xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์เต้น สั่งสุ่มตรวจเส้นก๋วยเตี๋ยวปนเปื้อนสารพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมวิทย์ สั่งเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจเส้นก๋วยเตี๋ยวในกรุงเทพฯ ปริมณฑล 100 ตัวอย่าง วิเคราะห์หาสารอันตรายเพิ่มตามผลสำรวจของ สกว.คาดทราบผลสัปดาห์หน้า ด้าน อย.ชี้ข้อมูลเส้นก๋วยเตี๋ยวของ สกว.เก่า แล้ว ปัจจุบันสารปนเปื้อนลดลง ระบุ มีโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวได้จีเอ็มพีแล้ว 3 แห่ง ตั้งเป้าปี 2551 เพิ่มเป็น 13 แห่ง

จากกรณีนักวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ออกมาเปิดเผยถึงสำรวจพบเส้นก๋วยเตี๋ยวมีสารปนเปื้อนหลายชนิดที่อันตรายต่อสุขภาพ ทั้งสารโพลา เกิดจากน้ำมันทอดซ้ำ สารอะฟลาท็อกซิน จากน้ำมันถั่วที่ใช้เคลือบเส้นก๋วยเตี๋ยวไม่ให้ติดเครื่องจักร รวมทั้งสารกันบูด สารส้ม อะลูมิเนียม นั้น

นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมวิทย์ จะประสานกับ สกว.เพื่อขอข้อมูลการวิจัยเพื่อนำมาปรับปรุงระบบการตรวจวิเคราะห์เส้นก๋วยเตี๋ยวว่าจะมีสารใดที่เป็นอันตรายบ้าง เพื่อนำมาปรับปรุงกระบวนการตรวจวิเคราะห์ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยในวันนี้ (29 ส.ค.)ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกสุ่มตรวจเส้นก๋วยเตี๋ยวตามตลาดสด ร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 100 ตัวอย่าง ซึ่งจะต้องเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มาจากโรงงานผลิตคนละแห่ง ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวประมาณ 300 แห่งทั่วประเทศ เพื่อตรวจวิเคราะห์ว่ามีสารปนเปื้อนใดบ้าง

“การตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้ จะวิเคราะห์หาสารตามที่ผลการวิจัยของสกว.ตรวจพบ เช่น ในกระบวนการผลิตใช้สารโพลา สารอะฟลาท็อกซิน น้ำมันพืช ในปริมาณเท่าใด และน้ำมันที่ติดอยู่กับเส้นเป็นน้ำมันชนิดใด ระหว่างน้ำมันพืช น้ำมันถั่ว หรือน้ำมันเครื่องจักรที่อาจจะติดมาระหว่างกระบวนการผลิต” นพ.นิพนธ์ กล่าว

นพ.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ คาดว่า จากการสำรวจครั้งนี้จะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่กรมวิทย์ฯ ได้ตรวจสอบมา และคาดว่าจะทราบผลภายในสัปดาห์หน้า พร้อมทั้งจะมีการขยายผลโดยสุ่มตรวจเส้นก๋วยเตี๋ยวทั่วประเทศต่อไปด้วย ที่สำคัญ จะมีการนำผลการตรวจไปปรับปรุงกฎหมายการควบคุมการปริมาณและส่วนผสมของสารต้องห้ามในกระบวนการผลิตอาหารด้วย

“ที่ผ่านมา กรมวิทย์ไม่สามารถตรวจสอบกระบวนการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวในโรงงานได้ เนื่องจากไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกรมวิทย์ จึงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการเติมสารปนเปื้อนอะไรลงไปในกระบวนการผลิตได้บ้าง ทางกรมวิทย์ใช้วิธีให้คำแนะนำและรณรงค์การใส่สารในปริมาณที่กฎหมายกำหนด โดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานอาหารสากล (Codex) แทน” นพ.นิพนธ์ กล่าว

รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กรมวิทย์ได้สุ่มตรวจเฉพาะเส้นก๋วยเตี๋ยวที่วางจำหน่วยตามร้านค้าทั่วประเทศ เพื่อตรวจหาสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก ว่ามีค่าเกินมาตรฐานหรือไม่ เนื่องจากผู้ผลิตมักใส่สารชนิดนี้จำนวนมากเพื่อยืดอายุเส้นก๋วยเตี๋ยวให้นานขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ประกอบการใส่สารกันบูดเกินกว่าค่ามาตรฐาน คือ ไม่ 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งผู้บริโภครับประทานก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม จะไม่ได้รับอันตรายทันที แต่จะต้องรับประทานเส้นก๋วยเตี๋ยวในครั้งเดียวมากถึง 10 กิโลกรัมเท่านั้น จึงจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะเดียวกัน หากได้รับสารดังกล่าวในปริมาณเล็กน้อยแต่ติดต่อกันเป็นเวลานานก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน

ด้าน ภก.มานิตย์ อรุณากูร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากการสำรวจร้านก๋วยเตี๋ยวครั้งล่าสุด ช่วงกลางปี 2551 พบว่า มีร้านก๋วยเตี๋ยวกว่า 75,000 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงที่เสี่ยงปนเปื้อนสารอันตราย อย่างเช่น มีการใช้สารกันเสียชนิดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน ร้อยละ 22 ผักต่างๆ ที่ใช้เป็นส่วนผสม อาทิ ถั่วงอก คะน้า และต้นหอม พบมีสารกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนร้อยละ 4-11 มีการใช้น้ำส้มสายชูไม่ได้มาตรฐาน ร้อยละ 26 และพบสารพิษอะฟลาท็อกซินที่เกิดจากเชื้อราในพริกป่น ถั่วปน ร้อยละ 18 ซึ่งทั้งหมดต่างเพิ่มอัตราเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งมากขึ้น

“ส่วนข้อมูลการวิจัยของ สกว.เป็นข้อมูลเก่าเก็บตัวอย่างมาตั้งแต่ปี 2549-2550 แต่เพิ่งมาเปิดเผยข้อมูลในปี 51 ซึ่งหากมีการสุ่มตรวจขณะนี้จะรู้ว่ามีเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐานกำหนดลดลงจากผลการสำรวจของ สกว.อย่างแน่นอน” ภก.มานิตย์ กล่าว

ภก.มานิตย์ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ทาง อย.ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวอย่างมาก โดยได้จัดโครงการอบรม “การผลิตก๋วยเตี๋ยวให้ปลอดภัยและได้มาตรฐาน” ทั่วประเทศ พร้อมจัดหลักสูตรอบรมโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวขนาดใหญ่ที่ส่งจำหน่ายทั่วประทศ มีทั้งสิ้น 13 แห่ง โดยมีหนักวิชาการ นักโภชนาการ ให้ความรู้เรื่องสุขอนามัย เทคนิค และวิธีการผลิตที่ปลอดภัย การคัดเลือกวัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัย และถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อพัฒนาเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานการผลิตที่ดี (จีเอ็มพี) ซึ่งขณะนี้ทำสำเร็จแล้ว 3 แห่ง และตั้งเป้าให้ครบทั้ง 13 แห่ง ภายในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่อย. จะออกกฎหมายกำหนดให้โรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวขนาดใหญ่ที่ส่งสินค้าจำหน่ายทั่วประเทศจะต้องผ่านจีเอ็มพี จึงจะสามารถจำหน่ายได้ถูกต้อง

ทั้งนี้ มีข้อมูลจาก อย.แจ้งว่า สารเบนโซอิกสามารถรับประทานได้ไม่เกิน 25 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัมก็สามารถทานได้ไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครทานก๋วยเตี๋ยวได้เกิน1 กิโลกรัมต่อวัน ปกติทานก๋วยเตี๋ยว 1 มื้อ ใช้ก๋วยเตี๋ยวไม่เกิน100 มิลลิกรัม มีสารกันบูดดังกล่าวประมาณ 100 มิลลิกรัม หากทานก๋วยเตี๋ยว 3 มื้อ ก็มีเพียง 300 มิลลิกรัม ก็ไม่เกินในปริมาณที่กำหนด และไม่เป็นอันตราย แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดว่า หากมีในปริมาณที่เกินกว่าที่กำหนดเท่าใด กี่เท่าจึงไม่ปลอดภัย แต่หากเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีปริมาณสารกันบูดเกินการทาน 3 ชามต่อวัน ก็อยู่ในปริมาณที่ไม่เกินกว่ากำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น