นเรื่องคุณภาพก่อนปริมาณ ชี้ ที่ผ่านมาแต่ละปีมีเด็กออกกลางคันเกือบหมื่นคน เพราะเรียนไปแล้วเพิ่งรู้ว่าไม่ชอบ
นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยถึงการรับนักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันสังกัดสำนักงานคณะกรรการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในปีการศึกษา 2552 ว่า การรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2552 จะรับในรูปแบบของกลุ่มสถาบันการอาชีวศึกษา โดยแต่ละกลุ่มจะมีประมาณ 15-25 วิทยาลัย ไม่ใช่แต่ละวิทยาลัยต่างคนต่างรับ และจะมีการคัดเลือกผู้เรียนโดยมีการประเมินความพร้อม หรือวัดแวววิชาชีพ ไม่ใช่ใครอยากเรียนอะไรก็ได้เรียน
เช่น หากจะเรียนทางด้านเกษตร ก็ต้องวัดแววด้านเกษตร หากอยากเรียนช่าง ก็ต้องวัดแววด้านช่างก่อน เพราะต่อไปสถาบันการอาชีวศึกษาจะเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรีทางสายปฏิบัติ ไม่ใช่ปริญญาตรีด้านวิจัย หรือสร้างองค์ความรู้ด้านวิชาการ ดังนั้น นักศึกษาและผู้ปกครองต้องตัดสินใจเลือกเรียนตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หากต้องการเรียนกับสถาบันการอาชีวศึกษา
“สถาบันการอาชีวศึกษาจะไม่ใช่ทางเลือกสุดท้ายอีกต่อไป ใครต้องการมาเรียนก็ต้องตัดสินใจเลือก ซึ่งเราจะเน้นคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ และผมเชื่อว่า ถ้าคุณภาพดี ปริมาณของนักศึกษาจะตามมาเอง ทั้งนี้ จากการรับนักเรียน นักศึกษาที่ผ่านมา พบว่า ในแต่ละปีมีการออกกลางคันค่อนข้างมาก หรือเกือบหมื่นคน โดยมีสาเหตุ 3 ประการ คือ เด็กได้ที่เรียนใหม่ เด็กเรียนไม่ไหว พอเรียนได้ 1 เทอมรู้ว่าไม่ชอบก็ลาออก และออกไปทำงาน ซึ่งการวัดแววทางวิชาชีพก่อนเข้าเรียนจะช่วยลดปัญหาการออกกลางคันได้” เลขาธิการ กอศ.กล่าว
นายเฉลียว กล่าวอีกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือร่วมกับนายวีรวัฒน์ วรรณศิริ นายกสมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ถึงการรับนักศึกษาในปีการศึกษาหน้า ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะมีการรับนักศึกษาร่วมกัน ไม่กำหนดสัดส่วนว่าเป็นสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน แต่จะดูว่าใครมีความเชี่ยวชาญ หรือชำนาญในด้านใด และควรผลิตบุคลากรจำนวนเท่าไหร่เพื่อสนองต่อความต้องการของประเทศ โดยจะมีการหารือรายละเอียดอีกครั้งในที่ 14 พ.ย.นี้ ซึ่งขณะนี้ตนได้มอบหมายให้กลุ่มสถาบันการอาชีวศึกษาไปวิเคราะห์สาขา และจำนวนนักศึกษาที่จะผลิต ทั้งนี้ คาดว่า จะประกาศนโยบายการรับนักศึกษาที่ชัดเจนได้เร็วๆ นี้
ด้านนายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) กล่าวว่า จากการประเมินสถานศึกษาในรอบ 2 (พ.ศ.2549-2553) เบื้องต้นพบว่า แม้มีสถานศึกษาที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นกว่ารอบแรก (พ.ศ.2543-2548) แต่บางมาตรฐานก็ยังน่าเป็นห่วงเช่นเดิม เช่น ระดับขั้นพื้นฐาน มาตรฐาน 4-6 เกี่ยวกับเด็กมีความรู้ คิดวิเคราะห์และใฝ่รู้ ยังน่าเป็นห่วง ส่วนระดับอุดมศึกษา มาตรฐานเรื่องงานวิจัยอยู่ในระดับพอใช้เท่านั้น โดยสัดส่วนงานวิจัยอยู่ที่ 7 ปีต่อคนต่อชิ้น ขณะที่อาจารย์ในต่างประเทศมีงานวิจัยอย่างน้อย 2-3 ชิ้นต่อปีต่อคน
ส่วนระดับอาชีวะนั้น ผลประเมินแม้ว่าดีในทุกมาตรฐาน แต่ก็น่ากังวลว่าดีจริงหรือไม่ เพราะความสามารถของคนที่จบการศึกษาออกไปก็ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้น การประเมินในรอบที่ 3 อาจต้องปรับเปลี่ยนระบบการประเมิน ไม่เช่นนั้นผลการประเมิน ก็คงออกมาแบบเดิม