สมศ.จี้ ศธ.ทบทวนแจกคอมพิวเตอร์นักเรียน ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย ทุ่มเท่าไหร่มีแต่ขาดทุน ระบุ หากใช้ต้องปูพื้นฐานความรู้คอมพ์ให้ครูก่อน พร้อมยกพระราชดำรัสในหลวง “เครื่องคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีจะมาแทนครูไม่ได้”
นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวถึงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ในโครงการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา (One laptop per Child : OLPC) ว่า ต้องยอมรับว่า ปัญหาที่คุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยยังไม่ดีขึ้น ปัจจัยสำคัญ คือ คุณภาพของครูและบุคลากรการศึกษา ดังนั้น หากรัฐบาลไม่แก้ไขที่การพัฒนาศักยภาพครู และอบรมให้ครูมีความรู้ในการใช้สื่อและเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ไปใช้วิธีการแจกคอมพิวเตอร์ให้เด็กได้เรียนรู้แทนนั้น ตนคิดว่าหากลงทุนไปเท่าไรก็คงขาดทุน
ทั้งนี้ ในระบบการเรียนการสอนของต่างประเทศ แม้จะมีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ก็เป็นเพียงเครื่องมือประกอบการสอนของครู โดยที่ครูจะต้องผ่านการอบรม และมีความรู้มีทักษะด้านคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เน้นเพียงแต่การแจกคอมพิวเตอร์อย่างเดียว แต่ต้องมีการปูพื้นฐานให้ครูก่อน อีกทั้งปัญหาด้านอื่นๆ อาทิ ค่าไฟฟ้า ของโรงเรียนที่จะต้องเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนในต่างจังหวัดที่ปัจจุบันงบประมาณไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว
“สมศ.ในฐานะที่ดูแลในด้านคุณภาพการจัดการศึกษาคงต้องออกมาติติงบ้าง เพราะจากผลงานวิจัยจากทั่วโลก ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าการจัดการศึกษานั้น จะทุ่มแต่เงินโดยไม่เพิ่มคุณภาพครูไม่ได้ ต่อให้ใส่เงินไปเท่าไรก็แก้ปัญหาไม่ได้ ดังพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตรัสไว้ว่า เครื่องคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีจะมาแทนครูไม่ได้” นายสมหวัง กล่าว
นายสมหวัง กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวนี้เป็นการจัดซื้อคอมพิวเตอร์จากต่างประเทศ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรจะกลับมาคิดให้รอบคอบ ซึ่งในสมัยของ นายวิจิตร ศรีสอ้าน ดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ก็เคยสั่งให้ชะลอโครงการและมาพิจารณาถึงความจำเป็น และขั้นตอนในการดำเนินการที่จะต้องเริ่มจากการนำผู้บริหาร และครูไปอบรมให้มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีก่อน อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนโยบายต่างๆ ก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย