xs
xsm
sm
md
lg

เผยเส้นก๋วยเตี๋ยวมีพิษสารพัด ใส่สารละลายปริศนาให้เส้นร่วนซุย-ใช้น้ำมันทอดซ้ำ-อัลฟาท็อกซิล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยตะลึงอุตสาหกรรมเส้นก๋วยเตี๋ยว เผยข้อมูลโรงงานผลิต 50% ใส่สารละลายปริศนาให้เส้นร่วนซุย แถมใช้น้ำมันทอดซ้ำเพื่อหล่อลื่น ใส่สารกันบูด สารส้มมีสารอะลูมิเนียม และพบสารอัลฟาท็อกซิลจากน้ำมันถั่วลิสงเกินมาตรฐาน

ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้ประสานงานชุดโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมเอสเอ็มอี ฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า จากการสำรวจและศึกษาวิจัยเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเส้นก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่ ปี 2549-2551 พบข้อมูลที่ได้จากผู้ประกอบการว่า กรรมวิธีในการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวมีการใส่สารที่ไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค โดยผู้ประกอบให้ข้อมูลว่า โรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวกว่า 50% จะใส่สารละลายที่เรียกกันว่าน้ำมันหัวเชื้อเข้าไปในกระบวนการขึ้นแท่นรีดแผ่นก๋วยเตี๋ยว หรือบางรายใส่ผสมกับส่วนผสมผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวเลยก็มี เพื่อให้ร่วนซุยไม่ติดกัน ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสารดังกล่าวคืออะไร เป็นอันตรายหรือไม่ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าสารดังกล่าวเป็นอะไร แต่มีราคาแพงประมาณ 5 ลิตร 900 บาท ทั้งยังมีผู้ผลิตรายเดียวของประเทศไทย

“จากการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการได้แยกส่วนประกอบของหัวเชื้อคืบหน้าไปกว่า 80% แล้วยังไม่พบว่าเป็นสารอันตราย แต่ส่วนประกอบที่กำลังศึกษาต่อไปอีก 20% ยังไม่ทราบว่ามีอันตรายหรือไม่ หากอันตรายก็ต้องประชาสัมพันธ์ให้ทราบ แต่ถ้าไม่อันตรายก็ต้องศึกษาว่ามีปริมาณที่จำกัดหรือไม่ โดยผู้ประกอบการเพิ่งนิยมใส่หัวเชื้อนี้มาประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา โดยเส้นใหญ่ ใส่สารดังกล่าวมากที่สุดประมาณ 5-8% รองลงมาเป็นเส้นเล็กแห้ง โดยผู้บริโภคไม่สามารถทราบได้เลยว่าเส้นใดใส่หรือไม่ใส่ ทราบได้เพียงว่าเส้นเมื่อกัดไปแล้วจะมีรสเปรี้ยว เฝื่อนๆ หรือแนะนำให้ทานเส้นก๋วยเตี๋ยวที่แห้งและต้องแช่น้ำก่อน” ผศ.ดร.บัณฑิต กล่าว

ผศ.ดร.บัณฑิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า ธุรกิจเส้นก๋วยเตี๋ยวผลิตแล้วส่งข้ามพื้นที่ อาจเป็นภาคกลางส่งไปภาคอีสาน ทำให้ต้องยืดอายุเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วย สารกันบูด โดยปกติอายุก๋วยเตี๋ยวอยู่ประมาณ 4 วัน รวมถึงการโรงงานกว่า 95% ใช้น้ำมันทอดซ้ำในกรรมวิธีการขึ้นแท่นรีดแผ่นก๋วยเตี๋ยว เนื่องจากมีความหนืดดีกว่าน้ำมันปาล์มหรือน้ำมันถั่วลิสงใหม่ ซึ่งทราบดีว่าในน้ำมันทอดซ้ำมีสารโพลาร์ที่เป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง ตับ มะเร็งเม็ดเลือดขาว ความดันโลหิต ฯลฯ รวมถึงบางรายใช้น้ำมันทอดซ้ำผสมกับน้ำมันถั่วลิสง ซึ่งหากไม่สะอาดอาจมีเชื้อรานำสารอัลฟาท็อกซิลต้นเหตุของโรคมะเร็งด้วย

“กำลังการผลิตก๋วยเตี๋ยวทั่วประเทศมีประมาณ 70 ตัน คนไทยทานเส้นก๋วยเตี๋ยวอย่างน้อยวันละ 1 มื้อ หาก 1 สัปดาห์ทาน 3 มื้อ เท่ากับกินเส้นก๋วยเตี๋ยวประมาณ 1.5 กิโลกรัมต่อวัน จากการสำรวจพบว่าชอบทานเป็นมื้อเที่ยง เท่ากับทาน 7 มื้อต่อสัปดาห์เท่ากับว่าทานปีละ 36 กิโลกรัม ดังนั้นธุรกิจผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวจึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ” ผศ.ดร.บัณฑิต กล่าว

ผศ.ดร.บัณฑิต กล่าวด้วยว่า คณะวิจัยฯได้ศึกษาถึงองค์ประกอบของสารดังกล่าวว่าคืออะไร และคิดค้นหาส่วนผสมของน้ำมันชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติมาใช้งานทดแทนน้ำมันทอดซ้ำ เพื่อไม่ให้เส้นก๋วยเตี๋ยวติดแท่นเส้นรีดก๋วยเตี๋ยว พร้อมทั้งได้นำองค์ความรู้ในเบื้องต้นประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำโรงงานต้นแบบที่ใช้น้ำมันทีปลอดภัย ไม่ใส่สารอันตรายต่อผู้บริโภคด้วย โดยในวันที่ 28 ต.ค.นี้จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผู้ประกอบการทั่วประเทศ มาร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน โดยจะให้โรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวต้องได้รับมาตรฐานการผลิตจาก อย.ก่อน

“รวมถึงการจัดตั้งศูนย์กลางที่มีองค์ประกอบจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชน จำนวน 20 คน มาระดมความคิดแก้ไขปัญหาเส้นก๋วยเตี๋ยวในระดับชาติ พร้อมกับนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัย คาดว่า จะสรุปประมาณ มิ.ย.2552 มาเผยแพร่ให้กับผู้ประกอบการทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็จัดตั้งสมาคมผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวขึ้นมา โดยสร้างมาตรฐานการผลิตที่ดี (จีเอ็มพี) ในอนาคต” ผศ.ดร.บัณฑิต กล่าว

ผศ.ดร.นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวที่เข้าร่วมโครงการและปรับปรุงการผลิตให้ได้มาตรฐาน โดยไม่ใส่น้ำมันทอดซ้ำหรือหัวเชื้อ และโรงงานได้ผ่านมาตรฐานจีเอ็มพีแล้ว 6 แห่ง ซึ่งกำลังจะเปิดตัวเป็นโรงงานต้นแบบเร็วๆ นี้ คือ อึ้งฮะเซ้งจากจ.จันทบุรี จ.เจริญชัยที่ จ.มุกดาหาร ,ป.รุ่งเรือง จากจ.อำนาจเจริญ, อิสริยะผล จ.เชียงใหม่, ไทยวัฒนาไรซ์ จ.นครปฐม และโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวแห่งเดียวในจ.ตรัง ซึ่งขณะนี้มีโรงงานกว่า 40 แห่งที่เข้าร่วมปรับปรุงกับการวิจัยของสำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คาดว่า ปลายปีนี้จะมีโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น

ด้านผศ.ดร.โสภาค สอนไว อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวัง สนามจันทร์ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าในเส้นก๋วยเตี๋ยวจะใส่สารส้มตีผสมกับน้ำ ใส่เข้าไปกับส่วนผสมผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว เพื่อให้เส้นนุ่ม ใส หนึก เพราะสารส้มมีฤทธิ์เป็นกรด แต่ถ้าใช้สารส้มที่มีส่วนประกอบเป็นสารอะลูมิเนียมในปริมาณมาก จะเกิดผลกระทบกับร่างกาย ซึ่งมาตรฐาน สารอะลูมิเนียมต้องไม่เกิน 0.2 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) แต่จากการเก็บตัวอย่างมาพิสูจน์พบถึง 620 ส่วนพีพีเอ็ม ส่วนน้ำมันถั่วลิสงที่นำมาผสมกับน้ำมันหัวเชื้อนั้น ก็พบว่า มีสารอัลฟาท็อกซิลปนเปื้อนเกินกว่าค่ามาตรฐาน ที่ระบุไว้ไม่ให้เกิน 20 ส่วนในพันล้านส่วน แต่กลับพบมากถึง 200 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องอันตรายอย่างมาก

“ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ว่าหัวเชื้อที่ผู้ประกอบการนำมาใช้นั้นคือสารอะไร เป็นอันตรายหรือไม่ พร้อมทั้งกำลังศึกษาหาน้ำมันสำหรับหล่อลื่นตัวใหม่ที่ไม่ต้องใช้น้ำมันทอดซ้ำ เพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับหัวเชื้อ ทั้งนี้ต้องศึกษาถึงการปรุงด้วยการลวกว่าจะสามารถทำให้น้ำมันหายไปได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ในหีบห่อของเส้นก๋วยเตี๋ยวระบุส่วนประกอบเพียงแป้งกับน้ำ แต่ความเป็นจริงใส่สารอะไรมากมายเข้าไป” ผศ.ดร.โสภาค กล่าว

ด้าน นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์ฯสุ่มตรวจหาสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกในเส้นก๋วยเตี๋ยว ว่า มีค่าเกินมาตรฐานหรือไม่ แต่ในส่วนขั้นตอนการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว จะมีสารใดปนเปื้อนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่นั้น ไม่สามารถบอกได้ เพราะยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน แต่หากผลการวิจัยพบว่า เส้นก๋วยเตี๋ยวมีสารปนเปื้อนที่ก่อปัญหาสุขภาพ ก็สามารถส่งมาตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้

“กรมฯจะเน้นการตรวจสารเบนโซอิก หรือสารกันบูด ซึ่งผู้ผลิตมักจะใส่สารนี้ในเส้นก๋วยเตี๋ยวกันเป็นประจำ เพื่อยืดอายุเส้นก๋วยเตี๋ยวให้นานขึ้น ซึ่งหากใส่สารกันบูดเกินค่ามาตรฐานก็ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ คือ เมื่อร่างกายได้รับในปริมาณสูงสะสมเป็นเวลานานจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง ซึ่งในบางพื้นที่ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สุ่มตรวจผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค ได้มีการให้คำแนะนำและรณรงค์การใส่สารในปริมาณที่กฎหมายกำหนด โดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานอาหารสากล (Codex) ได้กำหนดให้ใช้กรดเบนโซอิกในเส้นก๋วยเตี๋ยวได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม” นพ.มานิต กล่าว

นพ.มานิต กล่าวต่อว่า คงจะต้องประสานงานกันกับสกว.เพื่อตรวจวิเคราะห์เส้นก๋วยเตี๋ยวต่อไปว่า จะมีสารใดที่เป็นอันตรายบ้าง ซึ่งหากพบว่า เป็นสารที่มีอันตรายต่อสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดค่ามาตรฐานสารที่สามารถปนเปื้อนได้ และ สารต้องห้ามไม่ให้มีการปนเปื้อนในอาหารเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีทั้งอาหารที่กำหนดสารปนเปื้อนต้องห้ามแล้วและอาหารที่ยังไม่มีมาตรฐานกำหนดครอบคลุม
กำลังโหลดความคิดเห็น