xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหวั่น เอฟทีเอกระทบการเข้าถึงยาของ ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขทั่วเอเชีย-แปซิฟิก ห่วงใย ผลกระทบจากเอฟทีเอต่อการเข้าถึงยา

กลุ่มเฮลธ์ แอคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ร่วมกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ, โครงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาฯ มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และกลุ่มศึกษาปัญหายา ได้จัดการพบปะหารือในระดับภูมิภาคเรื่องการเจรจาการค้าเสรีระดับทวิภาคี (เอฟทีเอ) และผลกระทบต่อการเข้าถึงยา ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคกว่า 80 คน โดยมีประธานร่วมในพิธีเปิด ได้แก่ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข

ดร.อามิด เซน กุ๊บตา จากคณะกรรมการรณรงค์แห่งชาติว่าด้วยนโยบายด้านยา จากประเทศอินเดีย ระบุว่า ข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคี หรือ เอฟทีเอ ไม่ได้ช่วยส่งเสริมการลงทุนในประเทศคู่สัญญาตามคำโฆษณาชวนเชื่อ แต่ในทางกลับกัน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างมากมาย โดยเฉพาะสาธาณสุขในประเทศ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับประเทศจอร์แดน ที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ พบว่า ตั้งแต่ปี 2544 ยาที่ขายในประเทศร้อยละ 79 ไม่มียาชื่อสามัญเป็นคู่แข่งทำให้สามารถกำหนดราคาขายสูงเท่าไรก็ได้ และนับตั้งแต่เอฟทีเอ สหรัฐฯ-จอร์แดน มีผลบังคับใช้ แทบไม่มีการลงทุนผลิตยาในจอร์แดนเลย

ด้าน ดร.นุสราพร เกษสมบูรณ์ จากกลุ่มศึกษาปัญหายา ได้แสดงตัวเลขจากงานวิจัย 2 ชิ้น ที่ชี้ให้เห็นตรงกันว่า หากประเทศไทยรับข้อเรียกร้องด้านสิทธิบัตรของสหรัฐฯที่ยื่นมาในการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ รอบที่ 6 ที่เชียงใหม่ จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 คิดเป็นเงิน 799,887 ล้านบาท และจะทำให้อุตสาหกรรมยาในประเทศหดตัวมากถึง 305,129 ล้านบาท

“ในการเจรจาเอฟทีเอ รัฐบาลต้องตระหนักว่า การเข้าถึงยาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ดังนั้น การเพิ่มความเข้มงวดในทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าข้อตกลงในองค์การการค้าโลกเป็นเรื่องที่รับไม่ได้เลย ฉะนั้น ข้อเรียกร้องที่ประเทศคู่เจรจายื่นมาจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ มีการหารือกับทุกภาคส่วนอย่างโปร่งใส และต้องมีการทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกับภาคประชาสังคม” ดร.นุสราพร กล่าว และว่า ทั้งนี้ การประชุมเพื่อพบปะหารือในระดับภูมิภาคเรื่องการเจรจาการค้าเสรีระดับทวิภาคี (เอฟทีเอ) และผลกระทบต่อการเข้าถึงยาครั้งนี้จะมีไปจนถึงวันพุธที่ 27 สิงหาคมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น