บลจ.พ้องเสียงกองพันธบัตรเกาหลีใกล้หมดเสน่ห์ “กสิกรไทย”ชิงจังหวะออกเพิ่มอีก 1 กองชูผลตอบแทน 4.3% ก่อนเตรียมหาของเล่นใหม่รองรับนักลงทุนช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ด้านไอเอ็นจี-บัวหลวงขยับ เล็งรีเทินร์ตั้งกอง ECP เพิ่มช่องทางให้นักลงทุน
นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส ฝ่ายจัดการกองทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การออกกองทุนพันธบัตรเกาหลีของบริษัทในขณะนี้นับเป็นกองที่ 23 ซึ่งกองทุนพันธบัตรเกาหลี 1 ปี ดับเบิ้ลยู K Korean Government Bond (KKG1YW) จะเปิดขายระหว่างวันที่ 1-7 สิงหาคมนี้
ทั้งนี้ ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจะอยู่ที่ประมาณ 4.3% หลังหักค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ โดยมีมูลค่าโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท ทำให้ยอดเงินลงทุนรวมในกองทุนพันธบัตรเกาหลีของบลจ.กสิกรไทยจำนวน 19 กองทุนมีมูลค่ารวมประมาณ 48,255.22 ล้านบาท
“การออกกองทุนนี้ส่วนหนึ่ง เพราะยังพอมีดีมานต์ลูกค้าเหลืออยู่บ้าง แม้ส่วนใหญ่จะมีการลงทุนไปแล้วก็ตาม แต่ที่ผ่านมาการเปิดขายกองทุนนี้ของบริษัทยังทำได้ดีอยู่”นายชัชชัยกล่าว
นายชัชชัย กล่าวอีกว่า แนวโน้มการลงทุนในพันธบัตรเกาหลีเชื่อว่ายังเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการลงทุน แต่ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ทางบริษัทอาจจะต้องพิจารณากองทุนในลักษณะอื่นเข้ามาทดแทนกองทุนประเภทนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ สาเหตุที่กองทุนพันธบัตรเกาหลีอาจมีความน่าสนใจลดลง จะมาจากปัจจัยหลักๆ อยู่ 4 ประการคือ 1) การที่นักลงทุนส่วนใหญ่มีการลงทุนในกองทุนประเภทนี้ไปจำนวนมากแล้ว จึงมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะลงทุนเพิ่มเติมอีก
ส่วนสาเหตุที่ 2 คือ ผลตอบแทนของพันธบัตรเกาหลีขณะนี้ มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากการที่ รัฐบาลประเทศเกาหลีใต้ผ่อนผันเกณฑ์การกู้ยืมเงินดอลลาร์จากต่างประเทศให้กับเอกชน ส่งผลให้ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงด้านค่าเงินสูงขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนที่ได้ลดลงในปัจจุบัน
“ต้นทุนสวอปที่ผ่านมามันถูกมาก แต่เมื่อรัฐบาลเขาให้กู้เงินต่างประเทศได้ง่ายขึ้น และเอกชนเองก็ต้องการดอลลาร์ ซึ่งเราก็เหมือนอยู่ฝั่งตรงกันข้าม ตรงนี้จึงส่งผลต่อกองทุนเช่นกัน”นายชัชชัยกล่าว
นอกจากนี้ การที่ผลตอบแทนของพันธบัตรภายในประเทศอายุ 1 ปีมีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้นักลงทุนมองว่าการลงทุนในต่างประเทศมีความเสี่ยงมากกว่า หากผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกัน ซึ่งขณะนี้ส่วนต่างๆ จากอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ประมาณ 0.7-0.8% เท่านั้น
สำหรับปัจจัยสุดท้ายที่จะส่งผลให้กองทุนพันธบัตรเกาหลีมีความน่าสนใจลดลงคือ การระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนบางส่วนที่รับความเสี่ยงได้น้อยหันมาฝากเงินกับธนาคารมากขึ้นหลังจากนี้
ส่วนแนวโน้มการลงทุนใน ตราสารหนี้ทวีปยุโรป หรือ ECP ขณะนี้ นายชัชชัย กล่าวว่า ผลตอบแทนที่ได้จะยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการเข้าไปลงทุนจะต้องดูในส่วนของความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้เป็นหลัก นอกจากนี้บริษัทยังมีความกังวลในปัญหาซับไพรม์ที่คาดว่าจะยังส่งผลกระทบอีกระลอกในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้จะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง
ด้าน นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้ว่าช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีใต้จะประกาศคงอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25 บาท แต่ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของประเทศเกาหลีใต้ยังมีระดับที่สูงกว่าของประเทศไทย ทำให้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ยังคงมีความน่าสนใจอยู่ ส่วนผลตอบแทนของพันธบัตรของไทยนั้นแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ปัจจุบันก็อ่อนตัวลงมาบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้บลจ.จะพยายามหาช่องทางการลงทุนอื่นๆเพิ่มเติม รวมไปถึงการพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงินในทวีปยุโรป (ECP) และอาจมีการผสมผสานช่องทางการลงทุนระหว่างพันธบัตรของรัฐบาลเกาหลีใต้และ ECP ไว้ด้วยอีกด้วย
ขณะที่ นายวศิน วัฒนวรกิจกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า ภายหลังจากที่ประเทศเกาหลีมีนโยบายให้บริษัทภายในประเทศสามารถกู้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มาใช้ได้นั้น ส่งผลให้ต้นทุนการทำสวอปสูงขึ้น อีกทั้งการแปลงค่าเงินให้เป็นเงินบาทไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ บวกกับความผันผวนที่เกิดขึ้นยังมีอยู่ สำหรับในช่วงนี้บริษัทเล็งเห็นว่าการเข้าไปลงทุนในตราสารระยะสั้นที่ออกโดยสถาบันการเงินหรือธนาคารต่างประเทศ (ECP)ที่สามารถให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า