xs
xsm
sm
md
lg

เปิด‘คลังหลวง’ทำไม่ได้หากไม่แก้กฎหมาย!

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

แน่นอนว่ารัฐบาลชุดนี้มีความพยายามที่จะเข้ามาทำอะไรสักอย่างที่แบงก์ชาติ ขณะนี้ก็ตั้งบอร์ดแบงก์ชาติใหม่ไปแล้ว และเร่งขบวนการกดดันผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนปัจจุบันอย่างแข็งขัน จะหวังแค่เปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ หรือหวังเลยไปถึงเรื่องทรัพย์สินของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

หรือเลยไปไกลกว่านั้น -- ถึงขั้น “เปิดคลังหลวง” ล้วงเงินออกมา “ลงทุน” โดยให้ “ต่างชาติ” ร่วมบริหาร!

แม้จะยังไม่ชัดเจน แต่ “จับตา” ไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย

ร่างพ.ร.บ.เงินตราฉบับใหม่นั้น รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ส่งเข้ามาอยู่ในระเบียบวาระสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2550 แต่ขอถอนเรื่องออกไปเพราะมีข่าวหนาหูว่าจะถูกคว่ำ ทีแรกบอกว่าจะขอนำกลับเข้ามาในวันที่ 12 กันยายน 2550 แต่พอถึงวันนั้นก็เลื่อนออกไปอีก ระหว่างที่ถอนเรื่องออก ไปก็มีการ “ล็อบบี้” สมาชิก สนช.หลายกลุ่ม และมีการแก้ไขบางมาตรา แต่ก็แคล้วคลาดไปได้ นอกจากเพราะมีเสียงคัดค้านเยอะ - โดยเฉพาะจากกลุ่มศิษยานุศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน – แล้ว ยังเพราะรัฐบาลเองก็ร่อแร่ๆ มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลังใหม่ และรัฐมนตรีช่วยคลังต้องพ้นจากตำแหน่ง

ร่างพ.ร.บ.เงินตรา (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ฉบับที่ว่าคงจะยังเป็นความฝังใจของนักบริหารเศรษฐกิจและเงินตราหลายคน ผมเชื่อว่าพวกเขาจะต้องผลักดันออกมาให้ได้

เรามาดูประเด็นกันสักหน่อย

เพราะมันคือความพยายามครั้งที่ 3 ในรอบ 10 ปีของธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ที่จะเข้ามา “ยุ่งเกี่ยว” กับสินทรัพย์ใน “ทุนสำรองเงินตรา” ที่อยู่ในบัญชีของฝ่ายออกบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีอยู่ 3 บัญชี หรือนัยหนึ่งที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน (พระธรรมวิสุทธิมงคล) ท่านเรียกขานจนติดปากคนทั้งแผ่นดินว่า “คลังหลวง” นั่นเอง

ครั้งที่ 1 – เกิดขึ้นในช่วงปี 2541 เป็นความพยายามที่จะ “รวมบัญชี” ระหว่างบัญชีของฝ่ายออกบัตรเข้ากับบัญชีของฝ่ายการธนาคาร เพื่อนำไปใช้จ่ายชดเชยการดำเนินงานที่ขาดทุนจากวิกฤตเศรษฐกิจ – ครั้งนั้น – ไม่สำเร็จ

ครั้งที่ 2 – คือการตราพระราชกำหนด 2 ฉบับในปี 2545 โอนเงินจากบัญชีสำรองพิเศษของฝ่ายออกบัตรมาช่วยชดเชยผลการขาดทุนสะสมของแบงก์ชาติ 165,000 ล้านบาท และแก้ไขหลักการที่พูดภาษาชาวบ้านง่ายๆ ว่าเท่ากับ “เปิดคลังหลวง” ไว้อ้าซ่าพอสมควรแล้ว (มาตรา 34/2 ในกฎหมายปัจจุบัน)

ครั้งที่ 3 – คือในเวอร์ชั่นล่าสุดของร่างกฎหมายฉบับที่ยังไม่ผ่าน แม้จะมีข้อดีที่ได้ “ปิดคลังหลวง” ลงไป ไม่ให้มีการโอนเงินออกมาใช้ (คือให้ยกเลิกมาตรา 34/2) แต่ก็มีเจตนาที่จะให้แบงก์ชาติมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะบริหารจัดการหาผลประโยชน์จากสินทรัพย์ในคลังหลวง ด้วยขอบเขตการลงทุนที่กว้างขึ้น เพิ่มมาตรา 34/3 และ 34/4 เข้าไป)

พูดง่ายๆ ว่าร่างกฎหมายใหม่มีเจตนาเพื่อนำเงินในคลังหลวงไป “ลงทุน – ในนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการเงินในยุคโลกาภิวัตน์” ไม่ใช่เพื่อนำไป “ใช้หนี้โดยตรง” เหมือน 2 ครั้งก่อน

ซึ่ง – แม้จะอ้างว่าเป็นเจตนาดี – แต่อย่าไปหลงทางเห็นด้วยโดยไม่มีเงื่อนไขได้
เพราะกฎหมายเดิมตามมาตรา 34/3 ว่าหนักแล้วที่ให้อำนาจแบงก์ชาติกว้างขวางเหมือนเรา “เซ็นเช็คเปล่า” ให้

แต่กฎหมายใหม่ที่จะเพิ่มเติมกลับหนักกว่า เพราะเปิดโอกาสให้ “ต่างชาติ” สมามารถเข้ามารู้ขี้รู้ไส้ “คลังหลวง” ของเราได้ ในนามของการรับจ้างเข้ามาบริหารจัดการ!

ประเด็นนี้ถ้าพูดจา “ภาษาพันธมิตรฯ” ก็ถือว่าเข้าข่าย “ขายชาติ” เช่นกัน!!

สินทรัพย์ในคลังหลวงนั้น สมควรเข้าใจว่า เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ บุรพกษัตริย์ของสยามประเทศทรงมีพระมหากรุณาธิคุณจะมอบไว้ให้ชั่วลูกชั่วหลาน

โดยเมื่อปี 2452 (ร.ศ. 127) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเงินจากท้องพระคลัง จำนวน 12 ล้านบาท มาตั้งเป็นทุนสำรองสำหรับรักษาอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินตราสยามกับเงินตราต่างประเทศให้มั่นคง ไม่ให้ปะปนกับเงินในท้องพระคลัง เนื่องจากให้เป็นหลักประกันในการหนุนค่าเงินบาท และค้ำประกันชาติไทย จึงไม่เคยมีการนำออกมาทำธุรกรรมอื่นใดทั้งสิ้น สินทรัพย์ในคลังหลวงจึงเพิ่มพูนขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน

พระราชบัญญัติเงินตราที่ตราขึ้นมาตั้งแต่ปี 2501 จึงวางหลักการสำคัญดั่งนี้ไว้
คือ - “ห้ามจ่ายออก” – ตามมาตรา 29 กฎหมายฉบับปัจจุบัน
ถ้ามีเหตุจำเป็นหลีกเลี่ยงมิได้จริงๆ ที่จะต้อง “จ่ายออก” ก็ต้องออกกฎหมายเป็นคราวๆ ไป
ซึ่งก็จะตรวจสอบได้โดยสภา โดยมีรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบทางการเมือง


นอกจากนี้ สินทรัพย์ใน “คลังหลวง” ส่วนหนึ่งได้มาจากการบริจาคในโครงการผ้าป่าช่วยชาติหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ค่าเงินบาทในปี 2540 ซึ่งนำโดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโณ อย่างที่ทราบกันดี

ตัวเลขกลมๆ คือ ดอลลาร์สหรัฐจำนวนเกือบ 6 ล้านดอลลาร์ และทองคำ 356 แท่ง น้ำหนักรวมประมาณเกือบ 5,000 กิโลกรัม

สำหรับคนไทยทุกคน -- “คลังหลวง” จึงเป็นสินทรัพย์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์
หนึ่ง – เป็นสมบัติที่ได้รับพระราชทานทุนประเดิมจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บุรพกษัตริยาธิราช

สอง – อีกส่วนหนึ่งยังได้รับมอบจากพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาและประชาชน ในยามวิกฤตเศรษฐกิจอันเกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของ ธปท. ที่เข้าไปเล่นใน “นวัตกรรมทางการเงิน” ยุคโลกาภิวัตน์จนพ่ายแพ้ย่อยยับ

เงินใน “คลังหลวง” ไม่ได้มีเอาไว้เพื่อให้เอาไปลงทุน หรือเก็งกำไร ในการแสวงหาผลประโยชน์ในรูปต่างๆ แล้วอ้างง่ายๆ ว่าเพื่อให้ทันโลกยุคโลกาภิวัตน์ ทันนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ

ประเด็นสำคัญที่ไม่พูดไม่ได้คือ แบงก์ชาติคู่ควรกับการได้รับ “ใบโอนลอย” มีอำนาจกว้างขวางในการ “บริหารจัดการสินทรัพย์ในบัญชีทุนสำรองเงินตรา บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และบัญชีสำรองพิเศษ” ตามร่างกฎหมายใหม่ที่เตรียมกันเอาไว้หรือไม่ ?

ร่างกฎหมายใหม่เพิ่มขอบเขตอำนาจให้อย่างกว้างขวาง แต่ไม่ได้บัญญัติโทษไว้ด้วยในกรณีทำผิดพลาด !

ก่อนหน้านี้ ดร.วีระพงษ์ รามางกูรเคยคัดค้านร่างกฎหมายใหม่ที่ว่านี้ไว้อย่างมีน้ำหนัก
แต่วันนั้นอาจจะไม่เหมือนวันนี้หรือไม่? เพราะวันนี้ ท่านเปลี่ยนสถานภาพจากคนวิจารณ์ข้างนอกเข้ามานั่งใน “วงในการบริหารเศรษฐกิจภาครัฐ” เสียเอง คนที่จะเข้าไปเป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายใหม่ อาจจะเป็นพรรคพวกของรัฐบาลพรรคพวกของท่านโดยตรง??

ผมไม่ทราบและไม่ขอด่วนตัดสิน แต่ก็มีสิทธิที่จะตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน
วันนี้ ถือว่านำข้อมูลเก่ามาให้ท่านผู้อ่าน “เตรียมตัว” ขณะ “จับตา” ไว้ก่อนก็แล้วกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น