xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ทำแผนระยะยาว ใช้งบแบบเหมาะสม พัฒนาครู เด็กพิการ สร้างเครือข่าย ร.ร.ขนาดเล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนัดแรก แนะ สพฐ.ปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน สนับสนุนงบให้เหมาะสมกับความพร้อม มุ่งพัฒนาครู เด็กพิการ แก้ปัญหาเยาวชน พร้อมสร้างเครือข่ายพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก โดยให้จัดทำแผนระยะยาวแทนการจัดทำปีต่อปี

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นัดแรก โดยมี นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธาน ว่า ตนได้นำนโยบายและแผนงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งต่อที่ประชุม ซึ่งคณะกรรมการต้องการเห็นผลการดำเนินงานเป็นรายเขตพื้นที่การศึกษา โดยให้ข้อเสนอแนะว่า สพฐ.ต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินงานและการสนับสนุนงบประมาณ ให้เหมาะสมกับสภาพความพร้อม ความเข้มแข็ง และปัญหาของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งขอให้ สพฐ.ดูแลและพัฒนาเรื่องการพัฒนาครู เด็กพิการ ตลอดจนปัญหาเยาวชน โดยเฉพาะการพัฒนาสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการประเมินมาตรฐานของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) การสร้างเครือข่ายและประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร และสภาหอการค้า ให้ตระหนักถึงผลกระทบของการศึกษาที่จะมีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้หน่วยงานเหล่านี้สนับสนุนเรื่องการศึกษาต่อไป ซึ่ง สพฐ.จะต้องจัดทำแผนการดำเนินงานระยะยาว และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช่ทำแผนงานที่นำเสนอเพียงปีต่อปี

“กพฐ.ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางในประเด็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ไม่ผ่านการประเมินมาตรฐานของ สมศ.อาทิ ค่าใช้จ่ายรายหัว ที่ควรทำวิจัยเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าควรได้รับการสนับสนุนเท่าใดจึงจะเพียงพอ ควรมีจำนวนเท่าใดจึงจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กกันแน่ เพราะสพฐ.กำหนดนักเรียน 120 คน ลงมาเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ขณะที่ สมศ.กำหนดว่า นักเรียน 300 คน ลงมาเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ภาระของครูที่ต้องดูแลงานธุรการ ทำให้ไม่มีเวลาดูแลเด็ก รวมถึงการพัฒนาครูให้สอนคละชั้น นอกจากนี้ ยังได้ฝากให้ดูเรื่องการประกันคุณภาพภายใน เพราะมีเสียงสะท้อนว่ายังไม่มีความเข้มข้นเท่าที่ควร ซึ่งบางโรงเรียนก็ยังไม่ได้ดำเนินการตามหลักการของ สพฐ.” คุณหญิงกษมา กล่าว

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับร่างนโยบายการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ในเรื่องคุณภาพของสื่อและความคุ้มค่าของราคาที่ผู้ปกครองต้องจ่าย เพราะการมีสื่อที่มีคุณภาพ และราคาเหมาะสม ก็เป็นส่วนหนึ่งของการที่จะยกระดับคุณภาพ โดย กพฐ.ได้ฝากให้ สพฐ.ไปดูผลงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับกลไกในการควบคุมคุณภาพของสื่อ รวมทั้งอาจจะมีการวิจัยปลายทางที่โรงเรียนว่าปัจจุบันเด็กใช้สื่ออะไร และมีปัญหาอุปสรรคอย่างไร เพื่อหาช่องว่างที่ควรจะปรับปรุงดูแล ขณะเดียวกันควรทำให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มีความเข้มแข็ง ทั้งเรื่องของการพัฒนาสื่อ ผลิตสื่อและติดตามดูแลสื่อ และ สพฐ.เองควรผลิตสื่อที่มีคุณภาพเผยแพร่ให้กว้างขวางมากขึ้น ทั้งนี้ สพฐ.จะนำข้อเสนอต่างๆ ไปดูแล และบางประเด็นจะหยิบยกมาหารือในที่ประชุมครั้งต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น