สธ.คุมเข้ม! วางมาตรการกำหนดให้มีการจดแจ้ง และตรวจสอบการนำเข้าวัตถุดิบที่มีการนำมาใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง โดยเฉพาะสารห้ามใช้ เช่น ไฮโดรควิโนน ปรอทแอมโมเนีย กรดวิตามินเอ
วันที่ 21 ก.ค.นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สธ.ได้เร่งนโยบายเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้-เครื่องสำอาง ด้วยการออกกฎหมายใหม่ กำหนดให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทุกชนิดเป็นเครื่องสำอางควบคุม ทำให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องมาแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ก่อนผลิตหรือนำเข้า ซึ่งปัจจุบัน อย.ได้ตรวจพบเครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้จำนวนมาก และได้มีการประกาศรายชื่อเครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้ให้สาธารณชนทราบไปแล้วประมาณ 250 รายชื่อ
“เมื่อกฎหมายใหม่นี้ใช้บังคับ ซึ่งคาดว่า ในราวเดือนหน้า อย.ก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องสำอางทุกชนิดที่วางขายในประเทศไทย เพื่อติดตามกำกับดูแลได้อย่างครอบคลุม ครบถ้วนและทั่วถึง โดยเฉพาะเครื่องสำอางทาสิว ทาฝ้า ทำให้หน้าขาว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบการลักลอบผสมสารห้ามใช้บ่อยๆ พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้สามารถติดตามตรวจสอบได้อย่างใกล้ชิด และดำเนินการกับผู้กระทำความผิดได้ทันเหตุการณ์ ทั้งนี้ กฎหมายใหม่นี้จะสอดคล้องกับข้อตกลงที่ประเทศไทยจะปรับกฎระเบียบด้านเครื่องสำอางให้สอดคล้องกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (AGREEMENT ON THE ASEAN HARMONIZED COSMETIC REGULATORY SCHEME) ด้วย”รมช.สาธารณสุข กล่าว
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง กระทรวงสาธารณสุขจะได้มีมาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ด้วยการกวดขันการนำเข้าสารเคมีที่ลักลอบผสมในเครื่องสำอาง ได้แก่ สารประกอบของปรอท เช่น ปรอทแอมโมเนีย ปรอทคลอไรด์ ปรอทออกไซด์ ไฮโดรควิโนน และกรดเรทิโนอิก หรือกรดวิตามินเอ โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) และกระทรวงอุตสาหกรรม (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) เพื่อรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการที่ใช้สารเคมีเหล่านี้ และวางมาตรการตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้มีโอกาสที่จะนำมาลักลอบผสมในเครื่องสำอาง เนื่องจากสารเคมีเหล่านี้อาจมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ด้วย
นพ.ชาตรี บานชื่น เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเสริมว่า เนื่องจากสารเคมีที่ลักลอบผสมในเครื่องสำอางส่วนหนึ่งยังมีประโยชน์ที่ใช้ในทางยา เช่น ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ ดังนั้น สารเหล่านี้ที่มีการนำเข้าในลักษณะเป็นวัตถุดิบ จะเข้าข่ายเป็นเภสัชเคมีภัณฑ์ ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องได้รับอนุญาตจาก อย.ก่อน และจะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง เช่น ขายวัตถุดิบนั้นให้แก่ผู้รับอนุญาตผลิตยา นำเข้าได้เฉพาะด่านที่กำหนด จัดทำบัญชีและรายงานเกี่ยวกับการนำเข้า และการขายแต่ละครั้ง
นอกจากนี้ อย.จะได้ร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อให้การติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังเครื่องสำอางเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การคุมเข้มสารเคมีที่เป็นปัญหา การทลายแหล่งผลิตเครื่องสำอางอันตราย จัดทำฐานข้อมูลเครื่องสำอางที่วางขายในประเทศไทยให้ครบถ้วน รวมทั้งให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อ และใช้เครื่องสำอางอย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สำหรับบทกำหนดโทษผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย และผู้ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยจะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วันที่ 21 ก.ค.นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สธ.ได้เร่งนโยบายเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้-เครื่องสำอาง ด้วยการออกกฎหมายใหม่ กำหนดให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทุกชนิดเป็นเครื่องสำอางควบคุม ทำให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องมาแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ก่อนผลิตหรือนำเข้า ซึ่งปัจจุบัน อย.ได้ตรวจพบเครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้จำนวนมาก และได้มีการประกาศรายชื่อเครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้ให้สาธารณชนทราบไปแล้วประมาณ 250 รายชื่อ
“เมื่อกฎหมายใหม่นี้ใช้บังคับ ซึ่งคาดว่า ในราวเดือนหน้า อย.ก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องสำอางทุกชนิดที่วางขายในประเทศไทย เพื่อติดตามกำกับดูแลได้อย่างครอบคลุม ครบถ้วนและทั่วถึง โดยเฉพาะเครื่องสำอางทาสิว ทาฝ้า ทำให้หน้าขาว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบการลักลอบผสมสารห้ามใช้บ่อยๆ พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้สามารถติดตามตรวจสอบได้อย่างใกล้ชิด และดำเนินการกับผู้กระทำความผิดได้ทันเหตุการณ์ ทั้งนี้ กฎหมายใหม่นี้จะสอดคล้องกับข้อตกลงที่ประเทศไทยจะปรับกฎระเบียบด้านเครื่องสำอางให้สอดคล้องกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (AGREEMENT ON THE ASEAN HARMONIZED COSMETIC REGULATORY SCHEME) ด้วย”รมช.สาธารณสุข กล่าว
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง กระทรวงสาธารณสุขจะได้มีมาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ด้วยการกวดขันการนำเข้าสารเคมีที่ลักลอบผสมในเครื่องสำอาง ได้แก่ สารประกอบของปรอท เช่น ปรอทแอมโมเนีย ปรอทคลอไรด์ ปรอทออกไซด์ ไฮโดรควิโนน และกรดเรทิโนอิก หรือกรดวิตามินเอ โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) และกระทรวงอุตสาหกรรม (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) เพื่อรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการที่ใช้สารเคมีเหล่านี้ และวางมาตรการตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้มีโอกาสที่จะนำมาลักลอบผสมในเครื่องสำอาง เนื่องจากสารเคมีเหล่านี้อาจมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ด้วย
นพ.ชาตรี บานชื่น เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเสริมว่า เนื่องจากสารเคมีที่ลักลอบผสมในเครื่องสำอางส่วนหนึ่งยังมีประโยชน์ที่ใช้ในทางยา เช่น ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ ดังนั้น สารเหล่านี้ที่มีการนำเข้าในลักษณะเป็นวัตถุดิบ จะเข้าข่ายเป็นเภสัชเคมีภัณฑ์ ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องได้รับอนุญาตจาก อย.ก่อน และจะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง เช่น ขายวัตถุดิบนั้นให้แก่ผู้รับอนุญาตผลิตยา นำเข้าได้เฉพาะด่านที่กำหนด จัดทำบัญชีและรายงานเกี่ยวกับการนำเข้า และการขายแต่ละครั้ง
นอกจากนี้ อย.จะได้ร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อให้การติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังเครื่องสำอางเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การคุมเข้มสารเคมีที่เป็นปัญหา การทลายแหล่งผลิตเครื่องสำอางอันตราย จัดทำฐานข้อมูลเครื่องสำอางที่วางขายในประเทศไทยให้ครบถ้วน รวมทั้งให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อ และใช้เครื่องสำอางอย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สำหรับบทกำหนดโทษผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย และผู้ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยจะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ