xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายผู้ป่วยฯ ลั่นประเดิมใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 23 ส.ค.นี้แน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายผู้ป่วยฯ ลั่นประเดิมใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 23 ส.ค.นี้แน่ จวก แพทยสภา-กรมสนับสนุนฯ-กองประกอบโรคศิลปะ หากเป็นที่พึ่งของ ปชช.ไม่ต้องมีกฎหมายใหม่ ด้านแพทยสภาส่งจดหมายเปิดผนึกถึง รมช.สาธารณสุข ขอให้กฤษฎีกาตีความห่วงฟ้องร้องแพทย์สูงขึ้นอีก

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์ กล่าวว่า เครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายฯ จะร่วมหารือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณา ว่า มีผู้บริโภคด้านสาธารณสุข รวมถึงผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบในด้านต่างๆ พร้อมที่จะไปฟ้องร้องเป็นกรณีตัวอย่างในวันที่ 23 ส.ค.ซึ่งเป็นวันแรกที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้

“ขณะนี้มีผู้ร้องเรียนมากมายหลายร้อยราย ที่มาขอความช่วยเหลือจากเครือข่าย ดังนั้น เมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ คงจะทยอยให้เคสเหล่านี้เข้าสู่ระบบกระบวนการยุติธรรม ขณะเดียวกัน ก็จะทำหน้าที่แบ่งเบาการทำงานของศาลในการจัดลำดับเหตุการณ์ ข้อมูลของผู้ป่วยทั้งหมดเท่าที่มี เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคดีของศาล แต่ยังบอกไม่ได้ว่าในวันที่ 23 ส.ค.จะมีผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายกี่รายที่จะไปร้องตามกฎหมายใหม่” นางปรียนันท์ กล่าว

นางปรียนันท์ กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวเปรียบเสมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่มืดมิดของผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมา กลไกในการเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ป่วยที่พิกลพิการมาโดยตลอด จึงถือเป็นการมาเติมเต็มสิทธิของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นภาระการพิสูจน์ถูกผิดจะไม่ตกเป็นของผู้เสียหายอีกแล้ว ค่าธรรมเนียมศาลก็ไม่ต้องเสีย ทนายความก็ไม่ต้องหา ฯลฯ ทำให้การเข้าถึงสิทธิของผู้เสียหายเป็นไปได้ยาก

นางปรียนันท์ กล่าวอีกว่า การฟ้องร้องจะมีมากขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากการฟ้องร้องสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้นอีกทั้งความเป็นจริง คือ คดี ความเสียหายต่างๆ มีเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่การเข้าถึงสิทธิของผู้เสียหายทำได้ยาก มีการซุกซ่อนเรื่องราวเพื่อไม่ให้เกิดเป็นคดีความ นอกจากนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลายไม่ควรตื่นตระหนกกับเรื่องเหล่านี้ ควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาสนำความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน มาสร้างเป็นองค์ความรู้ เพื่อนำสู่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด แทนการปิดบังซุกซ่อนอย่างที่เป็นอยู่

“แพทยสภา กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพที่ดูแลสถานพยาบาลเอกชน และ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลสถานพยาบาลภาครัฐในสังกัด ถ้าทั้ง 3 หน่วยงานนี้ทำตัวเป็นที่พึ่งของประชาชนผู้เสียหาย คงไม่ต้องมีกฎหมายใหม่ๆ ขึ้นมาเช่นนี้ และจะให้ประชาชนอยู่อย่างไร อะไรไม่ดีก็โวย อะไรดีเป็นผลประโยชน์กับพวกก็ดีใจ ต้องถามกลับไปว่าแล้วชีวิตของคนไข้ที่ตายจะรับผิดชอบอย่างไร ส่วนที่แพทยสภาเรียกร้องให้ตีความว่าสถานพยาบาลเอกชนเข้าข่ายในกฎหมายนี้หรือไม่นั้น แพทยสภาควรทบทวนบทบาทว่าทำหน้าที่อะไรอยู่ ทำให้วงการแพทย์เสื่อมหรือไม่ กับการที่ลุกมาเต้นกับเรื่องนี้” นางปรียนันท์ กล่าว

ขณะที่ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา อนุกรรมการพัฒนากฎหมายแพทยสภา กล่าวว่า ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรักษาการสภานายกพิเศษแพทยสภา เพื่อขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551 เนื่องจาก ฝ่ายผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ เช่นแพทยสภา แพทยสมาคม สภาพยาบาล และกลุ่มโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนของกระทรวงสาธารณสุขได้แสดงความวิตกกังวลว่า หากการพิจารณาคดีผู้รับบริการทางการแพทย์ยึดถือตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 จะก่อให้เกิดคดีฟ้องร้องทางการแพทย์มากขึ้น

“ถ้าจะใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคมาพิจารณาคดีการบริการทางการแพทย์และโรงพยาบาลรับรองว่า จะเกิดปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะความลังเลในการตัดสินใจรักษาผู้ป่วยหนัก เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ป่วยจะตายทั้งๆที่แพทย์ได้รักษาอย่างสุดความสามารถแล้ว เพราะแพทย์ไม่กล้าเสี่ยงที่จะรักษาผู้ป่วย เนื่องจากกลัวว่าผู้ป่วยจะตายในมืออันจะนำไปสู่ความเสียหายแก่ประชาชนและแพทย์ทั่วไป” พญ.เชิดชู กล่าว

พญ.เชิดชู กล่าวด้วยว่า รมช.สาธารณสุข ควรพิจารณาทำคำขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ถ้า พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 รวมเอาคดีฟ้องร้องในการรับบริการทางการแพทย์ด้วย ก็ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคให้เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยแก่ประชาชนทั่วไปที่จะได้รับการรักษาโดยผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความมั่นใจว่าจะไม่ถูกฟ้องร้องและได้รับการพิจารณาคดีโดยไม่เป็นธรรม

กำลังโหลดความคิดเห็น