xs
xsm
sm
md
lg

กรมโรงงานล้อมคอกรง.เอทานอลปล่อยน้ำเสีย-ดึงท้องถิ่นจัดประชาพิจารณ์ก่อนสร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีประชุม “การป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน จากอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน” ที่โรงแรมเจริญธานีปริ๊นเซส อำเภอเมืองขอนแก่น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-กรมโรงงานอุตสาหกรรม หวั่นโรงงานเอทานอล สร้างมลพิษแก่ชุมชนรอบโรงงาน เหตุเคยเกิดปัญหาน้ำเสียโรงงานเอทานอลไหลลงสู่ไร่นาชาวบ้าน ที่ จ.ขอนแก่น วางกรอบป้องกันปัญหาในอนาคต ดึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาท จัดประชาพิจารณ์ ก่อนพิจารณาอนุญาตให้ตั้งโรงงาน

เมื่อเร็วๆนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดประชุม “การป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน จากอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน” โดยมีนายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมร่วมกับ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนชาวบ้าน ผู้ประกอบการผลิตเอทานอล ณ โรงแรมเจริญธานี ปริ๊นเซส อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

น.ส.อาระยา นันทโพธิเดช ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ขอนแก่น กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะเอทานอล เป็นพลังงานทดแทนที่แปรรูปจากวัตถุดิบการเกษตร เพื่อผสมกับเบนซิน เป็นแก๊สโซฮอล์ ใช้ในรถยนต์ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตเอทานอล มาตั้งแต่ปี 2547 ที่รัฐบาลให้การส่งเสริมการลงทุนแก่อุตสาหกรรมเอทานอล กระทั่งปัจจุบันมีโรงงานได้รับอนุญาตแล้วทั้งสิ้น 45 ราย สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบนมีโรงงานที่ได้รับอนุญาตผลิตเอทานอลทั้งหมด 7 แห่ง แต่ปัจจุบันมี 4 โรงงานที่เดินเครื่องผลิตเอทานอล และอีก 3 โรงงานอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม ผลจากการเดินเครื่องผลิตเอทานอลของโรงงานในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชน สภาพสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ไร่นาการเกษตรของชาวบ้าน โดยสรุปได้ 4 กรณี คือ กรณีแรก เกิดน้ำเสียจากโรงผลิตปุ๋ยของโรงงานขอนแก่นแอลกอฮอล์ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ได้แพร่กระจายลงสู่แหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตประปา บริเวณบ้านคำจั่น ต.บัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 สาเหตุมาจากพนังกั้นน้ำเสียที่เป็นน้ำกากส่าโรงงานผลิตปุ๋ยดังกล่าวพังทลาย ทำให้น้ำเสียไหลทะลักลงสู่พื้นที่ไร่นาและแหล่งน้ำดิบ

กรณีต่อมา น้ำเสียโรงงานไทยง้วนเอทานอล ที่ อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น ไหลลงสู่ที่นา แหล่งน้ำ และน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา บ้านถนนงาม ต.บ้านหัน อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น เพราะมี สาเหตุพายุช้างสารพัดเข้า จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2549 ทำให้ประชาชนกว่า 273 ครัวเรือน 1,338 คน ได้รับความเดือดร้อน

เหตุการณ์ครั้งที่ 3 เป็นกรณีปัญหาน้ำกากส่า ไหลลงที่นาและบ่อเลี้ยงปลาในพื้นที่บ้านทุ่งโป่ง ต.ทุ่งโป่ง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 เนื่องจากเกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำกากส่า คาดว่าเป็นน้ำทิ้งของกลุ่มโรงงานน้ำตาลขอนแก่น ที่เททิ้งไว้บนเนินไร่อ้อยของโรงงาน ไหลทะลักลงที่นาของชาวบ้านและบ่อเลี้ยงปลา

ส่วนเหตุการณ์สุดท้าย เป็นกรณีปัญหามลพิษจากน้ำกากส่าของ บริษัท เพโทรกรีน จำกัด อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ไหลลงที่นาและบ่อเลี้ยงปลาเกษตรกรในพื้นที่ ต.สมสะอาด อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เหตุเกิดเมื่อ 24 - 25 พฤษภาคม 2551 สาเหตุเนื่องจากน้ำกากส่าโรงงานรั่วจากบ่อเก็บกักน้ำเสียลงสู่พื้นที่นาข้าว บ่อเลี้ยงปลา และบ่อน้ำธรรมชาติ

ที่ผ่านมา การพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานเอทานอล ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ มาตรการต่อจากนี้ไป อบต.หรือเทศบาล ควรเข้ามามีบทบาทพิจารณาว่า โรงงานเอทานอลที่จะเข้ามาก่อตั้งในพื้นที่ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่ และจะเกิดผลดีหรือผลเสียต่อชุมชนอย่างไร ขั้นตอนการพิจารณาเบื้องต้น อาจจะให้ อบต.เป็นผู้พิจารณาว่าจะอนุญาตให้ตั้งโรงงานในพื้นที่หรือไม่ เพื่อที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะนำมาพิจารณาในการออกใบอนุญาตอีกครั้ง

“อบต.อาจจะตั้งคณะทำงานขั้นมาพิจารณา หรือทำประชาพิจารณ์กับประชาชนในพื้นที่ ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ในการอนุญาตให้ตั้งโรงงาน แต่หากนายกอบต.อนุญาตให้ตั้งโรงงานโดยไม่ฟังเสียงประชาชนหรือ อบต.ใกล้เคียง อาจถูกฟ้องร้องต่อศาลปกครอง หรืออาจถูกตรวจสอบจากผู้ตรวจการแห่นดินของรัฐสภา เรื่องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”นางสาวอาระยา กล่าวและว่า

ส่วนระดับไตรภาคี ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนอาจจะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อร่วมกันทำงาน ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของโรงงาน

ด้านนายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ ผู้ตรวจการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ผ่านมามีโรงงานหลายแห่งเข้าไปขออนุญาตตั้งโรงงาน และได้รับอนุมัติจาก อบต. แต่กลับถูกร้องเรียนจาก อบต.ใกล้เคียงว่า การก่อตั้งโรงงานอาจจะส่งผลกระทบกับพื้นที่ใกล้เคียง

การยื่นก่อสร้างโรงงานต่อไป จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก อบต.พื้นที่ ที่จะก่อตั้งโรงงานและ อบต.ใกล้เคียง และกำหนดให้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รวมทั้งห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน หากโรงงานใดนำกากส่า มาผลิตก๊าซชีวภาพจะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย ก่อนใช้ในพื้นที่การเกษตร รวมถึงกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตห้ามนำของเสียออกนอกโรงงาน

น.ส.อาระยา นันทโพธิเดช ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ขอนแก่น

นายอดิศักดิ์  ทองไข่มุกต์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น