xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เล็งคุมผู้บริหารแบงก์สกัดนอมินี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติเผยกรรมการแบงก์ทำผิด พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่เกือบ 10 ราย เล็งเพิ่มข้อห้ามครอบคลุมผู้บริหารธนาคาร ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้เอ็นพีแอลระบุแบงก์ควรบริหารจัดการเอง หลังพบแบงก์ขนาดใหญ่ใช้วิธีนี้ลดยอดหนี้ได้ผล

นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า ธปท.ให้ความสำคัญประเด็นที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถปล่อยกู้แก่คู่สมรสและบุตรไม่บรรลุนิติของกรรมการธนาคาร และบริษัทที่กรรมการธนาคารไปถือหุ้นเกิน 30% โดยจะเพิ่มเติมรายละเอียดประเด็นดังกล่าวคือจะให้ครอบคลุม "ผู้บริหารธนาคาร" ด้วย และจาการตรวจสอบพบว่า ขณะนี้มีกรรมการสถาบันการเงินที่ไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทที่อื่นประมาณ 10 คน
"บุคคลที่เข้าข่ายดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% จากทั้งระบบที่มีธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ 14 แห่ง และอีก 3 แห่งเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินประกาศใช้สถาบันการเงินหลายแห่งก็มีการปรับตัวเองทันที และขณะนี้หากกรรมการหรือผู้บริหารรายใดของสถาบันการเงินเข้าไปถือหุ้นเกิน 20%ของบริษัทต่างๆ เริ่มเข้าไปตรวจสอบแล้วว่าจะเข้าข่ายควบคุมกิจการบริษัทนั้นๆ หรือไม่"
สำหรับ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินเริ่มมีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งใช้ระยะเวลาในการร่างกว่า 10 ปี ถือว่ามีเนื้อหากฎหมายในการกำกับดูแลสถาบันการเงินมากที่สุดเมื่อเทียบกับในช่วงอดีต และเพื่อลดปัญหาช่วงรอยต่อระหว่างกฎหมายเก่ากับกฎหมายใหม่ จึงได้ทำการยกเลิกกฎเกณฑ์เดิมทั้งหมดและตั้งเป็นกฎหมายใหม่ขึ้นแทน แต่เนื้อหาสาระประมาณ 90%ยังคงเดิม ส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงบ้างไม่ได้ปรับในกฎหมายฉบับนี้มากนัก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นกฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในช่วงเดือนม.ค.ปี 52
โดยเนื้อหาสาระที่สำคัญจะให้สถาบันการเงินและบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์)เข้าไปดูแลลูกค้ามากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ลูกค้าสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ตัดสินใจได้ทั้งด้านอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมให้มีความโปร่งใส รวมถึงมีการนำอัตรารายปีของแต่ละแห่งมาเปรียบเทียบได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการคุ้มครองผู้ค้ำประกันมากขึ้น เพื่อให้เกิดความยุติธรรม กล่าวคือ ผู้ค้ำประกันต้องมีเพดานในการกู้ยืมเงินที่ชัดเจน และเมื่อใดที่ลูกหนี้มีการเจรจาเงินต้นกับสถาบันการเงิน แต่มีอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก็ไม่ต้องชำระหนี้แทน เป็นต้น

**แนะแบงก์บริหารหนี้เอง**
นายเกริก กล่าวว่า ในส่วนของการแก้ไขปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของธนาคารพาณิชย์ไทย แม้ขณะนี้ปริมาณหนี้เอ็นพีแอลมีเยอะ แต่ธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ความเสียหายเหล่านั้นเกิดการรับรู้รายจ่ายแล้ว อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ควรดูแลหนี้ดังกล่าวด้วยตัวเองดีกว่า เมื่อเทียบกับการใช้วิธีอื่นในการบริหารจัดการทั้งการโอนให้บริษัทลูกที่เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์(AMC) มาบริหาร หรือแบ่งให้คนอื่นดูแลอย่างในปี 41-43 แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าจำนวนเอ็นพีแอลไม่ได้ลดลงเลย
“ที่ผ่านมาส่วนใหญ่แบงก์ที่มีการเก็บหนี้เอ็นพีแอลมาบริหารจัดการเองก็มีหนี้ลดลงตลอด โดยเฉพาะแบงก์เอกชนบางแห่งที่แม้จะมีหนี้สูง แต่ก็มีการลดลงมาเยอะเมื่อมีการบริหารเอง ดังนั้น หนี้เอ็นพีแอลเหมือนกับการทานอาหารเป็นพิษ หากท้องยังปวดอยู่แบงก์ก็ต้องเป็นคนดูแลเอง เพื่อลดอาการปวดเหล่านั้นทิ้งไป”.
กำลังโหลดความคิดเห็น