xs
xsm
sm
md
lg

ไทยผนึก เวียดนามพลิกวิกฤติอาหาร สบช่องอำนาจต่อรองตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันอาหารเล็งแผนดึงเวียดนามจากคู่แข่งเป็นคู่พันธมิตร หวังพลิกวิกฤติอาหารโลกเป็นโอกาส ยกระดับมาตรฐานการผลิตชูการตลาด Food Safety พร้อมแนะแนวทางระดับราคาร่วมกัน ประกาศศักยภาพผู้ผลิตอาหารสำคัญของภูมิภาคเอเชีย แหล่งผลิตอาหารโลก “Food for the World” สร้างอำนาจต่อรองราคาในตลาดโลก

ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผอ.สถาบันอาหาร เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศเวียดนามและไทย เป็นประเทศที่มีการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเป็นอันดับต้นๆ ของโลก หรือเป็นอันดับหนึ่งในหลายรายการสินค้า และจะเห็นได้ว่าสินค้าอาหารของเวียดนามเป็นชนิดเดียวกับสินค้าที่ไทยสามารถผลิตและส่งออกได้ สินค้าอาหารที่เวียดนามส่งออกและถือได้ว่าเป็นคู่แข่งกับสินค้าไทยมาโดยตลอด อาทิ ข้าว กุ้ง เป็นต้น

ในอดีตไทยและเวียดนามจะมีการแข่งขันกันสูงในการแย่งตำแหน่งทางการตลาดสินค้าเกษตร-อาหารโลก เพื่อความเป็นหนึ่งจนในบางครั้งมูลค่าของสินค้าที่ควรจะได้รับตามกลไกของตลาด กลับต้องสูญเสียไปในตลาดอย่างน่าเสียดาย ซึ่งเกิดจากการใช้กลยุทธ์ด้านราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตลาด เป็นผลให้สินค้าอาหารกลายเป็นสินค้าที่ผู้ซื้อกำหนดราคา และมีอำนาจในการต่อรองสูง ทั้งที่ไทยและ เวียดนามเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก

ทั้งนี้ เมื่อดูส่วนแบ่งตลาดอาหารของไทยและ เวียดนามรวมกันแล้ว พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 26,164 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ไทย 18,613 ล้านเหรียญสหรัฐฯเวียดนาม 7,551 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดโลก ร้อยละ 3.35 สินค้าอาหารส่งออกที่สำคัญของทั้ง 2 ประเทศ คือ ข้าว ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยและเวียดนามเมื่อรวมกันแล้วนั้นมีปริมาณที่สูงถึง 14.02 ล้านตัน หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดโลกร้อยละ 44 สามารถผลิตเพื่อเลี้ยงประชากรโลกได้ไม่น้อยกว่า 160 ประเทศทั่วโลก

จากวิกฤติอาหารโลกในปัจจุบันที่หลายประเทศคาดว่าจะเกิดการขาดแคลนในอนาคต และมองว่า ภูมิภาคเอเชียจะเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ดังนั้น การรวมตัวกันระหว่างไทย-เวียดนาม เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพในด้านการผลิตและการตลาดจึงน่าจะเป็นสิ่งแรกที่ทั้ง 2 ประเทศ จะต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอาหารสำคัญของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะทำให้อำนาจต่อรองราคาในตลาดโลกสูงขึ้นและก้าวไปสู่ ผู้กำหนดราคาอย่างแท้จริง และมูลค่าของข้าวหรือสินค้าอาหารอื่นๆ ที่ไม่ควรสูญเสียไปในตลาดจากการตัดราคากันเอง

นอกจากสินค้าข้าวแล้วนั้น สินค้าประมงก็เป็นอีกหนึ่งรายการที่ควรต้องเร่งสร้างความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในการส่งออกสินค้ากุ้งและปลาแช่แข็ง ซึ่งนับว่าเป็นสินค้าที่มีความสำคัญเนื่องจากไทยและเวียดนามเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก

อย่างไรก็ตาม การสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและเวียดนามนั้น สินค้าอาหารจะต้องได้รับการยกระดับให้ได้มาตรฐานที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในด้านของ Food Safety ของเวียดนาม ผู้ประกอบการเวียดนามยังมองว่าตนเองมีจุดด้อยในด้านนี้และยังขาดแคลน การยกระดับมาตรฐานการผลิตจึงเป็นด่านแรกที่จะนำไปสู่การยกระดับราคาสินค้าร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันระหว่างความเชี่ยวชาญของแต่ละประเทศ การกำหนดและการแบ่งโซนตลาดสินค้า การจำแนกประเภทกลุ่มลูกค้าร่วมกันอย่างชัดเจน รวมไปถึงการจัดสรรโควต้าร่วมกันจะทำให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงทางด้านอาหารของทั้งไทยและเวียดนาม ทั้งนี้ ความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม จะต้องเกิดจากภาครัฐบาลที่จะต้องเป็นผู้นำในการเร่งเจรจาอย่างจริงจัง และจัดทำเป็นโครงการนำร่องในลักษณะของการเชื่อมโยงธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในมุมมองของการเป็นคู่ค้า – การลงทุน ระหว่างไทยและเวียดนาม เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สถาบันอาหาร มองเห็นศักยภาพ ในด้านของคู่ค้า เวียดนามยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยหลายรายการ เช่น น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่ม อาหารสัตว์ เนื้อไก่ แป้งข้าวและผลิตภัณฑ์ และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ โดยมี มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 9,500 ล้านบาท สินค้าอาหารจากไทยจะได้รับการตอบรับที่ดีกว่าสินค้าที่นำเข้าจากประเทศอื่นๆ ถึงแม้ราคาจะสูงกว่าแต่คนเวียดนามยังมองว่าสินค้าของไทยตรงกับความต้องการมากที่สุด

นอกจากอาหารสำเร็จรูปและอาหารกระป๋องที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สินค้าที่มีแนวโน้มและเป็นที่ต้องการมากที่สุด ณ ขณะนี้ คืออาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพร หรือมีสรรพคุณที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะความสวยความงาม กำลังเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ดังนั้น ไทยจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์สินค้าเพื่อกระตุ้นตลาดและสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพมาตรฐานให้ผู้บริโภครับรู้มากขึ้น รวมถึงการร่วมกิจกรรมทางการตลาด กับผู้นำในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้าง Brand royalty เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สินค้าอาหารของไทยในประเทศเวียดนามเติบโตได้เร็ว ในขณะที่ไทยก็มีการนำเข้าอาหารจากเวียดนาม มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,600 ล้านบาท ได้แก่ เนื้อปลาแช่เย็น แช่แข็ง ปลาหมึกกล้วย และถัวลิสง เป็นต้น ในด้านของการลงทุน ไทยลงทุนในเวียดนามสูงเป็นอันดับที่ 12 จากนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด

สำหรับมุมมองของผู้ประกอบการเวียดนามที่มองไทยนั้น ผอ.สถาบันอาหาร ระบุว่าผู้ประกอบการ เวียดนามมีมุมมองสำคัญใน 3 เรื่อง คือ 1. การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน 2. ความร่วมมือเพื่อผลักดันให้ทั้ง 2 ประเทศเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก “Food for The World” และ 3. เวียดนามให้การยอมรับนักลงทุนไทยค่อนข้างมาก ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมอาหารที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ บริษัทในเครือ C.P. บริษัทในเครือเบทาโกร บริษัทในเครือพัทยาซีฟู้ด และบริษัทในเครือ ไทย-ยูเนี่ยนกรุ๊ป เป็นต้น
 โดยบทบาทของสถาบันอาหารในการสร้างพันธมิตรทางการค้าระหว่างไทย-เวียดนาม มี 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1. การถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการร่วมกัน ได้แก่ Food Safety เทคโนโลยีการผลิตระดับ โรงงานแปรรูป 2. สนับสนุนการเชื่อมโยงธุรกิจอาหารระหว่างผู้ประกอบการไทยและเวียดนาม อาทิ การจัด กิจกรรม Business matching ผู้ซื้อพบผู้ขาย ระหว่างไทยและเวียดนาม 3. การจัดทำดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพและยกระดับอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น