xs
xsm
sm
md
lg

“สถาบันอาหาร” ร้องรัฐฯ เร่งดัน พ.ร.บ. อาหารฉบับใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันอาหาร เผย พ.ร.บ.อาหารไทยไม่สอดรับสถานการร์ปัจจุบัน หลังใช้มานานกว่า 29 ปี ส่งผลสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศล้นทะลัก ในขณะที่อาหารไทยถูกปฏิเสธการนำเข้า รวมถึงไม่มีการแจ้งเตือนโรคระบาดที่มากับอาหาร พร้อมร้องรัฐฯ เร่งบังคับใช้ พ.ร.บ.อาหารปี 51 เน้นเข้มงวดกับผู้ผลิตสินค้าประเภทอาหารมากขึ้น

ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการควบคุมดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศไทย ซึ่งถูกใช้มานานกว่า 29 ปี โดยยังไม่เคยมีการปรับปรุงหรือแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขการค้าภายใต้กรอบข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) หรือข้อตกลงในระดับพหุภาคี/ทวิภาคี (FTA) ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทยในอนาคต ขณะเดียวกันพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลง การเรียกร้องสิทธิ การคุ้มครองของผู้บริโภค การเกิดขึ้นของอาหารชนิดใหม่ๆ ภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย และโรคระบาดต่างๆ ก็กลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายมองว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่เอื้อต่อการควบคุมและคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคทั้งภายใน และภายนอกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
“ปัญหาการทะลักเข้ามาของสินค้าอาหารด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ ซึ่งไม่ผ่านการตรวจสอบ การไม่มีระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดการระบาดของโรคติดต่อที่มากับอาหารจนทำให้มีผู้บริโภคเสียชีวิต การโฆษณาอาหารที่ไม่ถูกต้องหรือกล่าวอ้างเกินจริงจนทำให้เกิดการบริโภคที่ไม่ปลอดภัย และสินค้าอาหารส่งออกบางชนิดของไทยถูกปฏิเสธการนำเข้าเนื่องจากไม่ปลอดภัยในการบริโภค ฯลฯ สาเหตุของปัญหาเกือบทั้งหมดเกิดจากการที่กฎหมายไม่ได้มีบทบัญญัติไว้ เพื่อเป็นช่องทางดำเนินงานที่ชัดเจนแก่ผู้ผลิต การคุ้มครองผู้บริโภคหรือแม้แต่การให้อำนาจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติหรือบังคับใช้กฎหมายได้” ผอ. สถาบันอาหาร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมา เพื่อกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลความปลอดภัยด้านอาหาร คุณภาพอาหาร และความมั่นคงทางอาหารที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ รวมถึงอาหารที่นำเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศ จึงทำให้ อย.ต้องปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.อาหารใหม่อีกครั้งให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนที่จะนำเสนอ ครม. ซึ่งหากว่าการพิจารณาพ.ร.บ.อาหารต้องล่าช้าออกไปอีก จะไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะในแง่ของการแข่งขันทางด้านการค้าระหว่างประเทศ เพราะจะทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศที่มีการจัดการปัญหาอย่างทันท่วงที
กำลังโหลดความคิดเห็น